อิทธิพลของสวนหย่อมต่อความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
Influence of Decorative Gardens on Carbon Dioxide Absorption Ability

       
            ปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี ค.ศ. 1800-2000 ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซับและสะท้อนกลับคลื่นรังสีความร้อน เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน โดยส่งผลให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวนทั่วโลก การเกิดขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะในเมืองขนาดใหญ่จะพบเห็นได้โดยง่าย เนื่องจากมีกิจกรรมต่างๆที่ส่งเสริมการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น ในเขตกรุงเทพมหานครที่มีการจราจรคับคั่ง เป็นต้น

          ในธรรมชาติพืชสร้างอาหารเพื่อการเจริญเติบโตด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสง โดยใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และแสง กระบวนการนี้จึงมีส่วนในการช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มก๊าซออกซิเจนในอากาศ  การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นด้วยการใช้ไม้ประดับต่าง ๆ นอกจากจะสร้างความสวยงามทางทัศนียภาพแล้วยังช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศด้วย ดังนั้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง เช่น สวนสาธารณะ จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่เหมาะสมในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ แม้ว่าในเขตเมืองจะมีพื้นที่สำหรับจัดทำพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ได้ยาก แต่การหาพื้นที่ขนาดเล็กจะมีความเป็นไปได้สูงกว่า เช่น การทำเป็นสวนหย่อมขนาดเล็กสอดแทรกอยู่ทั่วไป  ปัจจุบันการวิจัยเกี่ยวกับความสามารถของสวนหย่อมขนาดเล็กในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังมีน้อยมาก ทำให้ขาดข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็น การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสวนหย่อมต่อการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อนำข้อมูลไปใช้เป็นแนวทางเบื้องต้นในการกำหนดสัดส่วนของต้นไม้และสนามหญ้าในสวนหย่อมให้เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพในการช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมทั้งสามารถนำไปปรับใช้ในงานปรับปรุงภูมิทัศน์ได้ต่อไป

           ดำเนินการออกแบบและจัดสวนหย่อมขนาด  6.24  ตร.ม. (กว้าง x ยาว = 2.4 x 2.6 ม.) จำนวน 3 แบบ เลือกใช้ไม้ประดับกลางแจ้งที่นิยมในการจัดสวนและใบมีอัตราการสังเคราะห์แสงสุทธิสูง ได้แก่  ไทรยอดทอง ขาไก่ด่าง หูปลาช่อน แพงพวยฝรั่ง และเกล็ดแก้ว โดยปลูกร่วมกับหญ้านวลน้อยซึ่งเป็นลักษณะของการจัดสวนหย่อมทั่วไป สวนแต่ละแบบมีสัดส่วนของการใช้พื้นที่สนามหญ้าต่อพื้นที่ไม้ประดับต่างกัน 3 แบบ ดังนี้ 1) มีสนามหญ้า 100%  2) มีสัดส่วนของสนามหญ้า : ไม้ประดับ คิดเป็น 60% : 40% และ 2) มีสัดส่วนสนามหญ้า : ไม้ประดับ คิดเป็น 20% : 80% (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1 แผนผังสวนหย่อมที่มีสัดส่วนของสนามหญ้า : ไม้ประดับแตกต่างกัน 3 แบบ
A. สัดส่วนของสนามหญ้า  100%
B. สัดส่วนของสนามหญ้า 60% ต่อไม้ประดับ 40%
C. สัดส่วนของสนามหญ้า 20% ต่อไม้ประดับ 80%

           ตรวจวัดความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสวนหย่อมโดยใช้อุปกรณ์วัดอัตราการสังเคราะห์แสง (ภาพที่ 2) โดยบันทึกข้อมูลในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550

                        

ภาพที่ 2 อุปกรณ์ที่ใช้วัดอัตราการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสวนหย่อมทั้ง 3 แบบ

          อัตราการสังเคราะห์แสงสุทธิตลอดช่วงวันของสวนหย่อมทั้ง 3 แบบมีแนวโน้มคล้ายคลึงกัน โดยอัตราการสังเคราะห์แสงสุทธิมีค่าน้อยกว่า 0 µmol m-2s-1 ในช่วงเช้าตรู่และใกล้ค่ำ เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลากลางวัน อัตราการสังเคราะห์แสงสุทธิมีค่ามากกว่า 0 µmol m-2s-1 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามระดับความเข้มแสงในรอบวัน ในช่วงบ่ายอัตราการสังเคราะห์แสงสุทธิของสวนหย่อมที่มีสนามหญ้า 100% สวนหย่อมที่มีสัดส่วนของสนามหญ้า 60% ต่อไม้ประดับ 40% และสวนหย่อมที่มีสัดส่วนของสนามหญ้า 20% ต่อไม้ประดับ 80% มีค่าสูงสุดเป็น 32.2  25.9 และ 10.4 µmol m-2 s-1 ตามลำดับ  แสดงว่าความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสวนหย่อมมีความสัมพันธ์กับสัดส่วนของสนามหญ้าและไม้ประดับ โดยสวนหย่อมที่มีสนามหญ้า 100% สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงที่สุด ส่วนสวนหย่อมที่มีสนามหญ้า 20% มีความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ต่ำที่สุด  (ภาพที่ 3)

         ดังนั้นในสวนแห่งหนึ่ง ๆ นอกจากการปลูกพืชเพื่อให้สวยงามแล้ว  หากต้องการประโยชน์ในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศด้วย ควรแบ่งสัดส่วนให้มีเนื้อที่ของสนามหญ้าในปริมาณมากพอควร เช่นประมาณ 60% ขึ้นไป ถ้ามีพื้นที่ของสนามหญ้าน้อยกว่า 20 % ของเนื้อที่สวนหย่อมทั้งหมดจะทำให้การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ภาพที่ 3 อัตราการสังเคราะห์แสงสุทธิ (Pn) ตั้งแต่เวลา6.00-18.00 น.
A. สัดส่วนของสนามหญ้า  100%
B. สัดส่วนของสนามหญ้า 60% ต่อไม้ประดับ 40%
C. สัดส่วนของสนามหญ้า 20% ต่อไม้ประดับ 80%

 



  
คณะผู้วิจัย :
อิศรา  แพงสี  ณัฏฐ พิชกรรม และ พูนพิภพ  เกษมทรัพย์
หน่วยงาน :
ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์