การใช้ไมยราบไร้หนามเป็นปุ๋ยพืชสดในการผลิตข้าวโพดหวานฝักสด

       

             การผลิตข้าวโพดหวานฝักสดในบางพื้นที่ที่มีการเลี้ยงโค เกษตรกรจะมีผลพลอยได้จากการขายต้นสดหลังจากเก็บเกี่ยวฝักสดแล้ว ดังนั้นเมื่อปลูกข้าวโพดหวานซ้ำในพื้นที่เดิมเป็นเวลานานทำให้ผลผลิตข้าวโพดหวานฝักสดลดลงเนื่องจากดินขาดอินทรียวัตถุถึงแม้ว่าจะมีการใส่ปุ๋ยเคมีก็ตาม  การปลูกพืชตระกูลถั่วบำรุงดินแซมกับข้าวโพดหวานเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุและปริมาณธาตุอาหารในดินเป็นแนวทางหนึ่งที่น่าจะนำมาพิจารณาในการปรับปรุงบำรุงดินที่ใช้ปลูกข้าวโพดหวานฝักสดเพื่อเพิ่มผลผลิต อีกทั้งยังเป็นการลดการใช้ปุ๋ยเคมี พืชตระกูลถั่วบำรุงดินที่มีการทดลองแล้วว่าสามารถนำมาปลูกเพื่อปรับปรุงดินที่เสื่อมสภาพและเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในดินได้ดี ได้แก่ ไมยราบไร้หนาม (Thornless mimosa, Mimosa invisa inermis) ไมยราบไร้หนามสามารถขึ้นแซมระหว่างต้นข้าวโพดโดยไม่ต้องลดจำนวนต้นหรือปรับเปลี่ยนระยะปลูกข้าวโพด ทั้งนี้เนื่องจากไมยราบไร้หนามไม่เลื้อยพันต้นข้าวโพดและสามารถเจริญเติบโตได้ดีภายใต้ร่มเงาของต้นข้าวโพด และมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วหลังปลูกได้ 10 สัปดาห์ จนกระทั่งสัปดาห์ที่ 12 ไมยราบไร้หนามสามารถผลิตมวลชีวภาพ (biomass) ได้สูงสุดถึง 1,483 กก./ไร่   และเมื่อไถกลบลงไปในดินสามารถปลดปล่อยธาตุไนโตรเจนได้ 6.93 กก./ไร่  ฟอสฟอรัส 0.72 กก./ไร่ และโปแตสเซียม 4.38 กก./ไร่ (สุขุม, 2544) นอกจากนี้ Sukthumrong  et al. (1981) พบว่าไมยราบไร้หนามมีการสะสมไนโตรเจนได้ทั้งหมด 19.52 กก./ไร่  และสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ 16.32 กก./ไร่ ผลผลิตข้าวโพดที่ปลูกตามไมยราบไร้หนามที่ทำการไถกลบที่อายุ 3 เดือน จะให้ผลผลิตเท่ากันกับผลผลิตข้าวโพดที่ได้จากการใส่ปุ๋ย 16-20-0 อัตรา 48 กก./ไร่ และจากการทดลองปลูกในระยะยาว (long-term) พบว่าการปลูกไมยราบไร้หนามโดยไม่มีการใส่ปุ๋ยเคมี เป็นเวลา 4 เดือน แล้วไถกลบ สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวโพดได้ 63 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับแปลงปลูกข้าวโพดที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยเคมีและไม่มีการปลูกพืชบำรุงดิน  จากการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์พบว่า แปลงปลูกข้าวโพดที่มีการใช้ไมยราบไร้หนามและไม่มีการใส่ปุ๋ยเคมี มี profit/cost ratio เท่ากับ 3.03  อีกทั้ง Suwanarit et al. (1995) พบว่าการปลูกข้าวโพดแซมด้วยไมยราบไร้หนามเป็นปีที่ 2 ข้าวโพดให้ผลผลิตฝักสูงสุดเมื่อเทียบกับการปลูกข้าวโพดอย่างเดียว ทั้งนี้เนื่องจากถั่วปุ๋ยพืชสดที่ปลูกแซมข้าวโพดในปีก่อนช่วยปรับปรุงความสามารถในการให้ผลผลิตของดินขึ้น แต่การปลูกในปีที่ 1 ผลผลิตข้าวโพดที่ปลูกแซมด้วยไมยราบไร้หนามแสดงแนวโน้มที่จะให้ผลผลิตต่ำกว่าข้าวโพดที่ปลูกโดยลำพัง (อำนาจ, 2537) ซึ่งในการปลูกพืชบำรุงดินการปลูกเพียงครั้งเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องปลูกซ้ำหลายๆครั้ง เพื่อเป็นการสะสมอินทรียวัตถุในดินให้เพิ่มมากขึ้น  นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์ และลดค่าความหนาแน่นของดิน (bulk density) ลดความแน่นรวมของดิน (soil compaction) และเพิ่มความสามารถในการยึดน้ำในดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืช (Phetchawee, 1985) ทำให้รากพืชมีการดูดธาตุอาหารไปใช้ได้ดีขึ้นทำให้ผลผลิตของพืชปลูกเพิ่มขึ้น
