“มันสำปะหลัง” เพื่ออาหารและพลังงานทดแทนของโลก
Cassava : The plant for  alternative food and energy of the world

       
                                มันสำปะหลัง Manihot esculenta Crantz เป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเป็นอันดับที่  3  ของโลกรองจากประเทศไนจีเนียและบราซิล    นอกจากนั้นแล้วประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นอันดับหนึ่งของโลกมายาวนาน  และสร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่าปีละ 3 หมื่นกว่าล้านบาท  เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชของขวัญของเกษตรกรไทยเพราะเป็นพืชที่ปลูกง่ายมีปัญหาในการผลิตน้อย  ปรับตัวได้ดีในเกือบทุกสภาพพื้นที่ แม้ดินจะไม่ดี   ปัญหาโรคแมลงมีน้อย   หัวสดมีตลาดรองรับแน่นอน  การขุดเก็บเกี่ยวไม่ขึ้นกับฤดูกาลสามารถจะชะลอการเก็บเกี่ยวได้  ทนต่อความแห้งแล้งเมื่อเปรียบเทียบกับพืชไร่ชนิดอื่น  หลังจากปลูกไปแล้วประมาณ 1- 2 เดือนแม้จะไม่ได้รับความชื้นเลยเป็นเวลา 3-4 เดือนมันสำปะหลังยังสามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้เมื่อได้รับความชื้นจากฝนอีกครั้ง   จากการสำรวจการปลูกมันสำปะหลังประจำปี 2550/2551 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 7,302,960 ไร่ ผลผลิตต่อไร่ 3,782 ตัน ผลผลิตรวม 27,618,763 ตันเปรียบเทียบกับปี 2549/2550 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 7,201,243 ไร่ ผลผลิตต่อไร่ 3,668 ตัน ผลผลิตรวม 26,411,233 ตัน พื้นที่เก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น 1.41% ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น 3.11%และผลผลิตรวมเพิ่มขึ้น 4.57% (มูลนิธิพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย, 2550)   แต่การเพิ่มผลผลิตโดยรวมของประเทศมาจากการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้นมากกว่าเพิ่มผลผลิตต่อไร่ มันสำปะหลังจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่จะต้องมีการพัฒนาและส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสู่เกษตรกรให้สามารถปลูกให้มีผลผลิตหัวสดต่อไร่สูงขึ้นกว่าในปัจจุบันและลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรมีผลตอบแทนสูงขึ้น   ปัญหาของเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังในปัจจุบันที่สำคัญคือดินเสื่อมโทรมจะเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง  หากจะทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น  จึงจำเป็นต้องหาหนทางในการปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดินและการบำรุงรักษาดินและการดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินให้สูงอยู่สม่ำเสมออย่างยั่งยืน  จากการให้สัมภาษณ์ของนายกสมาคมกการค้ามันสำปะหลังไทยว่าในปี2550 รัฐบาลได้อนุมัติให้มีการสร้างโรงงานเอธานอลไปแล้ว 49 โรงงานกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 11ล้านลิตรต่อวันและมีความต้องการผลผลิตหัวมันสด 15 ล้านตันต่อปีแต่ในปัจจุบันนั้นโรงงานที่ใช้วัตถุดิบจากหัวมันสำปะหลังที่มีการผลิตนั้นยังไม่สามารถดำเนินการได้ ประกอบกับในสภาพยุโรปและในสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความต้องการมันเส้นมากขึ้นในปีที่ผ่านมาเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และผลิตแอลกอฮอร์จึงมีความต้องการใช้มันในปริมาณที่มาก  ดังนั้น  ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไปความต้องการผลผลิตหัวสดเพื่อให้เพียงพอกับการรองรับภาคอุตสาหกรรมอาหารและผลิตเอธานอล  แป้ง และมันเส้น  จะต้องสูงกว่า 35 ล้านตันต่อปี โอภาษ (2551)   สิ่งที่ยังคงเป็นปัญหากวนใจประชาชนชาวไทยทุกคนคงหนีไม่พ้นเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจและการขึ้นราคาของน้ำมันซึ่งส่งผลกระทบไปทุกอย่างเพราะราคาน้ำมันได้ขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ถึงกว่า 120 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้หลายประเทศทั่วโลกหันมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง  และคิดค้นพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทนความต้องการบริโภคน้ำมันของสังคมโลก  หนึ่งในนั้นก็คือ พลังงานเอทานอล (Ethanol)  หรือเราคุ้นหูกันดีในชื่อของน้ำมันแก๊สโซฮอล (Gasohol) ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างน้ำมันเบนซิน 90 % และเอทานอลอีก 10 % หรือที่เรียกว่า E 10 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มปริมาณส่วนผสมเป็น E 20 ในเครื่องยนต์ และรัฐบาลในชุดปัจจุบันกำลังผลักดันให้นำเครื่องยนต์ที่สามารถใช้แก๊สโซฮอลเป็น E 85  ซึ่งการใช้แก๊สโซฮอล E 85  เป็นการช่วยลดมลพิษในอากาศ  เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจะทำให้ลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ราคาสินค้าที่เป็นวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศจะมีราคาที่สูงขึ้น   ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบในประเทศไทย ได้นำเข้าน้ำมันดิบสูงกว่าวันละ 800 พันบาร์เรล การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป 3.8 ล้านลิตรต่อวัน    ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลอยู่ที่ระดับ 50.4 ล้านลิตรต่อวัน ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินออกเทน 95 และเบนซินออกเทน 91 อยู่ที่ระดับ 16.1 ล้านลิตรต่อวัน  (กระทรวงพลังงาน,2549) คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าหลายพันล้านบาทต่อปี   หากประเทศไทยสามารถลดการนำเข้าลงได้   เราสามารถนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาประเทศชาติในด้านต่าง ๆ ได้มากมาย  หากสามารถปลูกพืชน้ำมันและผลิตแก๊สโซฮอลและไบโอดีเซลได้มาตรฐานหรือปริมาณมากก็สามารถส่งออกและทำรายได้เข้าสู่ประเทศ   และลดการนำเข้าน้ำมันอีกทางหนึ่ง  เนื่องจากมันสำปะหลังง่ายต่อการจัดการโดยมีการแปรรูปหัวมันให้อยู่ในรูปของมันเส้น  จากที่ท่านรองศาสตราจารย์ กล้าณรงค์  ศรีรอต ได้กล่าวถึงการพัฒนางานวิจัยและประยุคต์ใช้เทคโนโลยี  Simultaneous Saccharification  and  Fermentation  (SSF)  ที่เป็นเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากข้าวโพดในต่างประเทศ  แต่นำมาปรับใช้ในมันสำปะหลังได้ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นการลดกระบวนการผลิตเอทานอลโดยรวม  โอกาสของมันสำปะหลังสำหรับอุตสาหกรรมเอธานอลจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่จะทำให้การผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังมีขั้นตอนในกระบวนการผลิตที่ใกล้เคียงกับกากน้ำตาลคงจะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อจะทำให้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเอทานอลอย่างแท้จริง

