การผสมผสานช่วงวิกฤตและการควบคุมวัชพืชโดยชีววิธีในหน่อไม้ฝรั่ง
Integrated Critical Period and Biological Weed Control in Asparagus

         
           วัชพืชมีความสามารถในการแข่งขันสูง การควบคุมทำได้ยากมาก เนื่องจากยังไม่มีสารกำจัดวัชพืชที่เลือกทำลายในแปลงหน่อไม้ฝรั่งที่มีประสิทธิภาพสูงพอที่จะกำจัดวัชพืช การศึกษาช่วงวิกฤตจากความสัมพันธ์ของวัชพืชกับพืชปลูกเป็นการศึกษาที่ทำให้เราทราบว่าช่วงใดพืชกำลังอ่อนแอ หรือช่วงใดที่พืชมีความแข็งแรงพอที่จะแข่งขันกับวัชพืชได้ การศึกษาช่วงวิกฤตของแต่ละพืชจะมีความเฉพาะของแต่ละชนิดพืชและสภาพแวดล้อม แต่เมื่อได้ข้อมูลในแต่ละพืช ในแต่ละสภาพแวดล้อม ก็จะสามารถกำหนดเป็นแผนการจัดการวัชพืชที่แน่นอน ทำให้สามารถวางแผนการปลูกพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ การศึกษาเทคนิคการใช้เชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคเฉพาะในวัชพืช ที่เข้าทำลายวัชพืชในช่วงวิกฤตซึ่งเป็นช่วงที่มีการควบคุมวัชพืช เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาแรงงานคนแล้วยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์

การศึกษาประกอบด้วยการศึกษาสำคัญ 3 ส่วน

  1. การศึกษาช่วงวิกฤตของวัชพืชในหน่อไม้ฝรั่งดำเนินการที่แปลงเกษตรกร จังหวัดราชบุรี
  2. การสำรวจและแยกเชื้อราสาเหตุโรคพืชในวัชพืชในแปลงหน่อไม้ฝรั่งเพื่อทดสอบเชื้อราสาเหตุโรคพืชที่มีความเฉพาะเจาะจงกับวัชพืช และทดสอบการก่อให้เกิดโรคในวัชพืชและหน่อไม้ฝรั่ง (pathogenicity test)และทดสอบการเป็นพืชอาศัยของเชื้อราสาเหตุโรคพืชในวัชพืช (host range test)
  3. การผสมผสานการนำช่วงวิกฤตของวัชพืชในแปลงหน่อไม้ฝรั่งกับการใช้เชื้อราสาเหตุเพื่อควบคุมวัชพืชซึ่งเป็นวัชพืชสำคัญ

                การสำรวจวัชพืช ในแปลงหน่อไม้ฝรั่ง ในจังหวัดราชบุรี พบวัชพืชสำคัญ 7 ชนิด ได้แก่
แห้วหมู  (Cyperus rotundus)  หญ้านกสีชมพู (Echinochloa colona)  ผักโขม (Amaranthus gracilis
ผักเบี้ยหิน  (Trianthema portulacastrum)  ผักยาง  (Euphorbia heterophylla)  น้ำนมราชสีห์ (E. hirta
ผักเป็ด (Alternaria sessilis)

การตรวจสอบและแยกเชื้อราสาเหตุโรคพืชจากวัชพืชที่แสดงอาการโรคพืช 

               วิธีการตรวจสอบและแยกโดยตรงจากเนื้อเยื่อพืชเป็นโรค (direct method) นำวัชพืชที่แสดงอาการเป็นโรคมาตรวจสอบใต้กล้อง stereo microscope เมื่อพบส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อราใช้ใบมีดตัดตามขวาง  นำมาตรวจสอบชนิดของเชื้อ จากนั้นใช้เข็มเขี่ยตัดส่วนขยายพันธุ์มาวางบนอาหาร water agar (WA) บ่มไว้จนเชื้อเจริญ จากนั้นใช้เข็มเขี่ยตัดปลายเส้นใยย้ายมาวางบนอาหาร potato dextrose agar (PDA)  บ่มไว้จนเชื้อสร้าง spore  นำมาตรวจสอบลักษณะของเชื้อเพื่อจำแนกชนิด ซึ่งพบเชื้อ Puccinia sp., Stemphylium sp., Cercospora sp., Drechslera sp., Alternaria sp., Fusarium sp., Curvularia sp. และ Collectotricum sp.

1. การตรวจสอบเชื้อราสาเหตุโรคพืชโดยตรงโดยวิธีการ Crossection
ตารางที่ 1  แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อราสาเหตุโรคพืช  โรคพืช  และชนิดของวัชพืช

เชื้อสาเหตุโรคพืช

โรคพืช

ชนิดของวัชพืช

   Puccinia sp.

   โรคราสนิม

   แห้วหมู  (Cyperus rotundus)    

   Stemphylium sp.

   โรคใบไหม้
โรคใบจุด

   แห้วหมู (C. rotundus
   ผักเบี้ยหิน (Trianthema portulacastrum)

   Cercospora sp.

   โรคใบจุด

   หญ้านกสีชมพู (Echinochloa colona)
   ผักยาง (Euphorbia heterophylla

   Drechslera sp.

   โรคใบไหม้
โรคใบจุด

   หญ้านกสีชมพู  (E. colona)
   ผักยาง (E. heterophylla

   Alternaria sp.

