มะม่วง
Mango

        

               ปี พ.ศ.๒๕๐๖ ศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา เสถียรสวัสดิ์ หัวหน้าสถานีฝึกนิสิตเกษตรปากช่อง เริ่มทำการทดลองมะม่วง (Mangifera indica L.) ซึ่งแปลงเดิมเป็นแปลงส้ม ได้รื้อทิ้งและทำเป็นแปลงมะม่วงรวมพันธุ์ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากคุณวิชาญ สิทธิผล สถานีบางกอกน้อย
กรมเกษตร ช่วยรวบรวมพันธุ์มะม่วงทั่วประเทศให้
               ปี พ.ศ.๒๕๒๒ รองศาสตราจารย์ฉลองชัย แบบประเสริฐ หัวหน้าสถานีวิจัยปากช่องและ
นายสมเกียรติ จันทร์กระจ่าง นักวิชาการเกษตร สถานีวิจัยปากช่อง ได้ทำการศึกษาพันธุ์มะม่วงพันธุ์ไทยต่อกิ่งบนต้นตอมะม่วงพันธุ์ต่างประเทศ
               ปี พ.ศ.๒๕๒๖ ข้าพเจ้าเข้ามารับราชการที่สถานีวิจัยปากช่อง ซึ่งขณะนั้นรองศาสตราจารย์ฉลองชัย แบบประเสริฐ เป็นหัวหน้าสถานีวิจัยปากช่อง ข้าพเจ้าได้ร่วมทำงานวิจัยเรื่องการใช้สารแพคโคลบิวทราโซลกับมะม่วงจนประสบผลสำเร็จและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะม่วงนอกฤดู การปฏิบัติดูแลรักษา เช่น การตัดแต่งกิ่ง, การใส่ปุ๋ย, การปฏิบัติในการเก็บเกี่ยวผลผลิต และ
การขยายพันธุ์ไม้ผลแบบไม่ใช้เพศให้แก่เกษตรกรและประชาชนผู้สนใจทั่วไป
               ปี พ.ศ.๒๕๒๖ – ๒๕๓๐ ชมรมผู้พัฒนามะม่วงแห่งประเทศไทย นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด คติการ รองศาสตราจารย์วิจิตร วังในและอาจารย์สนั่น ขำเลิศ จัดอบรมการปฏิบัติดูแลรักษามะม่วง ที่สถานีวิจัยปากช่อง ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – เดือนธันวาคมของทุกปี ๆ ละ ๒ – ๓ รุ่นๆ ละ ๖๐-๗๐ คน โดยรับสมัครจากเกษตรกรทั่วประเทศที่มีความสนใจในการทำสวนมะม่วง ฝึกอบรมในช่วงวันศุกร์-วันอาทิตย์
               ปี พ.ศ.๒๕๒๖ – ๒๕๓๒ กรป.กลาง กองบังคับการทหารพัฒนา กองบัญชาการทหารสูงสุด นำนายทหารชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนจำนวน ๔ เหล่าทัพ จัดฝึกอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เรื่องการขยายพันธุ์พืชไม้ผล ปีละ ๒ – ๓ รุ่น ๆ ละ ๔๐ – ๕๐ คน ที่สถานีวิจัยปากช่อง
               ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ – ๒๕๓๗ ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จัดฝึกอบรมโครงการโรงเรียนบุตรเกษตรกร หลักสูตร “การทำสวนมะม่วง” แก่บุตรเกษตรกรและผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน ๖ รุ่นๆ ละ ๕๐ – ๖๐ คน และหลักสูตรการขยายพันธุ์มะม่วงจำนวน ๑ รุ่นๆ ละ ๕๐-๖๐ คน โดยฝึกอบรมที่สถานีวิจัยปากช่อง จำนวน ๔ วัน
               ปี พ.ศ.๒๕๒๘ – ๒๕๔๒ กองสวนสาธารณะ สำนักสวัสดิการ กรุงเทพมหานคร
จัดอบรมผู้สนใจวิชาการปลูกและตกแต่งต้นไม้ สำหรับประชาชนทั่วไป หลักสูตรการขยายพันธุ์ไม้ผล ฝึกปฏิบัติที่สถานีวิจัยปากช่อง เป็นเวลา ๒ วัน (วันเสาร์ – อาทิตย์) จำนวน ๑๔ รุ่น ๆ ละประมาณ ๑๐๐ คน
               ปี พ.ศ.๒๕๓๒ รองศาสตราจารย์ฉลองชัย แบบประเสริฐ รักเกียรติ ชอบเกื้อ และพินิจ กรินท์ธัญญกิจ ได้ร่วมทำการวิจัยปรับปรุงพันธุ์มะม่วงเพื่อการค้า จากการศึกษาวิจัยพบว่าได้มะม่วงลูกผสมที่ดีจำนวน ๔ พันธุ์คือ พันธุ์ ๑-๑๖-๒๑ (ปาล์มเมอร์ x แก้วจุก), ๑-๑๖-๑๘ (เคียท x แก้ว), ๓-๑-๓๑ (ทอมมี่ แอทกินส์ x น้ำดอกไม้) และ ๓-๑-๓๒ (ทอมมี่ แอทกินส์ x น้ำดอกไม้)
               สถานีวิจัยปากช่อง ได้รวบรวมพันธุ์มะม่วงจำนวน ๙๐ สายพันธุ์ เป็นพันธุ์ต่างประเทศ ๓๕ สายพันธุ์ พันธุ์ไทย ๕๕ สายพันธุ์ ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมพันธุกรรมมะม่วงแห่งหนึ่งของประเทศไทย เพื่อเป็นการอนุรักษ์ และเป็นแหล่งศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ของมะม่วงประเทศไทย
               ในอนาคต ควรจะมีการปรับปรุงพันธุ์มะม่วง เพื่อเป็นการค้ากับต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพการผลิตเพื่อการส่งออกได้

มะม่วงลูกผสม ปาล์มเมอร์ x แก้วจุก
มะม่วงลูกผสม เคียท x แก้ว

 

  
คณะผู้วิจัย :
รักเกียรติ  ชอบเกื้อ
หน่วยงาน :
สถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร 044-311796  โทรสาร 044-313797