ความหลากหลายของสายพันธุ์พืชตระกูลส้ม
       
           ในความหมายของคำว่า  ส้ม  (Citrus)  ได้กินความหมายครอบคลุมไปนอกเหนือจากสกุลของส้ม  (genus  Citrus)  แต่รวมไปจนถึงพืชอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง  (citrus   relatives) ทั้ง  subfamily  Aurantioideae ของวงศ์ส้ม  Family  Ruataceea ทั้งหมดด้วยกัน  พืชใกล้เคียงที่พบมากที่สุดในประเทศไทย  เช่น ต้นแก้ว (Murraya  paniculata)  มะไฟจีน (Clausena  lansium)มะนาวเทศ  (Triphasia trifolia)  กระแจะ(Hesperethusa   crenulata) มะนาวผี (Atalantia  monophylla) มะตูม (Aegle  marmalos)มะขวิด (Feronia   limonia) และมะสัง  (Feroniella   lucida)  เป็นต้น  นอกจากนี้  ยังมีส้มในสกุลอื่นๆที่มีบทบาทที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตส้มของโลกอีกด้วย

          ส้มมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตติดต่อระหว่างพื้นที่ของประเทศจีนตอนใต้  อินเดีย  คาบสมุทรมะลายู   ซึ่งรวมถึงประเทศไทยทั้งหมดด้วย  จากเอกสารรายงานของ  มองซิเออร์   เดอลาลูแบร์   (Monsieur  De  LaLoubere)ที่เขียนไว้ในหนังสือ A  New  Historical   Relation   With  The  King  of  Siam ที่ได้เข้ามาในประเทศไทยในระหว่างวันที่  27  กันยายน  2230  (ค.ศ.1687)ถึงวันที่  3  มกราคม  2231  (ค.ศ.1688)หรือมากกว่า  300 ปีที่ผ่านมา  ในเอกสารนี้ได้กล่าวถึงพืชหลายชนิดรวมทั้ง   ส้มโอ  (Soum-O หรือ Pompelmousees)  ส้มแก้ว  (Soum –Keou)  และมะกรูด  (Ma-Crout)  ส่วนกลุ่มส้มเปลือกล่อน  คาดว่าได้มีการนำเข้ามาในประเทศไทยเมื่อกว่า  100  ปี  ที่ผ่านมาพร้อมกับชาวจีนที่อพยพและได้มีการปลูกและขยายพันธุ์จนได้เป็น  “ส้มเขียวหวาน”  ในที่สุด
         ชนิดและพันธุ์ส้ม  ในสกุลส้ม   (Citrus)  และพืชที่ใกล้เคียงกับส้ม    (Citrus  relative)    นั้น  หากจะจัดแบ่งตามลักษณะความสำคัญทางพืชสวนแล้ว  สามารถแบ่งแยกได้เป็น  4  กลุ่ม ซึ่ง ก็มีความสำคัญแตกต่างกันไปตามความต้องการของกลุ่มชนวัฒนธรรม  รวมทั้งการใช้ประโยชน์ของส้มชนิดนั้น ๆ ด้วย  โดยสามารถสรุปการแบ่งแบบย่อได้ดังนี้

พืชในสกุลส้ม    (Citrus)   มี  4 กลุ่มย่อยคือ
1.กลุ่มส้มเกลี้ยง  (The  Orange   Group )
2.กลุ่มส้มเปลือกล่อน (The  Mandarins)
3.กลุ่มส้มโอและเกรฟฟรุต  (The  Pummelos  and  Grapefrits)
4. กลุ่มส้มที่มีรสเปรี้ยวจัด  (The Common Acid Members)

1.กลุ่มส้มเกลี้ยง  (The  Orange   Group ) แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกัน  คือ
1.1 Sweet  Orange (Citrus  sinensis  [L.] Osbeck)  เป็นส้มที่ปลูกมากที่สุดของโลก
แบ่งเป็นประเภทย่อยลงไปในประเทศไทยที่พบคือ  ส้มเกลี้ยง,ส้มเช้ง
1.2 Sour  or   Bitter  Oranges  (Citrus  aurantium   L.) บางครั้งกลุ่มนี้เรียกว่า 
Sevelle  Orange  สำหรับในประเทศไทยรู้จักกันในชื่อที่เรียกว่า  ส้มซ่า   ในอดีต 
ส้มชนิดนี้ได้มีการนำมาใช้เป็นต้นตอของกลุ่มส้มเกลื้ยงเนื่องจากมีความทนทานต่อ
โรคยางไหลและไฟทอฟธอราได้ดี

 

2 กลุ่มส้มเปลือกล่อน (The  Mandarins)  จัดเป็นส้มกลุ่มที่ปลูกกันมากที่สุดในทวีปเอเชีย  ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย แหล่งที่ผลิตสำคัญได้แก่  ญี่ปุ่น  เกาหลีใต้  จีน  ไต้หวัน  ไทย  อินเดีย ออสเตรเลีย  และย่านเมดิเตอเรเนียน  ส่วนประเทศในเอเชียที่มีปลูกค่อนข้างมาก ได้แก่  ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย  แบ่งเป็น  5 กลุ่ม เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญอย่างมาก  รวมทั้งประเทศไทยด้วยพันธุ์ที่สำคัญของไทยได้แก่  ส้มเขียวหวาน และส้มโชกุน 

