ไส้เดือนฝอย (Nematode) จัดเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง มีรูปร่างลักษณะคล้ายเส้นด้าย อาศัยอยู่ได้ทุกหนทุกแห่งทั่วโลก เช่น ในดิน ทะเล แม่น้ำ แม้กระทั่งน้ำพุร้อนหรือทะเลทราย บางท่านเข้าใจผิดิดคิดว่าไส้เดือนฝอยคือ ไส้เดือนดินตัวเล็ก ๆ แต่ความเป็นจริงแล้วไส้เดือนฝอยเป็นสัตว์ในกลุ่มของพยาธิตัวกลมนั่นเอง ไส้เดือนฝอยมีหลายชนิด ทั้งที่เป็นประโยชน์ ดำรงชีพอย่างอิสระ เป็นศัตรูของคนและสัตว์ เช่น พยาธิปากขอ พยาธิตัวจี๊ด ฯลฯ และที่เป็นศัตรูพืช ในที่นี้จะขอกล่าวถึงไส้เดือนฝอยศัตรูพืชและความสำคัญของไส้เดือนฝอยศัตรูพืชต่อผลผลิตทางการเกษตรและการส่งออกนำเข้าของประเทศไทย
ไส้เดือนฝอยศัตรูพืช (Plant Parasitic Nematodes) เป็นสัตว์ขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายเส้นด้าย มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ ความยาวเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 0.2-2 มิลลิเมตร ส่วนปากมีอวัยวะที่มีลักษณะคล้ายเข็ม เรียกว่า stylet เป็นส่วนที่ใช้แทงเซลล์พืชและปล่อยเอ็นไซม์เพื่อเข้าทำลายและดูดสารอาหารจากพืช เปรียบเสมือนพยาธิพืชนั่นเอง ไส้เดือนฝอยเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยโดยการลอกคราบ โดยการลอกคราบครั้งแรกเกิดขึ้นในไข่ เป็นตัวอ่อนระยะที่สองซึ่งเป็นระยะเข้าทำลายพืช จากนั้นจะทำการลอกคราบอีก 3 ครั้งจนเป็นตัวเต็มวัย ไส้เดือนฝอยเพศเมียบางชนิดมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง คือ มีรูปร่างค่อนข้างกลมคล้ายผลมะนาว หรือมีลักษณะคล้ายถุง ไส้เดือนฝอยศัตรูพืชส่วนใหญ่ดำรงชีวิตในดินและเข้าทำลายรากพืช ทำให้พืชเกิดอาการรากปม รากแผล รากกุด รากเน่า เป็นต้น แต่มีบางชนิดที่สามารถเข้าทำลายพืชในส่วนที่อยู่เหนือดิน เช่น ใบ ดอก เมล็ด ทำให้เกิดโรคใบไหม้ บิดเบี้ยว เป็นต้น ทำความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับพืชโดยทำให้ผลผลิตเสียหายและคุณภาพผลผลิตลดลง
ไส้เดือนฝอยศัตรูพืชมีหลายชนิด โดยชนิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงในประเทศไทย ได้แก่ ไส้เดือนฝอยรากปม มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Meloidogyne spp. เป็นศัตรูพืชชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจทุกกลุ่ม เช่น พืชหัว พืชผัก ไม้ผล พืชเส้นใย ไม้ดอก ไม้ประดับ และ ธัญพืช เป็นต้น มีพืชอาศัยมากกว่า 2,000 ชนิด เช่น มันฝรั่ง พริก มะเขือเทศ ยาสูบ ขิง ฝรั่ง ข้าว ฝ้าย เยอบีรา ฯลฯ โดยทำให้พืชแสดงอาการแคระแกรน โตช้า ใบเหลือง เหี่ยว ผลผลิตได้รับความเสียหาย เนื่องจากระบบรากถูกทำลาย ทำให้เกิดปุ่มปมจำนวนมากที่รากพืช โดยไส้เดือนฝอยระยะเข้าทำลายจะใช้อวัยวะที่เรียกว่า stylet แทงเข้ารากพืชและปล่อยเอ็นไซม์เพื่อทำลายเซลล์รากให้อ่อนนุ่ม จากนั้นตัวอ่อนไส้เดือนฝอยจะเข้าไปในรากพืชและดูดสารอาหารจากพืช ทำให้สรีรวิทยาของพืชผิดปกติ ไส้เดือนฝอยจะลอกคราบอีก 3 ครั้งแล้วเจริญเป็นตัวเต็มวัย โดยเพศเมียจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างมีลักษณะค่อนข้างกลมและสามารถออกไข่ได้ประมาณ 100-250 ฟองได้โดยไม่ต้องรับน้ำเชื้อจากเพศผู้ โดยวงจรชีวิตของไส้เดือนฝอยใช้เวลาประมาณ 25 วันขึ้นอยู่กับอุณหภูมิเป็นหลัก โดยอุณหภูมิสูงจะครบวงจรชีวิตเร็วขึ้น
ในประเทศไทยไส้เดือนฝอยชนิดนี้ทำความเสียหายอย่างรุนแรงในพืชหลายชนิด เช่น มันฝรั่ง พริก มะเขือเทศ และฝรั่ง เป็นต้น ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างไส้เดือนฝอยรากปมของพริกและการป้องกันกำจัด จากข้อมูลการสำรวจพื้นที่และการให้บริการวิชาการเรื่องความรู้เรื่องการป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยรากปมในพริก โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับความร่วมมือจากสถานีวิจัยพืชไร่ จ. อุบลราชธานี ในหลายอำเภอได้ข้อมูลความเสียหายดังนี้ จังหวัดอุบลราชธานีปลูกพริก ประมาณ 7,861 ไร่ เฉลี่ยครอบครัวละ 1-3 ไร่ ส่วนใหญ่ปลูก 1 ครั้งต่อปี พบปัญหาไส้เดือนฝอยมากที่สุด และความเสียหายที่เกิดจากไส้เดือนฝอยรากปม ประมาณ 3,000 ไร่ ผลผลิตลดลง 50-100% นับเป็นมูลค่าถึง 50-80 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงมาก แนวทางการป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยรากปมในพริกโดยลดการใช้สารเคมีจึงมีความสำคัญ และพอสรุปได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการปลูกพริกอย่างต่อเนื่องบนพื้นที่เดิม ควรไถดินขึ้นและพักไว้ให้ความร้อนจากแสงแดดฆ่าตัวอ่อนและไข่ไส้เดือนฝอยรากปมในดิน
- หลีกเลี่ยงการปลูกพืชเหล่านี้หลังจากปลูกพริก เช่น มะเขือเทศ พืชตระกูลแตง พืชผักหลังจากการปลูกพริกเนื่องจากพืชเหล่านี้เป็นแหล่งอาหารที่ไส้เดือนฝอยรากปมสามารถเจริญและแพร่พันธุ์ได้เป็นอย่างดี ให้ปลูกพืชเหล่านี้สลับกับการปลูกพริก เช่น ดาวเรือง ถั่วลิสง หรือ ปอเทือง เพื่อลดประชากรของไส้เดือนฝอยในดิน นอกจากนี้ปอเทืองยังเป็นพืชบำรุงดินอีกด้วย การปลูกปอเทือง สามารถทำได้โดยหว่านเมล็ดปอเทืองในอัตรา 5 กิโลกรัมต่อพื่นที่ 1 ไร่ เมื่อปอเทืองอายุได้ประมาณ 45 วัน ทำการไถกลบเพื่อเพิ่มปริมาณปุ๋ยไนโตรเจนในดิน ทำให้พริกที่ปลูกในฤดูถัดมามีความสมบูรณ์มากขึ้น สามารถเพิ่มผลผลิตได้
