การผลิตองุ่นรับประทานสดคุณภาพดี ณ สถานีวิจัยกาญจนบุรี
Good Quality Table Grape Production at Kanchanaburi Research Station

       

          ในช่วงประมาณปี 2500 ศาสตราจารย์ปวิณ ปุณศรี ภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกงานวิจัยและพัฒนาการผลิตองุ่นอย่างจริงจัง จนกระทั่งประเทศไทยสามารถผลิตองุ่นเป็นการค้าได้สำเร็จตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 เป็นต้นมา       โดยมีแหล่งผลิตอยู่ในท้องที่ราบลุ่มภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดนครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เป็นต้น   องุ่นที่ผลิตได้เป็นชนิดรับประทานสดได้แก่    พันธุ์ไวท์มาละกาและพันธุ์คาร์ดินัลซึ่งให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี  นอกจากใช้รับประทานสดภายในประเทศแล้วยังสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศอีกด้วย ปัจจุบันได้มีการขยายการผลิตออกไปภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่  เชียงราย  น่าน ฯลฯ  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดนครราชสีมา  เลย  ฯลฯ  ภาคตะวันตก เช่น จังหวัดราชบุรีและกาญจนบุรี เป็นต้น  ความสำเร็จของเกษตรกรในการปลูกองุ่นทำให้คนไทยมีองุ่นสดบริโภคในราคาถูก และเกษตรกรผู้ปลูกสามารถทำเงินรายได้ดีไม่แพ้การปลูกไม้ผลชนิดอื่น  อย่างไรก็ตามเรายังมีการนำเข้าองุ่นจากต่างประเทศมาขายอีกเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในซุปเปอร์มาเก็ต หรือร้านขายผลไม้สดมักจะพบองุ่นกินสดที่ส่งมาจากสหรัฐอเมริกา  ออสเตรเลีย  ไต้หวัน  และประเทศในแถบอเมริกาใต้ เฉพาะปี 2550 ประเทศไทยนำเข้าองุ่นสดเป็นมูลค่าถึง 1,242.47 ล้านบาท โดยมีปริมาณ 24,246.66 ตัน  ไม่รวมถึงองุ่นแห้งและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากองุ่น  ทั้งนี้สาเหตุเนื่องมาจากองุ่นที่ปลูกอยู่ในประเทศไทยได้แก่ พันธุ์ไวท์มาละกาและพันธุ์คาร์ดินัล  ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมปลูกกันมามากกว่า 45 ปี  มีคุณภาพผลด้อยกว่าองุ่นจากต่างประเทศซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้รับการผสมพันธุ์ขึ้นมาใหม่ เช่น  องุ่นไม่มีเมล็ด  หรือองุ่นมีเมล็ดแต่ผลโต รสชาติหวานกรอบเป็นต้น จากเหตุผลดังกล่าวการผลิตองุ่นกินสดภายในประเทศควรมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพในการตลาดปลูกทดแทนพันธุ์เดิมซึ่งมีคุณภาพด้อยกว่า การพัฒนาวิธีการผลิต เช่น การตัดแต่งที่ถูกวิธี  การใช้ต้นตอ  การใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ  การลดความเสี่ยงเนื่องจากปัญหาฝนตก  ซึ่งทำให้ผลผลิตเน่าเสียหาย และมีปัญหาในการควบคุมโรคแมลง   และวัชพืช  การดูแลรักษาโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเสริม  การพัฒนาขยายพื้นที่ปลูกไปสู่แหล่งอื่น ๆ ที่มีศักยภาพของพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการผลิต เป็นต้น

          เหตุผลที่ผู้บริโภคนิยมองุ่นกินสดที่นำเข้าจากต่างประเทศนอกเหนือจากเรื่องคุณภาพขององุ่นและชนิดพันธุ์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีเหตุผลที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งคือ เรื่องของสารพิษตกค้างที่ผู้บริโภคกลัวกันมาก    โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าองุ่นที่ผลิตภายในประเทศที่วางขายในตลาดสด หรือห้างสรรพสินค้า ไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์     มักมีคราบของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชติดอยู่บริเวณผิวของผลองุ่นในขณะที่องุ่นนำเข้าจากต่างประเทศไม่มีหรือมีน้อยมาก  ทั้งนี้เนื่องมาจากเกษตรกรต้องป้องกันไม่ให้ผลผลิตเสียหาย อันเนื่องมาจากโรคและแมลงที่เข้าทำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ผลผลิตใกล้ระยะการเก็บเกี่ยวด้วยเหตุผลดังกล่าวเรื่องของพันธุ์ เทคโนโลยีในการผลิตที่ถูกวิธีจึงมีความสำคัญมากในการที่จะทำให้ได้องุ่นที่มีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาด  ผลผลิตมีราคาเพิ่มสูงขึ้น  ลดต้นทุนการผลิต  ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

