เทคโนโลยีการปลูกเร่วหอมเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน
       

          เร่ว จัดเป็นพืชในตระกูลขิง เป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านของไทยอีกชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นหอมและมีน้ำมันหอมระเหยเป็นองค์ประกอบ เป็นพืชที่ชอบขึ้นในที่ค่อนข้างชื้นพอสมควรและพบขึ้นกระจัดกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศโดยเฉพาะในสังคมป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้ง ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมเก็บไปบริโภคหรือจำหน่าย  อย่างไรก็ดี เร่วยังมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้อีกหลายประเภทจึงนับเป็นพืชสมุนไพรชนิดใหม่ของประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันด้านการค้าเช่นเดียวกับพวกกระวานหรืออบเชย อย่างไรก็ดี การปลูกเร่วในเชิงการค้ายังมีอยู่น้อยมากโดยเฉพาะเทคโนโลยีการปลูกเร่วเพื่อการผลิตเชิงการค้า
         จากผลการศึกษาการปลูกเร่วหอมในพื้นที่สถานีวิจัยวนเกษตรตราด จ.ตราด ในช่วง 2 ปีแรก พบว่า เร่วหอมสามารถเจริญเติบโตได้ดีทั้งที่ปลูกภายใต้ร่มเงาของสวนยางพารา สวนผลไม้ และสวนไม้ป่าที่มีร่มเงาประมาณ 50-60 %  ระยะปลูกที่เหมาะสมของการปลูกเร่วหอมประมาณ 1 เมตร หรือมีจำนวนต้นอยู่ในช่วง 1,200-1,300 กอต่อไร่ การขยายพันธุ์เร่วหอมเพื่อนำไปปลูกควรเลือกต้นกล้าที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป โดยทำการแยกต้นกล้าที่มีไหลติดอยู่ด้วยมาปลูกเพราะจะมีการแตกหน่อได้ดี สำหรับการใส่ปุ๋ย พบว่า การใส่ปุ๋ยคอกอัตราประมาณ 300-400 กก.ต่อไร่ต่อปี ในช่วงเร่วหอมอายุ 1 ปี จะมีการแตกหน่อใหม่อยู่ในช่วง 4-5 หน่อต่อกอ สำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะเริ่มเก็บโดยการแยกเหง้าไปใช้เมื่อเร่วหอมมีอายุประมาณ 3 ปี โดยการเลือกกิ่งเหง้าที่จะนำไปจำหน่ายควรเลือกเหง้าที่มีลักษณะใหญ่ 1-2 ต้นต่อกอโดยปล่อยต้นที่เหลือในกอมีเจริญเติบโตและแตกต้นใหม่ต่อไป สำหรับปริมาณผลผลิตของเร่วอยู่ระหว่างการดำเนินการเก็บข้อมูลในช่วงอายุเก็บเกี่ยวปีที่ 3 ส่วนราคาซื้อขายเหง้าสดในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 25-30 บาทต่อกิโลกรัม (ราคาในท้องที่จังหวัดตราดและจันทบุรี)

 

  

คณะผู้วิจัย :
ณัฐวัฒน์ คลังทรัพย์   
หน่วยงาน :
สถานีวิจัยวนเกษตรตราด สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อ.เมือง จ.ตราด
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร 0-8748-7746