การควบคุมโรคเหี่ยวของมะเขือเทศโดยใช้สารสกัดจากพืชและธาตุซิลิกอนในโรงเรือน
 Control of Bacterial Wilt of Tomato by Plant Extract and Silicon Amendment in Greenhouse

       

                 โรคเหี่ยวเขียวเป็นโรคที่สำคัญชนิดหนึ่งมะเขือเทศ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ราลสโตเนีย โซลานาซิเอรัม  (Ralstonia solanacearum) สร้างความเสียหายมากในต่างประเทศกับมะเขือเทศ มันฝรั่ง และพืชในวงศ์อื่นๆ เช่น ถั่วลิสง มะเขือ กล้วย ยาสูบ ขิง ปัจจุบันพบโรคนี้ระบาดเกือบทั่วโลก โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตร้อนอย่างภูมิภาคเอเชียรวมทั้งในประเทศไทย  ต้นมะเขือเทศที่เป็นโรคเหี่ยวเขียวจะแสดงอาการเหี่ยวในขณะที่ใบยังเขียว ใบลู่และตายในที่สุด ทำให้คุณภาพและผลผลิตที่ได้มีปริมาณลดลง การป้องกันกำจัดทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากเชื้อสามารถอยู่ข้ามฤดูในดินได้นานโดยปราศจากพืชอาศัย ทั้งยังมีพืชอาศัยกว้างและมีความหลากหลายของสายพันธุ์ ตลอดจนไม่มีสารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด  การนำเอาสารสกัดจากพืชมาใช้ในการควบคุมและลดปริมาณเชื้อโรคในดินเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่ง ซึ่งขั้นตอนการทำ ดังนี้

  1. เตรียมผงชวงเจี่ยซึ่งได้จากการนำเมล็ดชวงเจี่ยตากแห้งมาบดหรือปั่นให้ละเอียด
  2. นำไปหว่านไว้ใต้โคนต้นพืชที่ปลูก สัปดาห์ละ1 ครั้ง  ซึ่งการนำไปใช้ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ง่ายและสะดวกต่อการนำไปใช้นอกจากนี้พบว่ายังได้ผลในการควบคุมโรคเหี่ยวเขียวในระดับหนึ่ง


บทบาทของซิลิกอนต่อพืช

  1. ปรับปรุงทรงพุ่มช่วยในการสังเคราะห์แสง
  2. เพิ่มความทนทานต่อสภาพความเครียดต่างๆ
  3. ส่งเสริมความต้านทานต่อสภาพแวดล้อมทางชีวภาพ

                ธาตุซิลิกอนเป็นแร่ธาตุที่พบมากในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงและยังช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตที่มีต่อพืชได้  นอกจากนี้การปรับปรุงดินโดยการเพิ่มธาตุซิลิกอนยังช่วยให้พืชเจริญเติบโตและยังทำให้เนื้อเยื่อพืชทนทานต่อแมงกานีสที่ความเข้มข้นสูงได้ นอกจากนี้พบว่าข้าวที่มีการสะสมธาตุซิลิกอนไว้โดยเก็บไว้ที่ผนังชั้นนอก หรือจะสะสมที่ท่อลำเลียงน้ำและอาหาร พบว่าสามารถช่วยในการป้องกันการรุกรานของเชื้อราและโรคใบไหม้ในข้าวได้ด้วย  การปรับเปลี่ยนธาตุซิลิกอนสามารถช่วยลดการเกิดโรคเหี่ยวจากแบคทีเรียของมะเขือเทศได้ทั้งในพันธุ์ที่อ่อนแอและพันธุ์ที่ค่อนข้างต้านทาน   แต่ก็ไม่พบว่ามีการสะสมธาตุซิลิกอนในมะเขือเทศ การนำไปใช้ก็สามารถใช้ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วโดยการผสมสารซาลิซิคแอซิดตามความเข้มข้นที่พอเหมาะในน้ำ( 9 มิลิโมลาร์ต่อน้ำ 1 ลิตร) จากนั้นก็ผสมสารจับใบแล้วฉีดพ่นพืชให้ชุ่มสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
ดังนั้นการป้องกันกำจัดในปัจจุบันจึงควรใช้กรรมวิธีต่างๆ เช่นการใช้สารสกัดจากพืชและการปรับเปลี่ยนธาตุซิลิกอนในดินร่วมกันเพื่อลดปริมาณเชื้อโรคที่อยู่ในดินให้อยู่ในระดับที่ไม่สามารถทำให้เกิดความเสียหายกับพืชที่ปลูกหรือการทำให้พืชอยู่รอดให้ผลผลิตใกล้เคียง กับต้นปกติ

  
คณะผู้วิจัย :
นิพนธ์  ทวีชัย  และ จิตรยา จารุจิตร์
หน่วยงาน :
ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์