             แอนนา และคณะ (2550) ทดลองปลูกไมยราบไร้หนามแซมระหว่างแถวข้าวโพดหวานพันธุ์อินทรี 2 เพื่อผลิตฝักสด โดยใช้ระยะปลูกข้าวโพดหวาน 75 x 25 ซม. ทำการทดลอง 3 ฤดูปลูก ซ้ำในพื้นที่เดิม  (ฤดูปลูกที่ 1 ตั้งแต่ 3 พฤษภาคม – 15 กรกฎาคม 2548  ฤดูปลูกที่ 2 ตั้งแต่ 30 สิงหาคม – 11 พฤศจิกายน 2548  ฤดูปลูกที่ 3 ตั้งแต่ 29 ธันวาคม 2548 – 23 มีนาคม 2549) ในแต่ละฤดูปลูกหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวานฝักสดเสร็จแล้วทำการไถกลบไมยราบไร้หนามลงไปในดินเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด  ผลการทดลองพบว่า การปลูกไมยราบไร้หนามแซมข้าวโพดหวานและมีการใส่ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำ (ใส่ปุ๋ยรองพื้นสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กก./ไร่ และใส่ปุ๋ยยูเรียแต่งหน้า 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ใส่อัตรา 25 กก./ไร่ เมื่อต้นข้าวโพดหวานอายุได้ 21 วัน และใส่ครั้งที่ 2 อัตรา 12.5 กก./ไร่ เมื่อต้นข้าวโพดหวานอายุได้ 40 วัน)  ให้ผลผลิตฝักสดทั้งเปลือกไม่แตกต่างจากการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวในทั้ง 3 ฤดูปลูก แต่ให้ผลผลิตฝักสดปอกเปลือกสูงกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวในฤดูปลูกที่ 3 (ตาราง 1) ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากมีปุ๋ยไนโตรเจนจากไมยราบไร้หนามเพิ่มเติมขึ้นมาจากฤดูปลูกที่ 2 ถึง 5.30 กก./ไร่ ทำให้มีปริมาณไนโตรเจนรวมสูงสุด เท่ากับ 30.05 กก./ไร่ (ตาราง 2)  เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการปลูกไมยราบไร้หนามแซมข้าวโพดหวานเพียงอย่างเดียวกับการปลูกข้าวโพดหวานโดยไม่มีการใส่ปุ๋ยใด ๆ เลย จะเห็นได้เช่นเดียวกันว่า ในฤดูปลูกที่ 3 ปุ๋ยไนโตรเจนที่ได้จากไมยราบไร้หนาม (5.61 กก./ไร่) (ตาราง 2) ช่วยทำให้ผลผลิตข้าวโพดหวานฝักสดทั้งเปลือกและปอกเปลือกเพิ่มขึ้นมากกว่าการที่ไม่มีการใส่ปุ๋ยเลย (ตาราง 1) ดังนั้นจากงานทดลองนี้พอที่จะสรุปได้ว่า การใช้ไมยราบไร้หนามเป็นปุ๋ยพืชสดในการผลิตข้าวโพดหวานฝักสดโดยไม่ต้องมีการปรับเปลี่ยนระยะปลูกของข้าวโพดหวาน มีแนวโน้มที่จะเพิ่มผลผลิตของข้าวโพดหวานฝักสดได้ด้วย โดยเริ่มจากการปลูกในฤดูปลูกที่ 3 เป็นต้นไป ซึ่งอาจเนื่องมาจากผลการสะสมของอินทรียวัตถุและปริมาณไนโตรเจนจากไมยราบไร้หนาม



  
คณะผู้วิจัย :
แอนนา สายมณีรัตน์  สุขุม โชติช่วงมณีรัตน์ และ สุปราณี งามประสิทธิ์
หน่วยงาน :
สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
์ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-4436-1770-4