                 เป็นที่ทราบกันดีว่าวัตถุดิบในการผลิตเอธานอลส่วนใหญ่นั้นนิยมใช้ผลิตผลทางการเกษตรที่มีแป้งและน้ำตาลสูง เช่น อ้อย มันสำปะหลัง  ฯลฯ (สุริยา, 2551)   ปัจจุบันนั้นราคามันสำปะหลังนั้นลดต่ำลง  การผลิตเอทานอลจึงมีต้นทุนที่จะสามารถผลิตได้หากน้ำมันมีราคาสูงขึ้น  แต่ถึงอย่างไรแม้ในปัจจุบันราคาน้ำมันจะลดลงมามากหากแต่จะยืนราคาระดับนี้อีกนานเพียงได   เนื่องจากประเทศไทยยังเป็นผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลักหากมีการพัฒนาในเรื่องของพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่องและให้มีประสิทธิภาพโดยการผลักดันจากทางภาครัฐอย่างจริงจังโดยไม่เห็นแต่ประโยชน์ของคนบางกลุ่มที่ทำการค้าน้ำมันหรือลักลอบขนน้ำมันเถื่อนและได้ประโยชน์ต่างตอบแทนมาโดยตลอดทำให้การพัฒนาในเรื่องของเอธานอลนั้นไปไม่ได้ไกลทั้งที่มีการศึกษาเทคโนโลยีจากประเทศบราซิลมานานไม่ต่ำกว่า 50 มาแล้วแต่บ้านเรายังพึ่งใช้น้ำมันเพียงE20 ในปี 2551 แม้จะมีการสร้างโรงงานมามากขึ้นแต่ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบจากกากน้ำตาล  แม้ในปัจจุบันหากน้ำมันเบนซินมีราคาสูงกว่า 20 บาทต่อลิตรการผลิตเอธานอลก็จะเป็นการช่วยเกษตรกรให้สามารถมีทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตหัวสดได้สูงขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องรอขายให้กับโรงงานแป้งที่รับซื้อหัวมันสดไปแปรรูปเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และการส่งออกเพียงอย่างเดียว     เนื่องจากมันสำปะหลังพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ทางราชการแนะนำให้เกษตรกรซึ่งสามารถปฏิบัติร่วมกันโดยใช้พันธุ์ดี การจัดการดินดี การปฏิบัติดูแลรักษาดี  มันสำปะหลังในปัจจุบันมีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูงถึง 5 -10 ตันต่อไร่ได้ (วิจารณ์, 2546)  พื้นที่ของการปลูกมันของประเทศไทยแม้จะเพิ่มพื้นที่และมีผลผลิตหัวสดรวมเพิ่มขึ้นจากปีละประมาณ 20 ล้านตันต่อปีเป็นปีละ 25 ล้านตันต่อปี   ประกอบกับผลผลิตที่ได้เฉลี่ยทั้งประเทศเพียง 3.7 ตันต่อไร่  ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดในบางเวลาที่รัฐบาลมีเสถียรภาพ   ซึ่งในปีที่ผ่านมาความต้องการใช้แป้งจากมันสำปะหลังที่สูงมากทำให้ราคาที่เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตหัวสดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.30-2.62 บาท(ราคาหน้าป้ายโรงแป้งสงวนวงษ์  อ.เมือง จ.นครราชสีมา ที่มีกำลังการผลิตมากและใหญ่ที่สุดในเอเชีย  เมื่อวันที่ 26 มี.ค.51) เป็นราคาที่สูงเป็นประวัติศาสตร์และความต้องการของตลาดยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังประสบณ์ปัญหาเนื่องจากผลผลิตหัวสดที่ได้ยังเฉลี่ยต่อไร่นั้นต่ำ (ปี2549/50 ผลผลิตหัวสดเฉลี่ยเพียง 3.7 ตันต่อไร่) แต่ปัจจัยการผลิตมีราคาที่สูงมาก  เช่น  ค่าเช่าที่  ค่าเตรียมพื้นที่ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์  สารปรับปรุงดิน   สารเคมีคุมและกำจัดวัชพืช ค่าแรงงานในการปลูก กำจัดวัชพืชและเก็บเกี่ยวผลผลิตและการขนส่งต่างๆนั้นมีราคาที่สูงขึ้นมาก  