การปรับปรุงพันธุ์คำฝอย : การปลูกและการผลิตชาคำฝอย

       

           คำฝอย (safflower, Carthamus tinctorius L.) เป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งเมล็ดและกลีบดอก น้ำมันคำฝอยมีคุณสมบัติที่ดีสำหรับบริโภคเนื่องจากมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวโอลิอิกและลิโนเลอิก อยู่ในปริมาณค่อนข้างสูง และยังนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น มาร์การีน น้ำมันสลัด สีและน้ำมันขัดเงา เนื่องจากมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวลิโนลินิคต่ำ จึงทำให้มีคุณสมบัติในการรักษาสีไว้ได้ดีและไม่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง กากเมล็ดที่เหลือจากการสกัดน้ำมันจะมีโปรตีนสูง ใช้เป็นอาหารสัตว์หรือปุ๋ยได้ดี นอกจากนี้กลีบดอกคำฝอยตากแห้งยังเป็นแหล่งของสีย้อมผ้า สีประกอบอาหารและนำมาใช้เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ บำรุงหัวใจ โลหิต บำรุงประสาท ลดคลอเรสเตอรอลในเส้นเลือด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ช่วยระบบการหมุนเวียนโลหิตและลดความดันโลหิต
          โครงการปรับปรุงพันธุ์คำฝอยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แนะนำคำฝอยไร้หนามพันธุ์พานทอง แก่เกษตรกร ในปี พ.ศ.2542ซึ่งให้ผลผลิตเมล็ด และกลีบดอกอยู่ในระดับดี มีเปอร์เซ็นต์กรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง กลีบดอกมีสีส้มแดงเหมาะสำหรับทำชาคำฝอย ดังนั้นการปลูกคำฝอยไร้หนามจะทำให้การเข้าไปปฎิบัติงานและการเก็บกลีบดอกทำได้สะดวก
           การปลูกคำฝอย ในพื้นที่อาศัยน้ำฝนเวลาที่เหมาะสมคือ ประมาณกลางเดือนกันยายน - กลางเดือนตุลาคม ซึ่งดินยังมีความชื้นเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของคำฝอย และการตากกลีบดอกคำฝอยก็จะไม่มีฝน ถ้าในพื้นที่ที่มีน้ำชลประทานสามารถปลูกได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมกราคม 
           วิธีการปลูก การเตรียมดิน ควรไถอย่างน้อย1-2 ครั้ง แล้วพรวน คำฝอยเป็นพืชที่มีรากลึก การใช้ไถซี่ หรือไถดินให้ลึกจะช่วยให้รากคำฝอยเจริญเติบโตได้ดี การปลูกคำฝอยมี 2 วิธี คือปลูกแบบหว่าน และปลูกเป็นแถว ปลูกแบบหว่านใช้เมล็ด 2.5-3 กก./ไร่ ปลูกเป็นแถวใช้เมล็ด 1.5-2 กก./ไร่ใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 30- 50 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้นประมาณ 20 เซนติเมตร จำนวน1 ต้น/หลุม สำหรับการปลูกเพื่อเก็บกลีบดอกควรใช้ระยะปลูก 30x20 เซนติเมตร หรือ30x25 เซนติเมตร โดยปลูกคำฝอย 5 แถว และเว้น 1 แถวเพื่อสะดวกในการเข้าไปเก็บกลีบดอก
           การเก็บกลีบดอก คำฝอยมีการเจริญเติบโตแบบทอดยอด ดอกจะทยอยบาน สำหรับคำฝอยพันธุ์พานทองจะมีช่วงการออกดอกประมาณ 30 วัน โดยคำฝอยที่ลำต้นหลักจะบานก่อน เมื่อดอกคำฝอยบานประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของต้น เริ่มเก็บกลีบดอก การเก็บกลีบดอกควรเก็บ 3 วันต่อครั้ง ดอกคำฝอยที่เหมาะสมในการเก็บ คือ กลีบดอกชั้นนอกสุดสลดลง ดังรูปที่ 1 จะทำให้กลีบดอกหลุดจากดอกได้ง่าย การติดเมล็ดและการพัฒนาของเมล็ดจะสมบูรณ์ดี นำกลีบดอกมาใส่ภาชนะ เช่น ถาด หรือกระด้ง คลุมด้วยถุงผ้าบางๆเพื่อกันฝุ่น และนำไปผึ่งแดดให้แห้ง การตากกลีบดอกควรตากให้แห้งสนิท และเก็บใส่ถุงพลาสติกหรือถุงผ้า และนำไปไว้ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ถ้ามีตู้อบแห้ง นำกลีบดอกคำฝอยที่ตากแห้งไปอบที่อุณหภูมิ 400 C ประมาณ  4 ชั่วโมงจะทำให้เก็บกลีบดอกคำฝอยไว้นานไม่มีแมลงเกิดขึ้น


                  ข้อควรระวัง   ห้ามนำกลีบดอกสดมาอบให้แห้งด้วยตู้อบเพราะจะทำให้กลีบดอกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองคล้ำไม่เป็นสีส้มแดง
                  การเก็บเกี่ยวเมล็ด  คำฝอยเมื่อสุกแก่เมล็ดจะไม่ร่วง ระยะเวลาที่เหมาะสมแก่การเก็บเกี่ยวเมล็ดคือ ประมาณ 29-30 วัน หลังจากดอกทั้งต้นบานหมดแล้ว ตัดคำฝอยทั้งต้นโดยใช้แรงงานคน หรือเครื่องเก็บเกี่ยว ถั่วเหลือง งา หรือข้าวแล้วนำไปใส่ถุงผ้าใช้ไม้ทุบเพื่อให้เมล็ดร่วง หรือจะใช้เครื่องนวดถั่วเหลืองกะเทาะเมล็ดออกก็ได้ จากนั้นทำความสะอาดฝุ่น และเศษผงออก นำเมล็ดใส่ถุงผ้าดิบหรือกระสอบป่านเก็บไว้ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี

                                                             

 

  
คณะผู้วิจัย :
วาสนา วงษ์ใหญ่  วัชรี  เลิศมงคล และ อัญชุลี คชชา
หน่วยงาน :
ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร 02-5793130