แนวทางการปลูกพืชเพื่อลดการใช้สารเคมีสังเคราะห์เป็นการนำร่องสู่ระบบการเกษตรที่ผลิตอาหารด้วยความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเน้นหลักการปรับปรุงบำรุงดิน ส่งเสริมศักยภาพทางธรรมชาติของพืช จุลินทรีย์ และระบบนิเวศให้โอบเอื้อเกื้อหนุนระบบการเกษตรที่เหมาะสมมากที่สุดเพื่อให้ได้ผลผลิตพืชอาหารปลอดภัย โดยจุลินทรีย์สุขภาพพืชจากภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร สามารถใช้ร่วมกับการจัดการผลิตพืชต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การคัดเลือกและงานวิจัยสายพันธุ์เชื้อจุลินทรีย์สุขภาพพืช 2 สายพันธุ์ คือ Bacillus amyloliquefaciens KPS46 และ Pseudomonas fluorescens SP007s ได้รับการศึกษาวิจัยคัดเลือกจากดินรอบรากพืชสมบูรณ์และพัฒนาครบขั้นตอนที่ผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้ได้สะดวกและอายุการใช้งานนาน 1 ปีขึ้นไป (การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สะดวกใช้) รวมทั้งสิ่งตีพิมพ์และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกลไกการยับยั้งเชื้อโรคทั้งในระบบสัณฐานวิทยา สรีรวิทยา ชีวเคมี และโมเลกุล (กลไกการผลิตสารปฏิชีวนะ การแข่งขันที่ชนะเชื้อโรคด้วยการแก่งแย่งอาหารและครองครองผิวพืช การส่งเสริมให้พืชสร้างฮอร์โมนและให้ธาตุอาหารพืช มีการเจริญเติบโตแข็งแรงสมบูรณ์มากขึ้น และการกระตุ้นให้พืชมีภูมิต้านทานโรคเพิ่มสูงขึ้น) ตลอดจนผลงานวิจัยมากกว่า 50 การทดลองในสภาพไร่ที่แสดงถึงประสิทธิภาพการลดโรคระบาด และเพิ่มผลผลิตคุณภาพมาตรฐานได้สูงสุดรวมทั้งงานวิจัยการประเมินความเสี่ยงทั้งที่ไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสภาพแวดล้อม และผู้บริโภค โดยจุลินทรีย์สุขภาพพืชทั้ง 2 สายพันธุ์ มีประสิทธิภาพการควบคุมโรคทัดเทียมกับสารเคมีที่เกี่ยวข้อง จึงสามารถลดการใช้สารเคมีสังเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ลดจำนวนครั้งและอัตราการใช้) โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของการใช้จุลินทรีย์สุขภาพพืชเพื่อลดการใช้สารเคมี ประกอบด้วย 1. คุณภาพผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป 2. วิธีการนำไปใช้ และ 3. การเพิ่มประสิทธิภาพการลดการระบาดของโรคและสารเคมี
ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์สุขภาพพืช ประกอบด้วยสูตรของเหลว ผงละลายน้ำ และผงหัวเชื้อ
สามารถนำไปควบคุมโรคและส่งเสริมสุขภาพพืชได้เช่นเดียวกับสารเคมีและปุ๋ยรวมทั้งฮอร์โมนพืช ใช้ได้กับทั้งพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ใบเลี้ยงคู่ พืชไร่ พืชสวน ผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ และไม้ผล พืชที่ปลูกในไร่ และในโรงเรือน ตลอดจนการผลิตพืชทุกระบบ และระบบการปลูกพืชไร้ดิน ควบคุมโรคได้ทั้งรา แบคทีเรีย และไวรัส รวมทั้งกระตุ้นให้พืชต้านทานต่อแมลงปากดูดบางชนิด โดยมีหลักการใช้ดังนี้

- การคลุกเมล็ดปฏิบัติเช่นเดียวกับสารเคมีคลุก
- ผสมหรือราดวัสดุปลูก หรือระบบปลูกพืชเฉพาะโดยประยุกต์ใช้ร่วมกับการหว่านปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกในช่วงการเตรียมดิน หรือใช้ร่วมในระบบปลูกพืชไร้ดิน
- การจุ่มรากต้นกล้าก่อนย้ายปลูก
- การใส่ลงบนส่วนขยายพันธุ์และกล้าพืช
- การพ่นใบในระยะเจริญเติบโตปฏิบัติเช่นเดียวกับการพ่นพืชด้วยสารเคมี

การเพิ่มประสิทธิภาพการลดการใช้สารเคมี นำจุลินทรีย์สุขภาพพืชไปใช้ในลักษณะการจัดการแบบผสมผสาน ดังนี้
-
- ใช้จุลินทรีย์ร่วมกับการปฏิบัติทางเขตกรรมต่าง ๆ และการสุขาภิบาล
- ใช้ร่วมกับพันธุ์พืชต้านทานโรค
- ใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์สาหร่าย สารสกัดจากพืชและ/หรือสัตว์ (ไคโตซาน)
- ใช้ร่วมกับสารกรองเซลล์ซึ่งประกอบด้วยสารกระตุ้นภูมิต้านทานพืชที่สำคัญหลายชนิด เช่น ไบโอเซอร์แฟคติน (biosurfectin) หรือ ลิโพเปปไทด์ (lipopeptide)
|