มะเดื่อฝรั่ง หรือ Fig มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ficus carica L. อยู่ในวงศ์ Moraceae เช่นเดียวกับพวกหม่อน (mulberry) มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันตก มีการปลูกมะเดื่อฝรั่งมานับพันปีในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำเมดิเตอร์เรเนียนของยุโรปและแอฟริกาเหนือ (Manago, 2006) ปัจจุบันการปลูกมะเดื่อฝรั่งได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในประเทศสเปน ตุรกี และอิตาลี บางพันธุ์สามารถปลูกได้ในแคลิฟอร์เนียทางใต้และพื้นที่แห้งแล้งของอเมริกา มะเดื่อฝรั่งเป็นแหล่งที่ดีของเส้นใยอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อขบวนการกำจัดของเสียของร่างกาย ในผลสดมีปริมาณเส้นใยอาหาร 1.2 % ส่วนในผลอบแห้งสูงถึง 5.6% กล่าวได้ว่ามะเดื่อฝรั่งเป็นผลไม้ที่น่าสนใจมากในแง่ของอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เกลือโปแตสเซียมในกรดอินทรีย์ของมะเดื่อฝรั่งช่วยสร้างความสมดุลระหว่างความเป็นกรด-ด่างในร่างกายโดยไม่ให้เกิดกรดมากเกินไป นอกจากนี้ยังพบว่ามีโปรตีน เอ็นไซม์ วิตามินและเกลือแร่ชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย
มะเดื่อฝรั่งเป็นต้นไม้ที่มีอายุยืนยาวได้มากกว่า 100 ปี ในทางการค้าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานหลายสิบปีขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน สภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการเขตกรรมที่เหมาะสมสามารถให้ผลผลิตได้ 1 – 2 ครั้งต่อปี ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสายพันธ์และสภาพแวดล้อมในพื้นที่ปลูก ในฤดูใบไม้ผลิ ผลรุ่นที่หนึ่งจะพัฒนามาจากตาที่เกิดจากกิ่งปีที่แล้ว ส่วนผลรุ่นที่สองจะเกิดจากกิ่งที่กำลังเจริญเติบโต ในช่วงเวลาที่ถัดมาและพบว่ามีจำนวนมากกว่าชุดแรก
ปัจจุบันพบว่าผลผลิตทั่วโลกประมาณ 90% จะถูกแปรรูปเป็นผลไม้แห้ง นอกนั้นจะใช้รับประทานเป็นผลสดโดยเก็บเกี่ยวจากต้น ซึ่งต้องมีการคัดเลือก บรรจุลงภาชนะอย่างระมัดระวัง และเก็บไว้ในที่ที่มีความเย็นก่อนถึงตลาดหรือผู้บริโภค มีปริมาณน้อยมากที่บรรจุลงในกระป๋องหรือทำการแปรรูปอื่น ๆ
ในประเทศไทย มูลนิธิโครงการหลวงมีการศึกษาวิจัยมะเดื่อฝรั่งมานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยมีจุดประสงค์ที่มุ่งเน้นการปลูกพืชที่สร้างรายได้ให้กับชาวไทยภูเขาทดแทนฝิ่น ตามสถานีวิจัยต่าง ๆ ของมูลนิธิโครงการหลวง กระทั่งปัจจุบันการศึกษาวิจัยได้ทำการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา กายวิภาควิทยา และการเจริญเติบโตของมะเดื่อฝรั่งบางสายพันธุ์ โดยเน้นไปที่การปรับตัวและการให้ผลผลิตในสภาพพื้นที่สูงในเขตร้อนโดยทั่วไปมะเดื่อฝรั่งสามารถเจริญเติบโตได้ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600 ถึง 800 เมตรได้
มะเดื่อฝรั่งเป็นพืชที่ต้องการความหนาวเย็นเพื่อใช้ทำลายการพักตัวที่สั้นมาก (low chilling requirement) โดยต้องการอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 7 0C เป็นเวลาไม่ถึง 300 ชั่วโมง สามารถทนต่อความหนาวเย็นหรือน้ำค้างแข็งได้น้อยกว่าพืชเขตหนาวอื่น ๆ ในสภาพที่มีน้ำค้างแข็งและอุณหภูมิ -5 ถึง -10 0C อาจทำให้ต้นตายถึงระดับพื้นดินได้ การพัฒนาของผลที่ดีต้องการช่วงเวลาที่แห้งและอบอุ่นเป็นเวลานานหลายเดือน
