การปลดปล่อยธาตุปุ๋ยที่เป็นประโยชน์ต่อพืชของวัสดุปลูก
Releasing of Plant Available Fertilizer Nutrient from Plant Media

        

            การผลิตพืชในระบบการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (Good Agricultural Practice : GAP) หรือเกษตรอินทรีย์(Organic farming) มีหลักการที่สอดคล้องกันคือผลิตพืชที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐานที่กำหนด โดยมีขบวนการผลิตที่ปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค  มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความยั่งยืนทางการเกษตร และไม่ทำให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุอินทรีย์จึงเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการผลิตพืชในระบบดังกล่าว ทั้งในแง่ของการนำมาทำเป็นปุ๋ยและวัสดุปลูก   โดยเป็นแหล่งที่สำคัญของธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และกำมะถัน ซึ่งธาตุอาหารจะถูกปลดปล่อยออกมาอย่างช้าๆ ให้พืชสามารถนำไปใช้ได้ตลอดระยะเวลาการเจริญเติบโต  นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการดูดซับธาตุอาหารพืช  ช่วยปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดินเช่น ความโปร่งร่วนซุย ความสามารถในการอุ้มน้ำของดิน    แต่ปุ๋ยอินทรีย์มีข้อจำกัดคือปริมาณธาตุอาหารพืชต่ำ และการปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืชต้องอาศัยกิจกรรมของจุลินทรีย์ 

                การทดลองนี้ทำขึ้นเพื่อศึกษาปริมาณการปลดปล่อยธาตุปุ๋ยหรือธาตุอาหารหลัก (ไนโตรเจน; N,  ฟอสฟอรัส; P  และโพแทสเซียม; K) ในรูปที่เป็นประโยชน์ของวัสดุอินทรีย์ 3 ชนิดคือ ถ่านแกลบ  เปลือกถั่วลิสง และมูลวัว  เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเลือกใช้วัสดุในการปลูกพืชทั้งในสภาพโรงเรือนและในแปลงปลูกพืช   การศึกษาทำโดยผสมดิน (200 ก.) กับวัสดุอินทรีย์ในอัตราที่ดินจะได้รับไนโตรเจนทั้งหมดจากวัสดุเท่ากับ 200 มก.N/กก.  หมักดินผสมที่ระดับความจุน้ำสนามของดิน (FC) ซึ่งมีค่าศักย์น้ำ -0.03 MPa    และทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการใส่จุลินทรีย์ (เชื้อ พด.1 ของกรมพัฒนาที่ดิน) และไม่ใส่เชื้อจุลินทรีย์    วิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารหลักในรูปที่เป็นประโยชน์(Available N, Available P  และ Exchangeable K) ที่  0,  1,  2,  4,  5,  6  และ 8  สัปดาห์ของการหมัก

1
2
3
4
ถ่านแกลบ
เปลือกถั่ว
มูลวัว
เชื้อ พด.1

ตารางที่ 1    สมบัติของดินที่ใช้ในการศึกษา

รายการ

ค่าวิเคราะห์

การแปลผล1/

pH ของดิน:น้ำ = 1:1

7.99

ด่างปานกลาง 

การนำไฟฟ้าของสารละลายดินที่อิ่มตัวด้วยน้ำ (ECe)

0.41 dS/m

ไม่มีความเค็ม

อินทรียวัตถุ (OM)

1.46 %

ค่อนข้างต่ำ

ไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์ (Available N)

7.85 มก./กก.

ต่ำมาก

ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ (Available P)

77.84 มก./กก.

สูงมาก

โพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ (Exchangeable K)

99.58 มก./กก.

สูง

ความจุน้ำสนาม (FC)

24.13 % (โดยมวล)

 

  
1/   Havlin et al., 1999  และกรมพัฒนาที่ดิน, 2542

ตารางที่ 2    สมบัติของวัสดุอินทรีย์ที่ใช้ในการศึกษา

รายการ

ชนิดของวัสดุอินทรีย์

ถ่านแกลบ

เปลือกถั่วลิสง

มูลวัว

pH ของดิน:น้ำ = 1:5

7.81

7.06

7.87

การนำไฟฟ้าของสารละลายดิน:น้ำ = 1:10 (EC)

0.57 dS/m

0.91 dS/m

1.56 dS/m

อินทรียวัตถุ (OM)

6.22 %

77.18 %

55.52 %

ไนโตรเจนทั้งหมด (Total N)

0.09 %

1.19 %

1.15 %

ฟอสฟอรัสทั้งหมด (Total P)

0.15 %

0.10 %

0.46 %

โพแทสเซียมทั้งหมด (Total K)

0.60 %

0.51 %

0.76 %

อัตราส่วนระหว่างอินทรียคาร์บอนกับไนโตรเจนทั้งหมด (C:N ratio)

 

40.2 : 1

 

37.7 : 1

 