- เพื่อลดการเข้าทำลายของไส้เดือนฝอยรากปมในระยะแรก ให้ใช้ฟางข้าวหรือแกลบคลุมแปลงเพาะกล้าพริกและเผาเพื่อให้ความร้อนทำลายไข่และตัวอ่อนของไส้เดือนฝอยและพักแปลงประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนเพาะกล้าพริกรุ่นถัดไป
โรคของพืชส่งออกที่เกิดจากไส้เดือนฝอย
อาการผิดปกติของพืชเกิดได้จากหลายสาเหตุ โรคพืชที่พบว่าไม่ได้เกิดจากเชื้อก่อโรค (casual organisms) อาจเกิดจากการขาดธาตุอาหารเพราะความอุดมสมบูรณ์ของดินมีน้อย ส่วนปัญหาโรคของพืชที่เกิดจากเชื้อก่อโรคชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส ไส้เดือนฝอย ตลอดจนพืชชั้นสูงบางชนิด เช่น กาฝาก ฝอยทอง พืชก็จะแสดงอาการใบเล็กลง ใบจุด ใบไหม้ใบเหลืองซีด กิ่งก้านสั้น ลำต้นแคระแกรน รากกุด รากปม สรุปรวมว่าทำให้ผลผลิตลดลง การควบคุมไม่ให้เกิดโรคจึงต้องแก้ไขตามสาเหตุ กรณีที่มีเชื้อก่อโรค ข้อแรกที่ควรคำนึงถึงคือ การป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปสู่แปลงปลูกพืช มีการตั้งข้อตกลงเป็นกฎหมายกักกันพืช(Plant quarantine)ในแต่ละท้องถิ่นหรือแต่ละประเทศ
ผลผลิตของพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ เมื่อมีการเคลื่อนย้ายจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่งนั้น ชิ้นส่วนของพืชดังกล่าว มักถูกปฏิบัติในสภาพแปลงปลูกมาหลายวิธีแล้วเช่น การฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชชนิดต่าง ๆ การให้ปุ๋ยทางรากหรือทางใบ ซึ่งก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผลตามวัตถุประสงค์ ซึ่งก็ต้องมีหน่วยงานที่ทำการตรวจสอบตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น ตรวจสอบพิษตกค้างของสารเคมี ตรวจสอบศัตรูพืชที่ผลผลิตเพื่อป้องกันมิให้ไปแพร่ระบาดยังแหล่งใหม่ว่ามีเชื้อก่อโรคชนิดใดติดไปได้หรือไม่ เช่น ใบคื่นช่ายมีโรคใบจุดเกิดจากเชื้อรา ดอกกล้วยไม้มีโรคใบด่างจากเชื้อไวรัส ผลส้มโอมีโรคแผลสะเก็ดหรือแคงเกอร์จากเชื้อแบคทีเรีย ตลอดจนผักชีมีโรครากปมเกิดจากไส้เดือนฝอย
