การใช้ปุ๋ยพืชสดเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน สำหรับการเพาะปลูกข้าวโพดไร่ในประเทศไทย

       

          การใช้พืชตระกูลถั่วเขตร้อนเป็นพืชปุ๋ยสด (หรือพืชบำรุงดิน)  เพื่อปรับปรุงบำรุงดินสำหรับการเพาะปลูกข้าวโพดไร่ในประเทศไทย  มีศักยภาพสูงมาก ปุ๋ยพืชสดสามารถทดแทนปุ๋ยไนโตรเจน  ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่ข้าวโพดต้องการปริมาณมากในการเจริญเติบโต  และเป็นธาตุอาหารที่สิ้นเปลือง  กล่าวคือใช้แล้วหมดไป  ไม่มีการเก็บสะสมในดิน
การศึกษาพบว่า การปลูกพืชปุ๋ยสดในขบวนการปรับปรุงบำรุงดิน  สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวโพดได้เท่าตัว 

                               ธาตุอาหาร                                                                           ปริมาณ ( % )
                                       N                                                                                  2.3 – 2.9
                                       P                                                                                  0.2 – 0.5
                                       K                                                                                  1.1 – 2.8
                                       Ca                                                                                0.4 – 2.0
                                       Mg                                                                               1.6 – 2.1
                                       S                                                                                  0.5 – 0.9
                หมายเหตุ: ปริมาณที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับอายุของพืชนั้นๆ

ปัจจัยหลักที่ควบคุมการใช้พืชปุ๋ยสดหรือพืชบำรุงดินในข้าวโพด
             1.  ความหลากหลายของพืชตระกูลถั่ว ชนิดของพืชตระกูลถั่วที่จะนำมาใช้เป็นพืชปุ๋ยสด เพื่อการปรับปรุงบำรุงดินมีความหลากหลายมาก ทั้งในด้านสัณฐานวิทยา และสรีรวิทยา องค์ความรู้ในการนำพืชตระกูลถั่วเหล่านี้ มาใช้ในระบบการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจแต่ละชนิดยังมีจำนวนจำกัดมาก

                          2. ฤดูกาลเพาะปลูก ในรอบหนึ่งปี บริเวณที่ปลูกข้าวโพดของประเทศไทยมีระยะเวลาจำกัด สำหรับการเจริญเติบโตของพืช ในที่นี้ได้แก่ ข้าวโพดและพืชตระกูลถั่ว ที่จะปลูกเป็นพืชปุ๋ยสด กล่าวคือ ในรอบหนึ่งปี ประเทศไทยมีระยะเวลาสำหรับพืชในการงอก และเจริญเติบโตโดยอาศัยความชื้นในดินจากฝนที่ตกลงมาประมาณ 180 วัน หรือ 6 เดือน (ฝนเริ่มตกประมาณกลางเดือนเมษายนและสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม) และเนื่องจากพันธุ์ข้าวโพดที่ใช้เพาะปลูกทั่วไปในประเทศไทยใช้เวลาตั้งแต่งอกจนเก็บเกี่ยว ประมาณ 120 วัน หรือ 4 เดือน นั้นหมายความว่า มีเวลาเหลือเพียง 60 วัน หรือ 2 เดือน สำหรับการเจริญเติบโตของพืชปุ๋ยสด ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างน้อย ถ้าต้องการผลิตพืชปุ๋ยสดให้ได้จำนวนมาก ๆ สำหรับปรับปรุงบำรุงดินและให้คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการปลูกพืชปุ๋ยสด รวมทั้งรายได้ที่อาจขาดหายไปจากช่วงเวลาดังกล่าว จึงควรใช้พืชปุ๋ยสดที่มีการพักตัวของเมล็ด (hard seeds) เพื่อสร้างคลังเมล็ดในดิน (seeds bank) ซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปลูกพืชปุ๋ยสดทุกครั้ง

พืชตระกูลถั่วที่ใช้เป็นพืชปุ๋ยสด หรือบำรุงดินในระบบนี้ ได้แก่

  1. ไมยราบไร้หนาม

ชื่อสามัญ               : Thornless mimosa
ชื่อวิทยาศาสตร์    : Momosa invisa
Family Name       : Leguminosae
Sub-Family Name: Mimosoideae

  1. ไมยรา

ชื่อสามัญ               : Hedge lucern
ชื่อวิทยาศาสตร์    : Desmanthus virgatus
Family Name       : Leguminosae
Sub-Family Name: Mimosoideae

            ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พัฒนาระบบการเพาะปลูกข้าวโพด ที่มีพืชตระกูลถั่วเป็นพืชปุ๋ยสด ที่สามารถแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้น โดยการสร้างคลังเมล็ดพืชตระกูลถั่วในดิน ในแปลงเพาะปลูกข้าวโพด (ดังรูปที่แสดง) โดยในปีแรก ควรปลูกพืชปุ๋ยสดแซมในแปลงข้าวโพดที่ปลูกในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม พืชปุ๋ยสดจะเจริญเติบโตและสร้างเมล็ดในช่วงตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงปลายพฤศจิกายน และปล่อยเมล็ดลงสู่ดินเป็นคลังเมล็ดสำหรับฤดูกาลถัดไป ซึ่งพืชปุ๋ยสดจะงอกในฤดูถัดไป เมื่อเริ่มมีฝน (ประมาณกลางเมษายน) และพืชปุ๋ยสดนี้จะมีระยะในการเจริญเติบโตประมาณ 2 เดือน ก่อนไถกลบ หลังจากนั้นจึงปลูกข้าวโพด ซึ่งข้าวโพดจะได้รับปุ๋ยจากการไถกลบพืชปุ๋ยสดนี้
            นอกจากนั้นยังมีเมล็ดส่วนหนึ่งที่เหลือจากการงอกครั้งแรก งอกขึ้นแซมในแปลงข้าวโพด ซึ่งต้นเหล่านี้จะผลิตเมล็ดพืชปุ๋ยสดเติมลงไปในคลังเมล็ดในดิน สำหรับฤดูกาลถัดไป
             จะเห็นว่าขบวนการนี้ ทำให้มีพืชปุ๋ยสดในระบบการเพาะปลูกข้าวโพดทุกปี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปลูกพืชปุ๋ยสดหรือพืชบำรุงดินเลย


  
คณะผู้วิจัย :
สุขุม  โชติช่วงมณีรัตน์ และ นายราวุฒิ  น่วมปฐม
หน่วยงาน :
ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 044 361770-6