28.1  : 1

                ผลการศึกษา (ภาพที่ 1) พบว่า  แม้ว่าดินจะได้รับไนโตรเจนทั้งหมดจากวัสดุทั้ง 3 ชนิดเท่ากัน (200 มก.N/กก.)  แต่ในดินหมักกับเปลือกถั่วลิสงมีปริมาณการปลดปล่อยไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์เฉลี่ยมากที่สุดในทุกสัปดาห์ของการหมัก โดยมีค่าเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัดตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของการหมัก   ส่วนดินหมักกับถ่านแกลบและมูลวัวมีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกัน    ดินหมักกับถ่านแกลบมีค่าเฉลี่ยของปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์และโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้มากที่สุดในทุกสัปดาห์ของการหมัก    ทั้งนี้เนื่องจากถ่านแกลบมีปริมาณไนโตรเจนทั้งหมดต่ำกว่าเปลือกถั่วลิสงและมูลวัว  ทำให้ต้องใช้ถ่านแกลบผสมดินในปริมาณที่สูงกว่าเปลือกถั่วลิสงและมูลวัวเพื่อให้ดินได้รับไนโตรเจนเท่ากัน  จึงส่งผลให้ดินได้รับฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมจากถ่านแกลบสูงด้วย   ส่วนค่าเฉลี่ยของปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์และโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ในดินหมักกับมูลวัวมีแนวโน้มสูงกว่าเปลือกถั่วลิสง  อาจเป็นเพราะมูลวัวมีปริมาณทั้งหมดของฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมสูงกว่าเปลือกถั่วลิสง  




ภาพที  1   ปริมาณการปลดปล่อยธาตุอาหารหลัก (ไนโตรเจน,  ฟอสฟอรัส  และโพแทสเซียม)
ในรูปที่เป็นประโยชน์ของดินผสมวัสดุอินทรีย์ โดยมีการใส่และไม่ใส่เชื้อจุลินทรีย์
(เชื้อ พด.1 ของกรมพัฒนาที่ดิน) ที่สัปดาห์ต่างๆ ของการหมัก

              ในการย่อยสลายสารอินทรีย์เพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์นั้น นอกจากจะย่อยสลายเพื่อให้ได้เป็นพลังงานไปใช้แล้ว จุลินทรีย์ยังนำธาตุจากสารอินทรีย์นั้นไปใช้สร้างสารประกอบในเซลล์ โดยเฉพาะคาร์บอนกับไนโตรเจนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของโปรตีน  อัตราส่วน C:N ของวัสดุอินทรีย์ช่วง 20 – 30 จัดว่าเพียงพอต่อความต้องการของจุลินทรีย์   ถ้าไนโตรเจนในสารอินทรีย์มีไม่เพียงพอต่อความต้องการจุลินทรีย์มักดึงไนโตรเจนจากดินไปใช้  เกิดกระบวนการ immobilization ของไนโตรเจนในดิน (การเปลี่ยนรูปของธาตุอาหารจากอนินทรีย์เป็นอินทรีย์ในจุลินทรีย์) ทำให้ปริมาณไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์ต่อพืชลดลง  แต่การที่เปลือกถั่วซึ่งมีค่าอัตราส่วน C:N สูงกว่ามูววัว มีปริมาณการปลดปล่อยไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์สูงกว่านั้นอาจเป็นเพราะสารประกอบในวัสดุแตกต่างกัน  เนื่องจากสารประกอบในพืช  ได้แก่  เซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส ลิกนิน โปรตีน แป้งและน้ำตาล จะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ได้ยากง่ายแตกต่างกันออกไปขึ้นกับความซับซ้อนของโครงสร้างโมเลกุลและปริมาณในพืช (คณาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา, 2541)  สารประกอบชนิดคาร์โบไฮเดรทและโปรตีนที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อนจะมีอัตราการสลายตัวเร็ว ส่วนสารประกอบชนิดเซลลูโลสและลิกนินจะมีอัตราการสลายตัวช้า  อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของปริมาณธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ในดินที่เวลาต่างๆ อาจเป็นผลมาจากอัตราการเกิดขบวนการ immobilization และ mineralization ของธาตุอาหารในดิน  (การเปลี่ยนรูปของธาตุอาหารจากอินทรีย์เป็นอนินทรีย์โดยกิจกรรมของจุลินทรีย์ ทำให้พืชสามารถดูดใช้ได้) ถ้าอัตราการเกิด immobilization สูงกว่า mineralization  ปริมาณธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ในดินจะลดลง  แต่ถ้าอัตราการเกิด immobilization ต่ำกว่า mineralization  ปริมาณธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ในดินจะเพิ่มขึ้น (Sophie and Marstorp, 2002)  

              ผลการศึกษาไม่พบความแตกต่างอย่างเด่นชัดของการใส่และไม่ใส่เชื้อจุลินทรีย์ต่อปริมาณการปลด ปล่อยธาตุอาหารหลักในรูปที่เป็นประโยชน์ในช่วงเวลาที่ศึกษา อาจเพราะในดินมีจุลินทรีย์มากมายหลายชนิด   และภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมของปัจจัยต่างๆ ได้แก่ pH, ปริมาณ O2 , อุณหภูมิและระดับความชื้นของดิน จะมีผลส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้มีการย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ในดินด้วย (ธงชัย, 2550)   ระดับความชื้นของดินที่พอเหมาะต่อการย่อยสลายอยู่ที่ค่าศักย์น้ำ -0.01 ถึง -0.05 MPa (คณาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา, 2541)

  
คณะผู้วิจัย :
จันทร์จรัส วีรสาร  อตินุช แซ่จิว และ ไพร มัทธวรัตน์
หน่วยงาน :
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร.  0-343-51399   0-342-81092