การศึกษาการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรูพืช (กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต) ในผักและผลไม้
Study on contamination of some pesticide (organophosphate and carbamate) from vegetable and fruit
       

         ศึกษาการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมตในตัวอย่างผักและผลไม้ที่วางขายในตลาดต่าง ๆ รอบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จำนวนทั้งหมด 104 ตัวอย่าง โดยใช้ชุดทดสอบ (GT-Testkit) โดยเก็บตัวอย่างจากตลาด 4 แหล่งคือ ตลาดอมรพันธ์  ตลาดนัดกรมประมง  ตลาดผัก-ผลไม้บริเวณประตูงามวงศ์วาน 2 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และผักปลอดสารพิษจากซุปเปอร์มาเกตภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   จากการเก็บตัวอย่างผัก-ผลไม้เพื่อนำมาตรวจสอบ พบว่าจำนวนตัวอย่างที่ซื้อจากตลาดอมรพันธ์จำนวน 32 ตัวอย่างมีตัวอย่างที่พบสารปนเปื้อนในระดับไม่ปลอดภัยจำนวน 2 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 6.25   โดยพบการตกค้างในใบ กะเพรา และสะระแหน่     ตลาดนัดกรมประมงมีจำนวนตัวอย่าง  21 ตัวอย่าง พบตัวอย่างที่มีการปนเปื้อนในระดับไม่ปลอดภัยจำนวน 2 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 9.52   โดยพบการตกค้างในพริกหยวก และผักกวางตุ้งไต้หวัน   ตลาดผัก-ผลไม้บริเวณประตู 2 งามวงศ์วาน  มีตัวอย่างจำนวน 8 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบสารพิษตกค้าง และผักปลอดสารพิษจากซุปเปอร์มาเกตมีตัวอย่างจำนวน 43 ตัวอย่างตรวจไม่พบสารปนเปื้อน  โดยพบว่าผักที่มีการตกค้างจะเป็นผักที่นิยมรับประทานใบ 

          ในปัจจุบันผู้บริโภคนิยมทานผักและผลไม้หรือการทานมังสวิรัติกันมากขึ้นเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ดังนั้นจึงต้องมีการผลิตผักและผลไม้ให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค  เพื่อให้สามารถผลิตได้เพียงพอและมีลักษณะภายนอกที่สวยงามนั้น เกษตรกรจึงมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารเคมีที่สังเคราะห์เพื่อกำจัดแมลงหรือพืชที่เป็นสิ่งรบกวนต่อกระบวนการเพาะปลูกซึ่งอาจจะมีการตกค้างอยู่ที่ใบ หรือเปลือกของผัก-ผลไม้ได้หากเกษตรกรใช้สารกำจัดศัตรูพืชไม่ถูกวิธี ใช้ในปริมาณที่มากเกินไป หรือรีบเก็บเกี่ยวเพื่อนำออกมาขาย

                 ดังนั้น การศึกษาการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรูพืช (กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต)ในผักและผลไม้ในครั้งนี้เพื่อต้องการศึกษาว่ามีการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มดังกล่าวในผักหรือผลไม้ที่นำมาบริโภคหรือไม่   เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค อันจะมีประโยชน์แก่ผู้บริโภคซึ่งรวมถึงสมาชิกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ต้องมีการรับประทานผักและผลไม้ที่มีขายอยู่ทั่วไปในตลาดต่างๆ  รวมถึงผักและผลไม้ปลอดสารพิษ

