การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชในสกุลเร่ว
       

             เร่ว เป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านของไทยชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นหอมและมีน้ำมันหอมระเหยเป็นองค์ประกอบ เป็นพืชที่มีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้มีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมนโยบายของรัฐในยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุล และแข่งขันได้ของประเทศ

            เร่วตามที่มีการนำมาใช้ประโยชน์โดยทั่วไปมี  2 กลุ่ม คือ เร่วหอมซึ่งใช้ส่วนรากที่มีกลิ่นหอม และเร่วธรรมดาหรือเร่วกระวาน (Bastard  cardamom) ใช้ผลที่มีกลิ่นหอมเรียกกันว่า ลูกเร่วเร่วหอม ลำต้นสาก สีเขียวอมแดง โคนต้นสีแดงเรื่อ เหง้าใต้ดินสีอมชมพู มีกลิ่นหอม


          เร่วธรรมดา หรือเร่วกระวาน ลำต้นเรียบลื่น สีเขียวเข้ม
โคนต้นสีขาว เหง้าใต้ดินสีขาวนวล ไม่มีกลิ่นหอม ดอกแทงช่อดอกจากเหง้าใต้ดิน ก้านช่อดอกยาว 4-6 เซนติเมตร ดอกสีแดง ขนาด 2.5-4 เซนติเมตร ผล เป็นช่อเปลือกผลมีขนคล้ายผลเงาะขนาด 1.5-2 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มเรียงตัวอัดกันแน่นอยู่เป็นจำนวนมาก

การใช้ประโยชน์โดยทั่วๆไป :
เร่วธรรมดา ใช้ผลเป็นเครื่องเทศ ที่ ในทางยาใช้ปรุงยาขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ จุกเสียด
เร่วหอม ใช้ ราก ซึ่งมีกลิ่นหอมเป็นเครื่องเทศปรุงน้ำก๋วยเตี๋ยวเนื้อเลียง แกงป่า ผัดเผ็ด และน้ำต้มเนื้อ
สารสกัดจากลูกเร่วมีคุณสมบัติในการรักษาโรคกระเพาะอาหารที่เกิดจากเชื้อ Helicobacter pylori ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร (Lee Y.S., et al.,  2007)
นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื่อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับอาหารได้อีกด้วย (Natta L. et al., 2008)

               จากการนำไหลและเหง้าของเร่วหอมมาทำการสกัดน้ำมันหอมระเหยด้วยวิธีการกลั่นด้วยไอน้ำ และ พบว่า ที่อุณหภูมิ 120-125 °C ภายใต้ความดัน 30 psi ให้ผลผลิตน้ำมันอยู่ในระหว่าง 0.13- 0.25 % โดยน้ำหนักต่อน้ำหนักสด (%W/W) น้ำมันมีลักษณะใสและมีความหนาแน่นอยู่ระหว่าง 0.91-0.98 ขึ้นอยู่กับความอ่อนแก่ของวัตถุดิบ  การสกัดด้วยแอลกอฮอล์ในรูปของสารสกัด

             ทิงเจอร์ให้สารสกัดสีน้ำตาลมีกลิ่นหอม สารสกัดทั้งสองรูป สามารถนำไปเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์จำพวกลูกกวาด น้ำยาบ้วนปาก ยาสีฟัน และผลิตภัณฑ์อื่นๆได้
จากการทำให้แห้งพบว่าไหลของเร่วหอมมีเปอร์เซ็นต์น้ำสูงถึง 83 %  (เร่วสดน้ำหนัก 10 กก. อบแล้วเหลือน้ำหนักแห้ง 1.7 กก.)  อบแล้วยังมีกลิ่นหอม สามารถนำไปใช้เป็นแท่งสำหรับคนเครื่องดื่มร้อน เช่น กาแฟ หรือชา เพื่อให้กลิ่นหอมเช่นเดียวกับเปลือกของอบเชย (cinnamon) ได้
References:
Lee Y.S., Kang M.H., ChoS.Y., and Jeong C.S. (2007) Effects of Constituents of Amomum xanthioides on Gastritis in Rats and on Growth of Gastric Cancer Cells. Arch Pharm Res. 30(4), 436-443
Natta L., Orapin K., Krittika N. and Pantip B. (2008) Essential oil from five Zingiberaceae for anti food-borne bacteria. International Food Research Journal.. 15(3):(In Press)


  
คณะผู้วิจัย :
สุรัตน์วดี จิวะจินดา1  มณฑา วงศ์มณีโรจน์ 1 และ ณัฐวัฒน์  คลังทรัพย์ 2
หน่วยงาน :
1ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง  สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 73140 โทร. 0-3435-1399
2สถานีวิจัยวนเกษตรตราด สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อ.เมือง จ.ตราด