การวิจัยเพื่อคัดเลือกพันธุ์มะขามป้อม
Clone Selection of Emblic (Phyllanthus emblica)

       
          
          มะขามป้อมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Phyllanthus emblica L. อยู่ในตระกูล Euphorbiaceae ชื่ออื่นๆเช่น emblic, emblic myrobalan,  aonla,  amla,  emblique,  officinale,  bilimbi madras,  myrobalan  emblique   เป็นพืชท้องถิ่นมีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติอย่างกว้างขวางตั้งแต่ บริเวณประเทศเนปาล อินเดีย ศรีลังกาถึงประเทศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และขึ้นไปจนถึงประเทศจีนตอนใต้  นอกจากนี้ยังมีการปลูกเป็นการค้าในประเทศจีน  อินเดีย  มอริเชียส  หมู่เกาะอินเดียตะวันตก     ตามธรรมชาติจะพบมะขามป้อมบริเวณป่าเบญจพรรณแล้ง  ป่าละเมาะหรือตามป่าชุมชน  ชอบดินลูกรังหรือดินปนทราย    มะขามป้อมเป็นพืชที่ตอบสนองต่อช่วงแสงคือจะออกดอกที่ช่วงวันยาว (12 ถึง 13.5ชั่วโมง)  เราสามารถพบมะขามป้อมตามธรรมชาติได้ในบริเวณพื้นที่ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลไปจนถึงพื้นที่สูงถึง 1,500 เมตร  มะขามป้อมมีการเจริญเติบโตช้ามากโดยต้นจากการเพาะเมล็ดจะให้ผลผลิตครั้งแรกเมื่อต้นมีอายุประมาณ 8 ปี   

          ในประเทศไทยพบว่ามะขามป้อมจะมีช่วงการให้ผลผลิตแตกต่างกันไปตามสภาพท้องถิ่น   จากผลการสำรวจพบว่าในเขตภาคใต้ช่วงการให้ผลผลิตจะอยู่ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม   ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนและบนดอยสูงที่หนาวเย็นของเชียงใหม่จะเก็บผลได้ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม  อย่างไรก็ตามก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างในแต่ละปี  

          แต่ก็นับเป็นข้อได้เปรียบที่เราสามารถเก็บเกี่ยวผลมะขามป้อมได้เป็นช่วงเวลาที่นานถึงประมาณ 6 เดือน
ในประเทศไทยเราผลผลิตมะขามป้อมที่บริโภคกันอยู่ส่วนใหญ่หรือเรียกได้ว่าทั้งหมดเก็บรวบรวมจากป่าธรรมชาติ   การเก็บผลปะปนกันมาจากหลายต้นหลายแหล่งทำให้ไม่สามารถควบคุมปริมาณหรือคาดเดาปริมาณผลผลิตแต่ละปีได้ และก็ทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพ ไม่ทราบปริมาณสารสำคัญในผลซึ่งเป็นตัวกำหนดคุณภาพของผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะการนำไปผลิตเป็นอาหารเพื่อสุขภาพหรือผลิตภัณฑ์ยา

             ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การเก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่ามาบริโภคหรือนำมาจำหน่ายเป็นวิถีชีวิตที่ไม่น่าจะยั่งยืน  นอกจากจะเสี่ยงต่อการใช้ประโยชน์จากป่าแบบเกินกำลังผลิตแล้ว การเก็บเกี่ยวแบบไม่ถูกวิธี ขาดการอนุรักษ์ บำรุงรักษายังอาจส่งผลต่อการเปลี่ยน แปลงของระบบนิเวศ และที่สำคัญอาจเสี่ยงต่อความผิดฐานบุกรุกป่าโดยไม่ตั้งใจ   

