เร่วหอม (Etlingera punicea (Roxb.) R.M. Smith) วงศ์ Zinigberaceae เป็นพืชล้มลุกมีลำต้นหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน พบขึ้นทั่วไปตามพื้นล่างของป่าดงดิบบนพื้นราบและตามป่าเขา ชอบที่ร่มรำไร ดินระบายน้ำดี แตกกอเว้นระยะห่างแต่ละต้นประมาณ 25-40 เซนติเมตร ลำต้น สูง 2-4 เมตร ลำต้นสาก สีเขียวอมแดง โคนต้นสีแดงเรื่อ เหง้าใต้ดินสีอมชมพู มีกลิ่นหอม ใบ ออกแบบสลับ ใบหนา ขอบใบเรียบ สีเขียวเข้มขนาดใบกว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 30-40 เซนติเมตร ดอก แทงช่อดอกจากเหง้าใต้ดิน ก้านช่อดอกยาว 4-6 เซนติเมตร ดอกสีแดง ขนาด 2.5-4เซนติเมตร ผล ออกเป็นช่อ เปลือกผลมีขนคล้ายผลเงาะขนาด 1.5-2 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มเรียงตัวอัดกันแน่นอยู่เป็นจำนวนมาก การขยายพันธุ์ จะใช้การเพาะเมล็ดและแยกเหง้าใต้ดิน การใช้ประโยชน์ ผลเป็นเครื่องเทศ ใช้ปรุงยาขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ จุกเสียด รากซึ่งมีกลิ่นหอมเป็นเครื่องเทศปรุงน้ำก๋วยเตี๋ยวเนื้อ แกงเลียง แกงป่า ผัดเผ็ด และน้ำต้มเนื้อ เหง้าอ่อน แขนงอ่อน รับประทานสดกับน้ำพริก เหง้าแก่ ต้มน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวเนื้อหมู หรือแกงเลียง ทำน้ำพริกแกงผัดเผ็ดหมูป่า ชาวบ้านใช้ เหง้า รากเป็นยาเส้น ยาหอมเย็น เหง้ามีกลิ่นหอมและมีน้ำมันหอมระเหยเป็นองค์ประกอบ จึงเป็นพืชที่น่าจะมีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางมากขึ้น การที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาหลากหลายชนิดนั้นส่งผลให้ความต้องการเหง้ามีปริมาณมากขึ้น ดังนั้นควรมีการพัฒนาพันธุ์พืชหรือขยายพันธุ์เพื่อลดการเข้าไปขุดในป่ามาขาย ทำการปลูกแบบระบบการปลูกพืชเพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอและสอดคล้องกับความต้องการ ดังนั้นการใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาช่วยในการขยายพันธุ์เร่วที่มีคุณภาพน่าจะช่วยให้การผลิตทันกับความต้องการของตลาด
สำหรับวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเร่วหอมนั้น ในด้านการฟอกฆ่าเชื้อเนื้อเยื่อเร่วหอม จะนำหน่ออ่อนที่ใบยังไม่คลี่ออกยาวประมาณ 5-6 นิ้วมาล้างน้ำให้สะอาด ลอกกาบใบออก นำไปฟอกฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาคลอร็อก 10 % และ 5 % นาน 10 และ 5 นาที ล้างน้ำให้สะอาด 2 ครั้ง สูตรอาหารที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณต้นเร่วหอมพบว่าในช่วงเดือนแรกของการทดลอง สูตรอาหาร MNB7 ที่เติม BA 0.5 มก./ล ร่วมกับ NAA 0.3 มก./ล .ให้จำนวนยอดที่แตกใหม่มากที่สุดคือ 4.75 ยอด รองลงมาได้แก่สูตร MNB5 และ MNB6 .ให้จำนวนยอดที่แตกใหม่ได้ 3.25 ยอด แต่เมื่อเลี้ยงต่อไปเป็นเวลา 2 เดือน พบว่าสูตรอาหาร MNB7 ยังคงให้ยอดใหม่ได้สูงสุด 8 ยอด รองลงมาได้แก่สูตร MNB5 และ MNB6ให้ยอดใหม่ได้ 6.25และ 5.5 ยอด ทั้งนี้เนื่องจากพืชบางชนิดการใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตระดับที่ต่ำสามารถทำให้เกิดขบวนการเมตาโบลิซึมมากกว่าการใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตระดับที่สูงได้ และยังขึ้นกับปริมาณสารควบคุมการเจริญเติบโตในพืชแต่ละชนิดด้วย สำหรับสูตรอาหารที่เหมาะสมในการชักนำให้ออกราก พบว่า การใช้อาหารสูตร MS เติมน้ำตาล 30 กรัม/ลิตร สามารถชักนำให้ออกรากได้ร้อยละ 100 ต้นมีจำนวนรากมากที่สุด แต่มีการแตกหน่อใหม่น้อยที่สุด ต้นและใบมีสีเขียวปนเหลือง ในขณะที่ การใช้อาหารสูตร 1/2MS1 สามารถชักนำให้ออกรากได้ร้อยละ 100 ต้นมีจำนวนรากน้อยกว่าสูตร MS และมีการแตกหน่อใหม่มากที่สุด ถึง 0.8 หน่อต่อต้น ต้นและใบมีสีเขียว สำหรับการใช้อาหารสูตร 1/2MS2 สามารถชักนำให้ออกรากได้ร้อยละ 100 ต้นมีจำนวนรากน้อยกว่าสูตร MS และมีการแตกหน่อใหม่ ถึง 0.5 หน่อต่อต้น ต้นและใบมีสีเขียวเช่นกัน
|