การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานสำหรับตลาดฝักสดและอุตสาหกรรมแปรรูป
Sweet Corn Improvement for the Fresh Market and Processing

       

                ข้าวโพดหวาน (Zea mays L. saccharata) เป็นพืชผักอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจอันดับหนี่งของประเทศไทย เพื่อใช้ในการบริโภคฝักสด และการแปรรูปบรรจุกระป๋อง แบบบรรจุทั้งเมล็ด  (whole kernel)   ข้าวโพดครีม (cream-style corn) และแบบบรรจุทั้งฝัก (corn-on-cob)  นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูปแบบแช่แข็งทั้งเมล็ด แช่แข็งทั้งฝัก เมล็ดแห้ง และน้ำนมข้าวโพด  ปัจจุบัน ความต้องการข้าวโพดหวานของโรงงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นผลให้ในปี ในปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยส่งออกข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องเป็นปริมาณ 125,308 ตัน มูลค่า 4,291.0 ล้านบาท  และส่งออกข้าวโพดหวานแช่แข็งปริมาณ 4,730 ตัน มูลค่า 166.6 ล้านบาท โดยเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดหวานกระป๋องอันดับ 1ของโลก ผลกระทบจากการปลูกพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยวพันธุ์ที่ต้องการของตลาดฝักสดและอุตสาหกรรมแปรรูป1-2 พันธุ์ ในพื้นที่บริเวณเดียวกันอย่างกว้างขวางและปลูกติดต่อกันหลายฤดูและหลายปี เป็นผลให้พันธุ์ดังกล่าวมีความอ่อนแอต่อโรคโรคทางใบ โดยเฉพาะโรคราน้ำค้างในฤดูฝนในทุกภาคของประเทศไทย (พันธุ์ที่จำหน่ายเป็นการค้าทุกพันธุ์ต้องคลุกสารเคมี metalaxyl เพื่อป้องกันโรคนี้) โรคใบไหม้แผลใหญ่ในฤดูแล้งในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรคราสนิมในปลายฤดูฝนในทุกภาค และโรคไวรัส ได้แก่ Sugarcane Mosaic Virus (SCMV), Maize Dwarf Mosaic Virus (MDMV) และ Maize Chlorotic Mottle Virus (MCMV) ซึ่งระบาดในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และแพร่กระจายไปในเขตภาคเหนือและภาคตะวันตกที่เป็นแหล่งผลิตข้าวโพดหวานที่สำคัญ   ดังนั้น วัตถุประสงค์หลักของโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยวที่ให้ผลผลิตสูง และมีคุณภาพในการรับประทานที่ดี สำหรับตลาดฝักสดและอุตสาหกรรมแปรรูป ต้านทานโรคราน้ำค้าง และต้านทานต่อโรคราสนิม โรคใบไหม้แผลใหญ่ และโรคไวรัส  โดยใช้วิธีการสร้างประชากรข้าวโพดหวาน โดยนำพันธุ์ข้าวโพดหวานจากต่างประเทศที่ควบคุมด้วยยีนชรังเค่น-2 (shrunken-2) และ บริทเทิ่ล-1 (brittle-1) มาผสมกับพันธุ์ผสมเปิด และสายพันธุ์แท้ข้าวโพดไร่ที่ดีเด่นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นพัฒนาและปรับปรุงประชากรโดยใช้วิธีการคัดเลือกรวม 3 - 4 รอบ เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม และมีลักษณะทางการเกษตรที่ดี แล้วคัดเลือกประชากรที่มีศักยภาพ ได้แก่ พันธุ์ไทยซูเปอร์สวีทคอมพอสิต 1 ดีเอ็มอาร์ (TSC 1 DMR), [(sh2 Syn 29 x KS1) x Suwan 3(S)C4]-F6 หรือ KSC 2 และ (HSSS x Tuxpeno-1 DMR)-F7 หรือ KSC 3   มาปรับปรุงพันธุ์แบบ Testcross Selection with Inbred Tester ปัจจุบัน ได้รอบคัดเลือกที่ 2 และนำประชากรที่ดีมาสกัดสายพันธุ์ และพัฒนาเป็นสายพันธุ์แท้โดยใช้วิธีการคัดเลือกแบบบันทึกประวัติ การประเมินสายพันธุ์ใช้วิธี line x tester analysis โดยนำสายพันธุ์ผสมตัวเอง S2 - S4 ผสมกับตัวทดสอบที่เป็นสายพันธุ์แท้ตามแบบเฮเทอโรซีส การประเมินพันธุ์ลูกผสมในปีที่ 1 - 2 ทำที่ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ปีที่ 3 เพิ่มการทดสอบพันธุ์ลูกผสมเดี่ยวที่ดีเด่นในการเปรียบเทียบพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในสถานีทดลองต่าง ๆ ทดสอบพันธุ์ในไร่เกษตรกร ทดสอบเขตกรรม ทดสอบโรคและแมลง ทดสอบผลผลิตของสายพันธุ์พ่อแม่ ทดสอบการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม และทดสอบการแปรรูป ปีที่ 4 คัดเลือกลูกผสมเดี่ยวก่อนจำหน่ายเป็นการค้าแล้วทดสอบพันธุ์เหมือนปีที่ 3 และทดสอบแปลงใหญ่ในไร่เกษตรกร ปีที่ 5 คัดเลือกลูกผสมเดี่ยวที่ดีที่สุดแล้วเผยแพร่สู่เกษตรกรและโรงงานแปรรูป  ผลการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อย่างต่อเนื่องในช่วง 17 ปี (พ.ศ. 2535-2552) ได้ลูกผสมเดี่ยวที่มีสายพันธุ์พ่อแม่ที่ได้มาจากการปรับปรุงประชากร ได้แก่ พันธุ์อินทรี 1, อินทรี 2, KSSC 503, KSSC 978 (ลูกผสมเดี่ยวสองสี), KSSC 563 และ KSSC 604 ซึ่งได้เผยแพร่สู่เกษตรกร ภาครัฐและเอกชน ในปี พ.ศ.2538, 2542, 2546, 2547, 2548 และ 2550 ตามลำดับ นอกจากนี้ ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยวพันธุ์ใหม่ ๆ อยู่ในระหว่างการทดสอบพันธุ์และจะเผยแพร่สู่ตลาดฝักสดและอุตสาหกรรมแปรรูปในระยะต่อไป

1

2

4

3

6

7

 

  
คณะผู้วิจัย :
โชคชัย เอกทัศนาวรรณ1 ชไมพร เอกทัศนาวรรณ2  และ นพพงศ์ จุลจอหอ1
หน่วยงาน :
1ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 30320 
2สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-4436-1770-4