              มะขามป้อมเป็นผลไม้ตามธรรมชาติที่มีการใช้ประโยชน์ด้านการเป็นอาหารเพื่อสุขภาพและเป็นยาสมุนไพรในประเทศต่างๆ ที่มีการแพร่กระจายของมะขามป้อมมาช้านานแล้วรวมถึงประเทศไทยด้วย   ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกามีการจดสิทธิบัตรการใช้มะขามป้อมเป็นส่วนประกอบในยาบางตัวไปบ้างแล้ว 

            ผล : แก้ไอ ละลายเสมหะ กระตุ้นน้ำลาย แก้เจ็บคอ คอแห้ง คอตีบ
            ใบ : แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน แผลมีหนองเรื้อรัง บิดจากแบคทีเรีย
            เปลือก : รักษาบาดแผล แผลฟกช้ำ บิด
            ราก : แก้ร้อนใน ท้องเสีย ลดความดัน รักษาโรคเรื้อน   
            ปมที่ก้าน : แก้ปวดกระเพาะอาหาร ปวดท้องน้อย ปวดเมื่อยในกระดูก ปวดฟัน ไอ ไส้เลื่อน
ในอินเดียใช้ประโยชน์จากใบ  เปลือกและผลในอุตสาหกรรมฟอกย้อมเนื่องจากมีสารแทนนินสูง

            ปัจจุบันมะขามป้อมกำลังเป็นที่จับตามองในแง่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ  เครื่อง สำอางและยาสมุนไพร  มีการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปมากมาย เช่น น้ำมะขามป้อม มะขามป้อมแช่อิ่ม มะขามป้อมดอง มะขามป้อมผง  เครื่องสำอางบำรุงผิวและยอมผม เป็นยาสมุนไพรแก้ไอและเจ็บคอเป็นต้น

            คุณสมบัติที่สำคัญในผลมะขามป้อมคือการมีวิตามินซีและแทนนินสูง   ผลมะขามป้อมมี vitamin C สูงมาก  ปริมาณ vitamin C ในแต่ละต้นจะแตกต่างกันออกไป รายงานบางฉบับกล่าวว่า น้ำคั้นจากผลมะขามป้อม 100 กรัมจะมี vitamin C อยู่ถึง 600 ถึง 1,000 มิลลิกรัม     vitamin C จากมะขามป้อมมีประสิทธิภาพเหนือกว่า vitamin C จากการสังเคราะห์ประมาณ 12 เท่า    วิตามินซีสามารถทำหน้าที่จับอนุมูลอิสระในเซลล์ที่เป็นของเหลว   ป้องกันเซลล์จากการถูกอนุมูลอิสระทำลาย  อนุมูลอิสระเกิดมาจากทั้งภายนอกและภายในร่างกาย ได้แก่ มลพิษในอากาศ  ควันบุหรี่ แสงแดด  รังสีแกมมา  คลื่นความร้อน ส่วนที่มาจากภายในร่างกายก็เกิดจากกระบวนการเผาผลาญของออกซิเจนภายในเซลล์หรือเกิดจากการย่อยทำลายเชื้อแบคทีเรียของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย อนุมูลอิสระทำปฏิกิริยาโยงใยในร่างกายได้มากมาย ก่อให้เกิดการอักเสบ  กาทำลายเนื้อเยื่อ  เกิดต้อกระจกในผู้สูงอายุ  เนื้องอก  โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด

             รายงานของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ  รัฐแมรีแลนด์  สหรัฐอเมริกาพบว่า vitamin C อาจสามรถฆ่าเซลล์มะเร็งได้หลังจากทดลองกับหนูสำเร็จและอยู่ระหว่างทดลองกับมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับนักวิจัยในอังกฤษที่เคยมีรายงานไว้     นอกจากมี vitamin C สูงแล้วมะขามป้อมยังมี tannin อยู่ทุกส่วนของต้น โดยเฉพาะที่ผลมี tannin พวก gallotannins และ ellagitannins (ellagic tannin) ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษในการช่วยรักษาความเสถียรของ vitamin C ให้คงคุณภาพได้นาน  แม้จะถูกแปรรูปโดยการดองหรือทำผง       ผลดิบของมะขามป้อมมี tannin สูง 8-35 % ในขณะที่เปลือกมี tannin 8-24 % ส่วนที่ใบมีอยู่ประมาณ 22-28 %        tannin ในมะขามป้อมเป็นสารสำคัญที่เป็นยารักษาโรคต่างๆ เช่น โรคในระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร แผลในลำไส้ ลดไขมันและน้ำตาลในเลือด กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต( Institute for Traditional Medicine, Portland )