           ศาสตราจารย์ ปวิณ ปุณศรี ผู้ริเริ่มบุกเบิกงานวิจัยและพัฒนาการผลิตองุ่นได้กล่าวไว้เมื่อเดินทางไปเยี่ยมชมแปลงปลูกองุ่นของสถานีวิจัยกาญจนบุรีในเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ว่าบริเวณจุดที่ตั้งของ สถานีฯ หมู่ที่ 9 ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี มีสภาพพื้นที่และสภาพอากาศเฉพาะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตขององุ่น ซึ่งตรงกับคำในภาษาฝรั่งเศสที่ว่ามีแตรัว(Terrior) ที่เหมาะกับการปลูกองุ่นและน่าจะเป็นแหล่งปลูกองุ่นที่ดีที่สุดในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ กล่าวคือบริเวณดังกล่าวมีสภาพอากาศแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วงยาวนาน แต่มีปริมาณน้ำมากเพียงพอต่อการกักเก็บและให้น้ำเพื่อการปลูกพืช ทั้งจากปริมาณน้ำฝนและโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากแม่น้ำแควใหญ่ สภาพอากาศที่ร้อนในเวลากลางวันและค่อนข้างเย็นในเวลากลางคืนบริเวณดังกล่าวเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตขององุ่น เพราะจะช่วยลดอัตราการเกิดโรค ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อราเช่น โรคราน้ำค้าง โรคแอนแทรคโนส เป็นต้น ซึ่งจะมีผลต่อการลดต้นทุนในการผลิตและได้องุ่นที่มีคุณภาพปลอดภัยต่อการบริโภคทั้งองุ่นรับประทานสดและองุ่นพันธุ์ทำไวน์ อีกทั้งบริเวณโดยรอบสถานีฯ ในเขตปฏิรูปที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)ซึ่งมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 2,000 ไร่ สามารถที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งปลูกองุ่นที่ดีที่สุดในประเทศไทย โดยมีสถานีวิจัยกาญจนบุรี เป็นศูนย์กลางความรู้ทางวิชาการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิต      ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะพัฒนาสถานีวิจัยกาญจนบุรีให้เป็นศูนย์วิจัยองุ่นและการทำไวน์ของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นเลิศทางวิชาการในการเป็นต้นแบบและการเป็นผู้นำของเรื่ององุ่นและการทำไวน์ นอกจากนี้เพื่อให้เป็นศูนย์กลางความรู้เกี่ยวกับองุ่นในทุกๆองค์ความรู้ เช่น เทคโนโลยีการผลิตองุ่นรับประทานสด และองุ่นพันธุ์ทำไวน์ที่ดี (Good Agricultural  Practice) เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง และมีผลผลิตสูง เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์องุ่นที่มีศักยภาพด้านการตลาดในระดับนานาชาติทั้งชนิดรับประทานสด และพันธุ์ทำไวน์ และมีเทคโนโลยีการผลิตไวน์และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากองุ่นที่ได้มาตรฐาน สามารถแข่งขันในตลาดการค้าเสรีระดับนานาชาติได้
                  สถานีวิจัยกาญจนบุรี  สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร   ได้ดำเนินการวิจัยการปลูกองุ่นร่วมกับภาควิชาพืชสวน  คณะเกษตร มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545      จนถึงปัจจุบัน  ในโครงการวิจัย  เรื่องการวิจัยและพัฒนาศักยภาพการผลิตองุ่นและการทำไวน์ในเขตภาคตะวันตกของประเทศไทย  โดยได้รับทุนอุดหนุนวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัญหาที่สำคัญของการผลิตองุ่นรับประทานสดในเขตร้อนชื้นและมีฝนตกเป็นสาเหตุให้มีการระบาดและทำลายจากโรคและแมลงสูง    ทำให้ผลผลิตเสียหายและส่งผลให้คุณภาพของผลผลิตต่ำ  สาเหตุนี้ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูองุ่นในปริมาณที่มากเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต  อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อเกษตรกรผู้ใช้สารเคมี    และมีสารพิษตกค้างรวมทั้งคราบของสารเคมีบนผิวขององุ่นรับประทานสดซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค  เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าซื้อไปรับประทาน  ผลผลิตราคาตกต่ำ และขายไม่ได้