   โรคใบจุด

   ผักโขม (Amaranthus gracilis)
   ผักยาง (E. heterophylla
   น้ำนมราชสีห์ (E. hirta)
   ผักเป็ด (Alternaria sessilis)

   Fusarium sp.

   โรคใบเหี่ยว

   ผักโขม  (A. gracilis)
   ผักเบี้ยหิน (T. portulacastrum)

   Curvularia sp.

   โรคใบจุด

   ผักเบี้ยหิน (T. portulacastrum)

   Collectotricum sp.

   โรคใบจุด

   น้ำนมราชสีห์ (E. hirta)

                วิธี  Tissue transplanting method  นำวัชพืชเป็นโรคมาตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ  เลือกบริเวณที่เป็นรอยต่อระหว่างส่วนที่เป็นโรคและส่วนที่ไม่เป็นโรค  นำไปล้างใน clorox  10%  ประมาณ 3-5 นาที  จากนั้นนำไปล้างน้ำและนำไปวางบนกระดาษซับ  ทิ้งไว้ให้แห้ง  นำไปวางบนอาหาร PDA  เมื่อเชื้อเจริญเป็นเส้นใยใช้เข็มเขี่ยตัดปลายเส้นใยย้ายเชื้อวางบน PDA และเลี้ยงจนได้เชื้อบริสุทธิ์  นำไปศึกษาชนิดของเชื้อ และนำไปทดสอบความสามารถในการก่อโรคต่อไป  จากวิธีการแยกแบบ  Tissue transplanting method   พบเชื้อ Bipolaris bicolor,  Curvularia brachyspora, C. inequalis,  C. lunata, Drechslera holmii, Exserohilum rostratum, Fusarium solani, Myrothecium cinctum, Nigrospora oryzae และ  Pestalotiopsis quepinii

2.การแยกเชื้อราสาเหตุในวัชพืชแห้วหมูโดยวิธีการแยกจากเนื้อเยื่อพืช โดยวิธี tissue transplanting  method พบเชื้อราโรคพืชดังนี้

ภาพที่ 1วัชพืชแห้วหมูที่แสดงอาการใบจุด ใบไหม้
และนำมาแยกเชื้อโดยวิธี Tissue Transplanting
ภาพที่ 2 Bipolaris  bicolor  
ภาพที่ 3 Curvularia brachyspora
ภาพที่ 4 Curvularia inequalis
ภาพที่ 5 Curvularia lunata

            วัชพืชสำคัญที่พบในแปลงหน่อไม้ฝรั่ง ประกอบด้วย วัชพืชใบเลี้ยงคู่ ได้แก่  ผักเบี้ยหิน ผักยาง  ผักโขม  น้ำนมราชสีห์ และผักเป็ด  วัชพืชใบเลี้ยงเดี่ยวได้แก่  แห้วหมู  และหญ้านกสีชมพู  พบเชื้อราสาเหตุโรคพืช ได้แก่  Puccinia sp., Stemphylium sp., Cercospora sp., Drechslera sp., Alternaria sp., Fusarium sp., Curvularia sp., Collectotricum sp., Bipolaris bicolor,  Curvularia brachyspora, C. inequalis,
 C. lunata, Drechslera holmii, Exserohilum rostratum, Fusarium solani, Myrothecium cinctum, Nigrospora oryzae และ  Pestalotiopsis  quepinii

            เนื่องจากได้ดำเนินการตรวจสอบวัชพืชที่เป็นโรคซึ่งพบเชื้อราสาเหตุของโรคแล้ว  จำเป็นต้องนำวัชพืชสำคัญที่พบในแปลงหน่อไม้ฝรั่งชนิดอื่น ๆ  ได้แก่   ผักเบี้ยหิน และน้ำนมราชสีห์  มาศึกษาเพื่อแยกเชื้อราสาเหตุด้วยวิธี  Tissue transplanting  และนำเชื้อราที่จำแนกได้นี้  มาทดสอบความเป็นโรคกับวัชพืชหน่อไม้ฝรั่ง  รวมทั้งพืชผักชนิดอื่น ๆ  โดยเทียบกับการตรวจเอกสารงานวิจัย  ทั้งในและต่างประเทศ  ก่อนนำไปทดสอบในแปลงหน่อไม้ฝรั่งต่อไป

                       ผลการศึกษาที่นำเสนอครั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการศึกษาโครงการการผสมผสานช่วงวิกฤตและการควบคุมวัชพืชโดยชีววิธีในหน่อไม้ฝรั่ง ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการ และเมื่อสรุปผลในส่วนนี้แล้ว จึง
สามารถมาศึกษาในส่วนของการผสมผสานการนำช่วงวิกฤตของวัชพืชในแปลงหน่อไม้ฝรั่งกับการใช้เชื้อราสาเหตุเพื่อควบคุมวัชพืชได้

  
คณะผู้วิจัย :
ดวงพร  สุวรรณกุล1, จิตรา เกาะแก้ว2 ,ศวพร ศุภผล3 และ วัชโรบล สิทธิวิไล3
หน่วยงาน :
1ศูนย์ธุรกิจเกษตร คณะเกษตร 2ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร
3ภาควิชาปฐพีีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทรศัพท์
02-9427144  โทรสาร  02-9427147  e-mail agrfdps@ku.ac.th