ในส่วนของไส้เดือนฝอยศัตรูพืช เนื่องจากเป็นเชื้อก่อโรคที่มีนิเวศวิทยาที่สำคัญคือมีถิ่นอาศัยอยู่ในดิน และต้องมีความชื้น ปัญหาไส้เดือนฝอยศัตรูพืชจึงเกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนของพืชที่อยู่ในดินคือลำต้น รากและส่วนสะสมอาหารเช่น หัว แง่ง เหง้า เป็นต้น ส่วนเหนือดินขึ้นไป ในประเทศไทยไม่ค่อยพบไส้เดือนฝอยศัตรูพืช แต่บางประเทศที่นำเข้าพืชผักจากประเทศไทยก็ให้มีการรับรองสินค้าว่าไม่มีไส้เดือนฝอยติดมา เช่น ประเทศไต้หวันให้รับรองว่าสินค้าพวก หน่อไม้ฝรั่ง ผักกาดหอม พลู ไม่มีไส้เดือนฝอย Ditylenchus dipsaci
พืชหลายชนิดที่ส่งเป็นสินค้าออก ประวัติการตรวจพบไส้เดือนฝอยศัตรูพืชที่ผ่านมาที่พบมากคือไส้เดือนฝอยรากปม Meloidogyne incognita ซึ่งเป็นไส้เดือนฝอยที่พบระบาดอยู่ทั่วไปในหลายประเทศ ไม่จัดว่าเป็นศัตรูพืชกักกัน มักพบกับพืชผักที่ต้องส่งออกทั้งราก เช่น คื่นช่าย ต้นหอม ผักชีไทย ผักชีฝรั่ง ผักบุ้งจีน เป็นต้น ปัจจุบันตรวจไม่พบ เพราะผู้ส่งออก มักจะตัดรากที่โคนต้นออก ทำให้สูญเสียน้ำหนักไปบ้าง แต่บางรายใช้วิธีตัดรากฝอยเหลือแต่รากแก้วแล้วขูดผิวออก ไส้เดือนฝอยยรากปมที่จัดเป็นศัตรูพืชกักกันแต่ไม่พบในประเทศไทย เช่น M. chitwoodi
ไม้ดอกบางชนิดเช่นกล้วยไม้ ต้องมีการจุ่มสารเคมีกำจัดโรคและแมลง ซึ่งบางชนิดส่งออกแต่รากเพื่อใช้เป็นเครื่องตบแต่งประดับสถานที่ ตรวจไม่พบไส้เดือนฝอยกักกันคือ Aphelenchoides besseyi
พืชที่ไม่ได้ปลูกในดินเช่น ฟิโลเดนดรอน และหน้าวัว ปลูกอยู่ในวัสดุพวกกาบมะพร้าวสับ ตรวจพบไส้เดือนฝอยรากโพรง Radophorus similis ซึ่งไม่เป็นไส้เดือนฝอยกักกัน แต่บางประเทศมีข้อห้าม เช่น ประเทศเกาหลีใต้เคยตรวจพบและห้ามนำเข้าพืชดังกล่าวจากประเทศไทย
ประเทศไทยเป็นแหล่งปลูกข้าว จึงพบไส้เดือนฝอยรากข้าว Hirschmanniella oryzae และไส้เดือนฝอยรากปม Meloidogyne graminicola ในบางแห่ง ทำให้พรรณไม้น้ำหลายชนิด ส่วนใหญ่ที่นำไปเลี้ยงในตู้ปลาสวยงามหลายประเทศในสหภาพยุโรปมีข้อห้ามระบุมิให้มีไส้เดือนฝอยกักกันคือ ไส้เดือนฝอยรากข้าว Hirschmanniella spp. เข้าประเทศ เพราะกลัวว่าประเทศไทยอาจนำน้ำจากนาข้าวไปใช้ปลูกไม้น้ำ ปัจจุบันพบน้อยเพราะเกษตรกรส่วนมากใช้สารเคมี carbofuran หว่านในนาเพื่อป้องกันเพลี้ยจั๊กจั่นและแมลงปากดูดต่างๆ ซึ่งก็ทำลายไส้เดือนฝอยดังกล่าวด้วย และแหล่งปลูกพรรณไม้น้ำส่วนใหญ่ใช้น้ำที่ผ่านกรรมวิธีหลายขั้นตอนแล้ว
การส่งออกสินค้าเกษตรไปต่างประเทศ เพื่อนำเงินตราเข้าประเทศ ไส้เดือนฝอยตัวเล็กๆ ก็อาจสร้างปัญหาได้ ถ้าทำให้ประเทศนำเข้าพบปัญหาดังกล่าว
คำบรรยายภาพ: ความเสียหายของพืชอันเนื่องมาจากไส้เดือนฝอยศัตรูพืช
|