งาดำพันธุ์ใหม่ “CM – 07” ฝักต้านทานการแตก

       
            พันธุ์งาที่ปลูกเป็นการค้าทั่วโลกเกือบทั้งหมดเป็นพันธุ์ฝักแตกเมื่อสุกแก่ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เมล็ดร่วงก่อนหรือขณะเก็บเกี่ยวหรือหลังเก็บเกี่ยว โครงการปรับปรุงพันธุ์งา ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แนะนำพันธุ์งาดำ มก.18 ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ซึ่งงาดำพันธุ์ มก.18 เป็นงาที่มีรสชาติอร่อย กลิ่นหอม สีดำสนิทและไม่ละลายเมื่อแช่น้ำ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น แต่พันธุ์ มก.18 มีข้อบกพร่องคือฝักแตกเมื่อสุกแก่

           งาดำพันธุ์ CM - 07  มีลักษณะฝักต้านทานการแตกเป็นพันธุ์แท้ (pure line variety)
พัฒนาพันธุ์มาจากคู่ผสม KUsr6040 x China2 โดยวิธีการคัดเลือกแบบจดประวัติ (pedigree selection) ได้สายพันธุ์ TQ8069 (KUsr6040 x China2 – 3 – 2 – 2 – 1) เมื่อเกษตรกรปลูกงาพันธุ์นี้ สามารถเก็บเมล็ดไว้เป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกต่อได้
           ลักษณะฝักต้านทานการแตก (shatter resistance) หมายถึง เมื่อฝักสุกแก่ ปลายฝักเปิดอ้า เมล็ดร่วงจากฝักเล็กน้อย งาดำพันธุ์ CM - 07  เมื่อตรวจสอบการร่วงของเมล็ดจากฝักโดยการเขย่าฝักและนำฝักมาคว่ำปลายฝักลง พบว่ามีเมล็ดคงเหลืออยู่ในฝักประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ สำหรับงาดำพันธุ์ CM - 07  นี้ พบว่ามีต้นงาที่ฝักปิดสนิท (closed capsule) ด้วยประมาณ 2 – 50 เปอร์เซ็นต์ สามารถนำเครื่องนวดข้าว ถั่วเหลืองหรือถั่วเขียวมาใช้ในการกะเทาะเมล็ดได้ ซึ่งเปลือกหุ้มเมล็ดไม่ได้รับความเสียหาย ลักษณะฝักต้านทานการแตกนี้ช่วยลดการสูญเสียผลผลิตจากเมล็ดร่วงได้ ซึ่งแตกต่างจากพันธุ์งาฝักแตกที่ปลูกกันอยู่ทั่วไป

ลักษณะประจำพันธุ์
อายุวันออกดอก                                                   36         วัน
อายุเก็บเกี่ยว                                                      92-100   วัน
ช่วงการออกดอก                                                 34          วัน
ความสูง                                                             93-100   ซม.
ทรงต้น                                                               แตกกิ่ง จำนวน 2-4 กิ่ง
จำนวนฝักต่อต้น                                                 106         ฝัก
เมล็ดคงเหลืออยู่ในฝัก                                        95           เปอร์เซ็นต์
ลักษณะฝัก                                                        2  คาร์เพล (bicarpellate)
การเรียงตัวของฝัก                                              แบบตรงกันข้าม และเวียนสลับรอบลำต้น
จำนวนฝักต่อมุมใบ                                             1              ฝัก/มุมใบ
น้ำหนัก 1,000 เมล็ด                                            3.96        กรัม
ผลผลิต                                                             360         กก./ไร่
สีเมล็ด                                                             สีดำเปลือกหุ้มเมล็ดชั้นเดียว

เมล็ดงาดำพันธุ์ใหม่

ฝักต้านทานการแตก

ลำต้นแตกกิ่ง 2 – 5 กิ่ง                                 

ภาพที่ 1 ลักษณะงาดำพันธุ์ใหม่ CM - 07  (TQ8069)


  
คณะผู้วิจัย :
วาสนา  วงษ์ใหญ่  วัชรี  เลิศมงคล และ อัญชุลี  คชชา
หน่วยงาน :
ภาควิชาพืชไร่นา  คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 02-579-3130