 

3.กลุ่มส้มโอและเกรฟฟรุต  (The  Pummelos  and  Grapefruits)พันธุ์ส้มโอที่ปลูกในประเทศไทยมีอยู่หลายพันธุ์ โดยพันธุ์เดียวกันหรือกลุ่มเดียวกัน ปลูกกันคนและท้องที่ก็จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ซึ่งพันธุ์ส้มโอที่นิยมปลูกกันได้แก่ ขาวน้ำผึ้ง  ขาวแตงกวา  ทองดี  ขาวหอม  ขาวใหญ่   ขาวพวง  ขาวแป้น  ท่าข่อย  ทับทิม  หอมหาดใหญ่  หากแบ่งตามเนื้อสีแล้ว  สามารถแยกเป็น  2  กลุ่มเช่นกันได้แก่
-กลุ่มที่มีเนื้อสีขาวหรือไม่มีสี  ได้แก่พันธุ์  ขาวพวง  ขาวแป้น  ขาวใหญ่  ขาวน้ำผึ้ง 
ขาวแตงกวา
-กลุ่มที่มีเนื้อสีแดงหรือเนื้อสีชมพู พันธุ์ที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ  ทองดีและท่าข่อย 

 


          4. กลุ่มส้มที่มีรสเปรี้ยวจัด (TheCommon Acid  Members)  ส้มกลุ่มนี้พบว่ามีรสเปรี้ยวจัด  ที่เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญ  คือ   มีส่วนของปลายผล  (stylar  end)  มักพบว่าลักษณะสำคัญนูนขึ้นเรียกว่า  areolar  mammalian (บางครั้งเรียกว่า  nipple)  แบ่งได้เป็น  3 กลุ่มย่อย  คือ
                      4.1 The  Citrons  (Citrus  medica  L.)   ลักษณะที่สำคัญคือ ตาดอกมีสีม่วงแต้มอยู่ ในประเทศไทยพบปลูกตามหมู่บ้านชาวเขาทางภาคเหนือซึ่งเรียกกันว่า  ส้มมะละกอ  นอกจากนี้คือ  ส้มมือ        
                      4.2 The  Lemons    (Citrus  limon  [I.]  Burm. F)  เรียกกันว่าในภาษาไทยว่า  มะนาวฝรั่ง  หรือมะนาวนมยาน  ทางภาคเหนือบางครั้ง เรียกว่า มะนาวริโน 
                      4.3 The  Limes    ได้แก่มะนาว  ซึ่งแบ่งได้เป็น  2  กลุ่ม   ดังนี้คือ
                                 - Small  - fruited  Acid   Limes  (Citrus  aurantifolia  S wing)  เป็นกลุ่มมะนาวที่มีความอ่อนแอต่อโรคแคงเกอร์  (Xanthomonas   campestris  pv.  Citri)  และ tristeza  virus 
                                  - Large – fruited  Acid  Limes  (Citrus  latifolia  Tan..)มีลักษณะความทนโรคที่ตรงข้ามกับมะนาวกลุ่มแรก  เชื่อว่าเป็นลูกผสมโดยธรรมชาติ  พันธุ์ที่สำคัญได้แก่  Tahiti 


             ส้มอีก 2 กลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในสกุล Citrus ได้แก่ Kamquats (Fotunella spp.) ซึ่งเรียกในภาษาไทยว่า ส้มกินเปลือก และ trifoliate orange (Poncirus trifoliate) ซึ่งก็คือ ส้มสามใบส้มสามใบนั้นได้มีการนำมาใช้เป็นต้นตอนานมาแล้ว ในปัจจุบันได้มีการผลิตลูกผสมระหว่างส้มสามใบและส้มเกลี้ยง (sweet orange) ได้เป็นลูกผสมที่เรียกชื่อว่า citrange ขึ้น โดยพันธุ์ที่นำมาใช้เป็นต้นตออย่างกว้างขวางและรู้จักกันอย่างดี คือ   Troter และ Carrizo
จากการที่ส้มมีทั้งชนิด และพันธุเป็นจำนวนมาก การที่จะผลิตส้มจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงตลาดที่จะสามารถรองรับผลผลิตเป็นหลัก ซึ่งจะรวมทั้งชนิดและปริมาณ นอกจากนี้ การผลิตยังจะต้องพิจารณาถึงศักยภาพของการผลิตส้มที่มีคุณภาพดีหรือสูง มิใช่เพียงแต่ปริมาณเท่านั้น พื้นที่แต่ละแห่ง พื้นความรู้ความสามารถของเกษตรกรเฉพาะบุคคลรวมทั้งช่องทางของตลาดก็เป็นข้อจำกัดหนึ่งของการผลิตด้วยเช่นกัน


  

คณะผู้วิจัย :
กาญจน์ จันทร์ลอย,สามารถ เศรษฐวิทยา,นางมณฑา วงศ์มณีโรจน์ และ รวี เสรฐภักดี
หน่วยงาน :
ศูนย์วิจัยและพัฒนาไม้ผลเขร้อน  สถาบันวิจัยและพัฒนากำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 083-9648-399