แม้เกษตรกรจะจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่สูงในปีที่ผ่านมาแต่ยังไม่สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นในระดับ 5 - 10 ตันต่อไร่ได้  หากในปัจจุบันราคาหัวมันสดที่เกษตรกรขายได้ในปัจจุบันจะต่ำลงมาก  แต่ต้นทุนการผลิตในช่วงต้นปีนั้นมีราคาสูงมากหากเกษตรกรสามารถจัดการแปลงได้เหมาะสมตามหลักวิชาการแล้วนั้นจะช่วยให้เพิ่มผลผลิตสูงขึ้นทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากราคามากนัก เนื่องจากการขยายพื้นที่ปลูกคงเพิ่มไปไม่ได้มากนัก   ดังนั้นจะดำเนินการอย่างไรให้มีผลผลิตสูงขึ้น  มีผลตอบแทนในการลงทุนได้ย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาการใช้เทคโนโลยีต่างๆเข้ามาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรในอีกหลายพื้นที่ๆ มีการปลูกยังหล้าหลังทำให้มีต้นทุนสูง ผลผลิตต่ำ เพราะผู้เกี่ยวข้องทั้งรายใหม่และรายเก่ารวมทั้งคนส่วนใหญ่ของประเทศมากกว่า 95 %  มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องมันสำปะหลังน้อยมากๆส่วนใหญ่ทราบจากการบอกเล่าหรือลองผิดลองถูกเป็นส่วนใหญ่ทำให้การลงทุนทำมันสำปะหลังส่วนใหญ่ขาดทุนและทำไม่ยั่งยืนทั้งที่ประโยชน์จากมันสำปะหลังนั้นมีประโยชน์มากมายที่คนส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่ทราบข้อมูลที่ถูกต้องของมันสำปะหลัง  หากสนใจพืชชนิดนี้ควรปรึกษาหรือหาข้อมูลจากนักวิชาการของทางภาครัฐที่มีประสบการในเชิงวิชาการและการปฏิบัติที่ถูกหลักที่มีผลงานทางวิชาการรองรับด้วยความเป็นห่วงเกษตรกรทั้งรายใหม่และรายเก่าอย่าเกิดความโลภเหนือธรรมชาติ  หากหลงไปเชื่อนักวิชาเกินที่อ้างสรรพคุณตนเองสามารถผลิตได้ระดับ 20-30 ตันต่อไร่จากการตรวจสอบจากหน่วยงานฯที่มีงบประมาณมากเกี่ยวกับเรื่องมันสำปะหลังที่สนับสนุนงบประมาณให้นักวิชาเกินเหล่านี้มาดำเนินการจากที่ทราบข้อมูลที่ไม่สามารถเปิดเผยได้นั้นไม่มีใครทำได้ถึง 7-8 ตันต่อไร่เลยสักรายเมื่อครบกำหนดการขุดที่อายุ 12 เดือน  นอกจากนี้พื้นที่ ๆ สามารถใช้น้ำร่วมกับการจัดการในแปลงปลูกมันสำปะหลังได้เป็นอีกหนทางที่จะเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นในระดับ 10 - 15 ตันต่อไร่เป็นเรื่องใหม่ในการดำเนินการสำหรับมันที่จะนำระบบน้ำเข้ามาใช้ในแปลงผลิตมันสำปะหลังเนื่องจากการศึกษาในเรื่องการให้น้ำในบ้านเรามีน้อยมากเนื่องจากในอดีตอาจจะมองว่าไม่คุ้มการลงทุนแต่ในปัจจุบันนั้นจำเป็นที่จะต้องศึกษาเนื่องจากมีเกษตรกรที่มีแหล่งน้ำได้มีการทดลองทำบ้างในพื้นที่ไม่มากและคิดจะเริ่มทำเนื่องจากได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นชัดเจนแต่ไม่มีข้อมูลทางราชการที่จะนำไปปรับใช้ในพื้นที่นั้นๆในเรื่องของต้นทุนการผลิต การจัดการที่ถูกต้องในเรื่องการปฏิบัติดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม  จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นและมีผลกำไรมากขึ้น  หากผลการศึกษาเป็นที่น่าพอใจ ก็จะสามารถขยายผลสู่เกษตรกรในหลายพื้นที่ๆมีแหล่งน้ำ  นอกจากจะลดพื้นที่การปลูก เพิ่มผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ลดต้นทุนการผลิต  มีรายได้ต่อไร่สูงขึ้น เพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศ  การส่งออก และรองรับอุตสาหกรรมเอธานอลได้อย่างเพียงพอ