             การมี vitamin C และแทนนินมากทำให้ผลมะขามป้อมมีคุณสมบัติทางยามากมาย ซึ่งคงจะต้องมีการศึกษาวิจัยกันอีกมาก  สอดคล้องกับบทสรุปในการระดมความคิดเห็นของนักวิจัยและองค์กรด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร  ที่ให้มุ่งเน้นกระบวนการเกษตรอินทรีย์เป็นหลักและหาแนวทางวิจัยเกี่ยวกับการเพิ่มสารอาหาร  สารต้านอนุมูลอิสระและสารพฤกษเคมีต่างๆจากผลผลิตเกษตร

            สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งมีวิสัยทัศน์ “ค้นคว้าและพัฒนาระบบเกษตรอย่างยั่งยืน ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม พร้อมบริการวิชาการ สืบสานภูมิปัญญาไทย”  ได้เล็งเห็นความสำคัญของงานวิจัยและพัฒนาการผลิตมะขามป้อมเพื่อการใช้ประโยชน์จากมะขามป้อมในอนาคตให้เป็นไปอย่างมีทิศทาง  เป็นระบบสามารถเชื่อมโยงและร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆได้   โดยปัจจุบันได้จัดทำโครงการวิจัยเพื่อสำรวจและคัดเลือกสายพันธุ์มะขามป้อมจากแหล่งธรรมชาติต่างๆ  เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีคุณภาพดี  มีสารสำคัญที่เป็นประโยชน์สูงและมีคำแนะนำในการปลูกเลี้ยงที่ดี   ขณะเดียวกันก็วิจัยเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ด้านอาหารเพื่อสุขภาพและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางรูปแบบต่างๆ  เพื่อสร้างทางเลือกทางการตลาดให้มากขึ้นเกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมมะขามป้อมครบวงจร   แม้กระทั่งการผลิตยารักษาโรคโดยใช้
สารสกัดจากมะขามป้อมก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการทราบชนิดและปริมาณสารสำคัญในผลมะขามป้อมที่นำมาเป็นวัตถุดิบ 

          ปัจจุบันได้ดำเนินการสำรวจและเก็บตัวอย่างมะขามป้อมจากแหล่งธรรมชาติที่มีการกระจายพันธุ์หนาแน่น  วิเคราะห์คุณภาพผลผลิต  คัดเลือกและจัดทำแปลงรวบรวมสายพันธุ์มะขามป้อมไว้ ณ สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร  บ้านบางเบิด   อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  เพื่อศึกษาในโครงการ”การศึกษาและคัดเลือกพันธุ์และการผลิตมะขามป้อมเพื่ออุตสาหกรรม”โดยมีสายพันธุ์ที่มี vitamin C  สูงน่าสนใจคือ K 1, K 3, K 5, P 6, P 7, P 8, B 14, B 15  ( K จากแหล่งกาญจนบุรี   P จากแหล่งประจวบคีรีขันธ์   B จากแหล่งบุรีรัมย์ )

 

          

  
คณะผู้วิจัย :
นคร  เหลืองประเสริฐ1 นวลปรางค์  ไชยตะขบ2 สุดประสงค์  สุวรรณเลิศ3 และนิภา  เขื่อนควบ3
หน่วยงาน :
1ศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร2สถานีวิจัยกาญจนบุรี 3สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 08-1850-7706