ลักษณะทางสัณฐานวิทยา ลำต้นจะเป็นเนื้อไม้สีอ่อนที่แยกหลุดออกได้ง่าย และไม่พบส่วนที่เป็นไส้ไม้ (pith) อยู่ ใบมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว ส่วนใหญ่ขอบใบหยักลึก 3-5 หยัก แต่ก็อาจพบลักษณะที่ตรงไม่หยัก ทำให้ภายในต้นเดียวกันมีรูปร่างใบได้หลายแบบและใช้ในการจำแนกสายพันธุ์ได้ มีความหนาและค่อนข้างแข็ง ก้านใบที่อยู่ในพื้นที่ร่มจะมีความยาวกว่าส่วนที่อยู่ในพื้นที่กลางแจ้ง สีของก้านใบจะมีความสัมพันธ์กับสีของผลและตายอด ดอกมีขนาดเล็กอยู่ภายในส่วนที่เป็นฐานรองดอก มีสามประเภทได้แก่ ดอกตัวเมียที่มีก้านเกสรเพศเมีย (style) ยาว ดอกตัวเมียที่มีก้านเกสรเพศเมียสั้น (ดอกทั้งสองชนิดสามารถเกิดการผสมเกสรและเจริญต่อไปเป็นผล) และดอกตัวผู้ ผลของมะเดื่อฝรั่งไม่ใช่ผลจริงแต่เป็น synconium หรือ ฐานรองดอกที่มีส่วนประกอบของช่อดอกมีก้านโค้งเข้าหากัน จัดเป็นแบบผลเมล็ดเดียว (drupelet) ขนาดเล็กเรียงอยู่ด้านในของก้านช่อดอก ผลจึงมีขนาดเล็ดคล้ายเมล็ด โดยขนาดและปริมาณผันแปรตามสายพันธุ์ พบว่ามีจำนวนประมาณ 1,500 ผลต่อมะเดื่อหนึ่งผล รูปทรงและขนาดของผลมะเดื่อมีหลายแบบขึ้นกับพันธุ์ เช่น กลวงโบ๋ (hallow) ทรงกลม (globular) หรือทรงระฆังเหมือนผลสาลี่ฝรั่ง (pear-shaped) และมีขนาดเล็กใหญ่ต่าง ๆ กัน ส่วนมากเมล็ดภายในมีลักษณะแบน สีเหลืองถึงน้ำตาลอ่อน จะมี endocarp ห่อหุ้ม ทำให้มีความแข็งเล็กน้อย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพืชชนิดนี้
โดยทั่วไปมีการแบ่งพืชชนิดนี้ออกเป็นสองประเภทหลัก ได้แก่ Adriatic fig คือพวกที่สามารถมีการเจริญแบบ parthenocarpic ไม่ต้องอาศัยการผสมเกสร ทำให้ปลูกได้ในสภาพพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำได้ พบว่าเมล็ดของประเภทนี้จะมีแต่ส่วนของ endrocarp เท่านั้น และภายในไม่มีคัพภะ มะเดื่อฝรั่งที่จัดอยู่ในประเภทนี้จะเป็นพวกที่มีความสำคัญในปัจจุบัน และมีสายพันทางการค้ามากมาย เช่น Brown Turkey, Burnswick, Kadota, Mission และ White Adriatic ส่วนอีกประเภทคือ Smyrna fig เป็นพวกที่มีเกสรตัวเมียต้องการการผสมเกสรสำหรับการให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และเมล็ดมีการพัฒนาของคัพภะ แต่ถ้าหากไม่ได้รับการผสมเกสรแล้ว ส่วนของผลจะร่วงได้
ในการปรับปรุงพันธุ์มะเดื่อฝรั่ง จะคัดเลือกสายพันธุ์ดีที่มีลักษณะที่ต้องการมาผสมข้ามสายพันธุ์ โดยการผสมเกสร จากนั้นเมื่อผลมะเดื่อสุก จึงเพาะเมล็ด และคัดเลือกลักษณะที่ตรงตามสายพันธุ์ที่ต้องการ เมื่อได้สายพันธุ์ดีจึงนำกิ่งพันธุ์ดีมาทำการเปลี่ยนยอดกับต้นตอในแปลงปลูก
สายพันธุ์และลักษณะที่น่าสนใจ
- Brown Turkey (ชื่ออื่น Turkey , Southeastern Brown turkey, San Piero , Black Spaish) เป็นพันธุ์ที่มีการปลูกกันมากที่สุด ผลมีขนาดใหญ่ รับประทานสด ผลผลิตชุดแรกมีขนาดใหญ่สีน้ำตาลเข้ม ผลชุดหลังมีขนาดเล็กกว่า เนื้อผลสีชมพูอ่อน ๆ ต้นมีขนาดเล็ก ถ้าถูกตัดแต่งมากจะกระทบต่อผลผลิต
- Celeste (ชื่ออื่น Blue Celeste, Celestial, Malta) ผลออกสีเหลืองแดงปนม่วง เนื้อเหลืองอำพันเหมือนสีดอกกุหลาบ รับประทานสด เป็นพันธุ์ที่ถูกแนะนำให้ปลูกโดยทั่วไป ต้นมีความแข็งแรง
- Kadota (ชื่ออื่น Florentine) ผิวผลมีความเหนียวและสีเหลืองเขียว ผลผลิตชุดแรกมีรสชาติที่ดีกว่า เป็นพันธุ์ที่ใช้ในการอบแห้งและแปรรูป ต้นมีความแข็งแรง ปกติไม่มีเมล็ด หรือ Seedless
- Conadria มีต้นกำเนิดแถบริมแม่น้ำในแคลิฟอร์เนีย ผลมีผิวบางและสีขาวเจือม่วง เนื้อผลสีขาวถึงแดง ไม่เน่าง่าย ต้นมีความแข็งแรง สามารถปลูกในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิได้
- Dauphine (ชื่ออื่น Ronde Violltte Hative, Adam, Pequadiere, Pl no. 18873) ปลูกในฝรั่งเศส ใช้บริโภคผลสด ทนทานต่อการขนส่ง ผลมีขนาดปานกลางถึงใหญ่ ผิวเป็นมัน ในสภาพกลางแจ้งผิวสีม่วงเข้ม และในร่มสีม่วงออกเขียว เนื้อหนา คุณภาพดี ผลรุ่นสองมีขนาดปานกลาง
|
|
ภาพที่ 5 ผลมะเดื่อฝรั่งอบแห้ง |
ภาพที่ 6 ผลมะเดื่อฝรั่งสด |
|
|
ภาพที่ 7 ต้นมะเดื่อฝรั่ง |
ภาพที่ 8 แปลงผลิตมะเดื่อฝรั่งของมูลนิธิโครงการหลวง |
|