การใช้เครื่องจักรเตรียมพื้นที่ให้เหมาะสม


การใส่ปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดินอย่างสม่ำเสมอ


วิธีการปลูกแบบพื้นราบ


วิธีการปลูกแบบยกร่อง


ต้นพันธุ์ดีที่ตัดต้นใหม่และสมบูรณ์พร้อมใช้ปลูก


การตัดท่อนพันธุ์ยาวที่เหมาะสม 25-30 ซม.


กำจัดวัดพืชให้สะอาดภายในแปลงช่วง 1 เดือนพร้อมทั้งใส่ปุ๋ย


การใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมกับระยะเวลา
จะช่วยให้การเจริญเติบโตดี


การใช้สารปรับปรุงดินช่วยทำให้ดินอุ้มความชื้นได้นานท่อนพันธุ์งอกดีสม่ำเสมอ(ซ้ายใส่สารฯ)และ(ขวาไม่ใส่สารฯ)


ผลผลิตลดต่ำลงเมื่อใช้เครื่องจักร
เข้ากำจัดวัชพืชอายุ 2-3 เดือน


พื้นที่ปลูกที่มีพื้นที่ลาดเทมากทำให้เกิดความเสียหาย
จากน้ำพัดพาทำให้ต้นเสียหายรวมทั้งตะกอนดินพังทลาย
ในช่วงมันอายุ1-3 เดือนแรก


ปลูกหญ้าแฝกขวางตามแนวลาดเท
เพื่อช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ


การคัดต้นพันธุ์ดีปลูกเป็นเรื่องจำเป็น
หากปล่อยให้มีพันธุ์พื้นเมืองขึ้นปนในแปลง
จะทำให้ผลต่อผลผลิตที่ได้ต่อไร่ต่ำมาก


การจัดระยะปลูกที่เหมาะสมต้นมันสำปะหลัง
มีการเจริญเติบโตดดีส่งผลต่อผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น


โรคระบาดที่เริ่มรุนแรงส่งผลต่อผลผลิต
ทำให้ลดต่ำลงและระบาดติดต่อทางท่อนพันธุ์
ได้ควรตัดแล้วเผาต้นพันธุ์ทิ้ง


เพลี้ยแป้งเป็นแมลงชนิดใหม่ที่
เข้าระบาดสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกร
ผู้ปลูกมันมากในปัจจุบัน


จัดระยะปลูกให้เหมาะสมกับชุดดิน
และพันธุ์มันสำปะหลังจะส่งผลต่อผลผลิต
ต่อไร่ที่ได้อย่างชัดเจน


เกษตรกรรายใหม่หรือปลูกมานานควรรับเทคดนโลยี
การผลิตใหม่ๆพร้อมทั้งมีผู้ให้คำแนะนำในข้อเท็จจริง
ของการปลูกและการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง(หวังดี)
จากหน่วยงานภาครัฐที่มีประสบการณ์ใน
การผลิตจริงๆก่อนที่จะลงทุน

  
คณะผู้วิจัย :
ประภาส   ช่างเหล็ก1  สุดประสงค์ สุวรรณเลิศ1  และ สกล ฉายศรี2
หน่วยงาน :
1สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร : 081-930-0306