อะโวคาโด
Avocado

         

            ปี พ.ศ.๒๕๐๗ ดร. อัญเชิญ ชมภูโพธิ์ หัวหน้าสถานีฝึกนิสิตเกษตรปากช่อง ได้นำพันธุ์อะโวคาโด (Persea Americana Mill.) จากมลรัฐฮาวาย จำนวน ๙ สายพันธุ์เข้ามาปลูกที่สถานีฝึกนิสิตเกษตรปากช่อง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ได้นำพันธุ์อะโวคาโดมาปลูกอีกจำนวน ๑๔ สายพันธุ์ คือพันธุ์ บูช ๗ (Booth – 7) บูช ๘ (booth – 8) แคทาลีนา (Catalina) โชเควท (choquette) ฟุค (Fuchs) ฮอลล์ (Hall)
แฮส (Hass) ลูลา (Lula) มอนโร (Monroe) เนเดียร์ (Nadir) ปีเตอร์สัน (Peterson) ซิมเมอร์ (Simmonds) เทเลอร์ (Taylor) และพันธุ์วอลดิน (Waldin)
            ปี พ.ศ.๒๕๒๖ ข้าพเจ้าเข้ามารับราชการที่สถานีวิจัยปากช่อง รองศาสตราจารย์ฉลองชัย แบบประเสริฐ หัวหน้าสถานีวิจัยปากช่อง ได้มอบหมายให้ข้าพเจ้านำต้นอะโวคาโดพันธุ์ดีและต้นตอ
อะโวคาโด ไปส่งที่สถานีเกษตรหลวงทุ่งเริง โครงการหลวง อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ส่งเสริมให้ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ สถานีเกษตรหลวงทุ่งเริงปลูก เพื่อขายผลอะโวคาโดให้กับโครงการหลวง
            ปี พ.ศ.๒๕๒๗ รองศาสตราจารย์ฉลองชัย แบบประเสริฐ หัวหน้าสถานีวิจัยปากช่อง ได้มอบหมายให้ข้าพเจ้านำต้นอะโวคาโดพันธุ์ดีและต้นตออะโวคาโด ไปส่งที่สถานีเกษตรหลวงทุ่งเริง อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้สถานีวิจัยปากช่อง ได้ผลิตต้นอะโวคาโดพันธุ์ดีจำหน่ายพันธุ์ให้แก่เกษตรกรที่สนใจและต้องการปลูกในจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ กาญจนบุรี ราชบุรี บุรีรัมย์ ขอนแก่น และอุดรธานี จากการจำหน่ายต้นพันธุ์อะโวคาโดไปปลูกในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่า อะโวคาโดสามารถปลูกได้ดีในสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
            อะโวคาโด นิยมขยายพันธุ์โดยวิธีติดตาหรือต่อกิ่ง โดยเพาะเมล็ด ๆ จะเริ่มงอกใน ๒ – ๓ สัปดาห์ หลังจากนั้น ๓ – ๔ เดือน ต้นตอสามารถนำมาติดตาหรือต่อกิ่งได้ หลังจากติดตาหรือต่อกิ่งที่ตาใหม่เจริญเต็มที่และแตกใบใหม่ ๑ – ๒ ชุด ก็สามารถย้ายปลูกในแปลงได้
            ประโยชน์ของอะโวคาโด เนื้อของผลมีแป้งและน้ำตาลน้อย ให้ค่าพลังงานต่อร่างกายสูง มีไขมันที่มีคุณค่าต่อร่างกายมนุษย์ มีวิตามินถึง ๑๑ ชนิด มีแร่ธาตุเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ๑๔ ชนิด รวมทั้งเหล็ก และทองแดง จึงจำเป็นต่อการสร้างเม็ดโลหิตแดง
            ในอนาคตควรมีการรวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์อะโวคาโด เพื่อเป็นข้อมูลการศึกษาให้แก่ผู้สนใจต่อไป
            การศึกษาวิจัยอะโวคาโดเพื่อเป็นอาหาร เนื่องจากประชากรที่เพิ่มมากขึ้น และประชาชนไม่นิยมบริโภคอะโวคาโด จำเป็นต้องศึกษาหาวิธีการที่จะให้ประชาชนมาสนใจการบริโภคอะโวคาโด และการวิจัยควรจะมีการวางแผนการวิจัยระยะยาว เพื่อให้เกิดผลดีและได้ผลคุ้มค่าแก่ประชาชน
ผู้สนใจสั่งจองพันธุ์ที่สถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ ฯ โทร 044-311796

พันธุ์ปีเตอร์สัน
พันธุ์บูช ๗

พันธุ์แฮส

 

  
คณะผู้วิจัย :
รักเกียรติ  ชอบเกื้อ
หน่วยงาน :
สถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์   มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร 044-311796  โทรสาร 044-313797