                 การทดลองเพื่อศึกษาการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้ที่ซื้อจากตลาด 4 แหล่งรอบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ได้แก่ ตลาดอมรพันธ์  ตลาดผัก-ผลไม้บริเวณประตู 2 งามวงศ์วานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ตลาดนัดกรมประมง และซุปเปอร์มาร์เกตภายในคณะสัตวแพทย์ โดยเลือกเก็บผัก-ผลไม้ที่นิยมรับประทานใบ หรือรับประทานได้ทั้งเปลือก  เช่น พริก กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักกาดกวางตุ้ง ผักคะน้า และแอปเปิ้ล เป็นต้น และศึกษาเปรียบเทียบระหว่างผักปลอดสารและผักที่มีอยู่ทั่วไปในตลาด   เมื่อได้ตัวอย่างแล้วจะนำมาทดลองที่ห้องปฏิบัติการของกลุ่มสาขาวิชาชีววิทยาประยุกต์ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์สัตว์  ภาควิชาเทคนิคการสัตวแพทย์  คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  โดยเมื่อได้ตัวอย่างมาจะทำการตรวจสอบทันทีด้วยชุดทดสอบจีที (GT-Testkit)   ถ้าตัวอย่างผักที่เก็บมาตรวจหายาฆ่าแมลงตกค้างไม่ทันในวันที่เก็บ จะเก็บรักษาผักไว้ในตู้เย็นที่ 4 องศาเซลเซียส และนำมาตรวจในวันถัดไป  โดยการทดสอบจะทำตามขั้นตอนที่แนะนำในชุดทดสอบ และการอ่านผลการทดสอบเปรียบเทียบค่าการดูดกลืนแสงระหว่างหลอดตัดสิน  หลอดควบคุมและหลอดตัวอย่าง โดยการวัดค่าการดูดกลืนแสงด้วยเครื่องสเปคโตรโฟโตมิเตอร์ (Spectrophotometer) ที่ความยาวคลื่น 540 นาโนเมตร ในการแปรผลของค่าความเป็นพิษจะให้ค่าการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส  ลดลงตั้งแต่ร้อยละ  50 เป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์สารพิษตกค้าง  

                   จากการทดลองเพื่อศึกษาการตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมตในผักผลไม้โดยการซื้อตัวอย่างผักและผลไม้สดจากแหล่งจำหน่าย  4 แหล่งคือ  ตลาดอมรพันธ์  ตลาดนัดกรมประมง  ตลาดผัก-ผลไม้บริเวณประตู 2 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และซุปเปอร์มาร์เกต  ทดสอบการตกค้างโดยใช้ชุดทดสอบ GT  และเปรียบเทียบค่าการดูดกลืนแสงระหว่างหลอดตัดสิน หลอดควบคุม และหลอดตัวอย่าง  จากจำนวนตัวอย่างทั้งหมด 104 ตัวอย่าง ได้ผลการทดลองโดยแบ่งตามแหล่งที่ซื้อดัง ตารางที่ 1

ตาราง ที่ 1 แสดงผลการทดสอบการตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชในตัวอย่างผักและผลไม้

แหล่งตัวอย่าง

จำนวนตัวอย่าง

จำนวนตัวอย่างที่
ตรวจพบการตกค้าง

ร้อยละที่ตรวจพบ

ชนิดของผัก-ผลไม้ที่ตรวจพบสารตกค้าง

ตลาดผลไม้ ประตู 2งามวงศ์วาน

8

0

0

-

ตลาดอมรพันธ์

32

2

6.25

กะเพรา,สะระแหน่

ตลาดนัดกรม
ประมง

21

2

9.52

พริกหยวก,
ผักกวางตุ้งไต้หวัน

ซุปเปอร์มาร์เกต

43

0

0

-

รวม

104

4

3.85

 

                จากการศึกษาตัวอย่างผักและผลไม้ จำนวน 104 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต จำนวน 4 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ  3.85   โดยจะพบในผักที่รับประทานใบ คือ สะระแหน่ ผักกวางตุ้งไต้หวัน และใบกระเพรา รวมถึงพริกหยวก  และไม่พบการตกค้างของสารกลุ่มดังกล่าวในตัวอย่างผักและผลไม้ที่เป็นผักปลอดสารพิษ  ซึ่งแสดงถึงว่าป้ายแสดงผักปลอดสารพิษให้ความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค แต่การทดลองนี้เป็นการทดสอบด้วยชุดทดสอบเบื้องต้นจึงไม่สามารถบ่งชี้ชนิดและปริมาณของสารกำจัดศัตรูพืชได้  ซึ่งต้องใช้เครื่องมือวิเคราะห์ที่มีความจำเพาะกับชนิดของสารเคมีและมีความแม่นยำสูงจะสามารถตรวจหาระดับที่ต่ำ และสามารถบอกชนิดของสารตกค้างได้

 

  
คณะผู้วิจัย :
วิมลรัตน์ อินศวร, เดือนเพ็ญ กาญจนะยานุรักษ์, นาฏยา พันธ์ศรี, รักษ์จินดา วัฒนาลัย, สุพจนา เจริญสิน และ ดลฤดี ครุฑเกิด
หน่วยงาน :
คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2579-8574-5 ต่อ 8306