             การประยุกต์ใช้โครงหลังคาพลาสติกในการปลูกองุ่นรับประทานสดในประเทศไทยนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในอนาคต โดยเฉพาะองุ่นพันธุ์ที่มีราคาแพง การใช้โครงหลังคาพลาสติกจะช่วยประหยัดต้นทุนได้ในระยะยาว  ลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง    เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นไม่ต้องเสี่ยงต่อความเสียหายอันเนื่องมาจากสภาพอากาศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของฝนตก สภาพความชื้นในอากาศสูง หมอกลงจัด เป็นต้น  นอกจากนี้ยังทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ทั้งรูปลักษณ์ที่เห็น เช่นผิวสวยสะอาดปราศจากคราบสารเคมี  ไม่ถูกทำลายโดยโรค แมลงมีรสชาติ หวาน กรอบ และที่สำคัญที่สุดคือ ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ปลอดภัยต่อเกษตรกรผู้ผลิต สามารถที่จะพัฒนาไปสู่ระบบการผลิตที่ดี และถูกต้อง (Good Agricultural   Practice )  และระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ได้ในอนาคต

การใช้หลังคาพลาสติก

ข้อดี

     * ลดต้นทุนการผลิตจากการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช
     * ลดความเสี่ยงจากผลผลิตเสียหาย อันเนื่องมาจากความชื้นและฝนตก
     * ทำให้องุ่นรับประทานสดมีคุณภาพดี ผิวสวย ไม่มีคราบสารเคมี ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและ
        เกษตรกรผู้ผลิต เนื่องจากการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ลดลงอย่างน้อย 50 %
     * มีการพัฒนาการผลิตองุ่นระบบเกษตรอินทรีย์ในอนาคต เช่นการใช้สมุนไพร ป้องกันกำจัดโรคและแมลง
     * เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นรับประทานสดสามารถผลิตองุ่นที่มีคุณภาพดี ส่งขายตลาดภายใน
        ประเทศ ซึ่งจะเป็นการลดการนำเข้าองุ่นรับประทานสดจากต่างประเทศ และลดการเสียดุลการค้ากับต่างประเทศ

ข้อเสีย

     * ต้องลงทุนในระยะแรก ซึ่งเกษตรกรบางรายอาจจะไม่มีทุน แต่ถ้าคิดความคุ้มในระยะยาว สามารถคุ้มทุนได้ในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี

การผลิตองุ่นรับประทานสดคุณภาพดี ณ สถานีวิจัยกาญจนบุรี

องุ่นรับประทานสด ไม่มีเมล็ด
พันธุ์ Perlette

องุ่นรับประทานสด ไม่มีเมล็ด
พันธุ์ Perlette

ศาสตราจารย์ ปวิณ  ปุณศรี เยี่ยมชมแปลง
ปลูกองุ่น สถานีวิจัยกาญจนบุรี

      

องุ่นรับประทานสด ไม่มีเมล็ด
พันธุ์ Marroo Seedless

              จากงานวิจัยการปลูกองุ่นพันธุ์รับประทานสด ณ สถานีวิจัยกาญจนบุรีจนถึงปัจจุบันพบว่าองุ่นรับประทานสดไม่มีเมล็ดพันธุ์ Perlette (สีเขียว) และพันธุ์ Marroo Seedless สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี สามารถส่งเสริมให้ปลูกเป็นการค้าได้

  
คณะผู้วิจัย :
จรัล เห็นพิทักษ์  รินทอง พิลาภ  และเสรี นาราศรี
หน่วยงาน :
สถานีวิจัยกาญจนบุรี สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 081-8122506