ผลิตภัณฑ์จากการย้อมสีและการพิมพ์จากเม็ดมะขาม
       
          

                มะขามเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญระดับชาติ โดยเฉพาะมะขามหวานเป็นสินค้าจีไอ(Geographical indications) ของประเทศไทย รวมทั้งมะขามเปรี้ยวทั่วไปที่ใช้ทำมะขามเปียกซึ่งนิยมใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น  รับประทาน และผสมเป็นเครื่องประทินผิว เป็นต้น  การปลูกมะขามได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้มีการปลูกมากในหลายจังหวัด เมื่อมีการใช้ส่วนเนื้อมะขามไปแล้วทำให้เม็ดมะขามเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก การวิจัยนี้ได้นำเอาเม็ดมะขามมาแปรรูปเป็นแป้งเพื่อใช้เป็นสารข้นสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมพิมพ์ผ้า รวมทั้งสกัดเอาสี เพื่อนำมาย้อมผ้า ซึ่งเป็นการใช้สารธรรมชาติทดแทนสารเคมีในปัจจุบัน เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นสินค้าที่มีความในตลาดต่างประเทศสูง และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งทอ และเม็ดมะขามเองด้วย  ผลการวิจัยเบื้องต้น พบว่า เม็ดมะขามสามารถสกัดสีออกมาได้ และสามารถย้อมผ้าฝ้าย และผ้าไหมได้ดี สีที่ได้เป็นสีน้ำตาลแดง สวยงามมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับกับหลายปัจจัย เช่น ระยะเวลาในการย้อม อายุของเม็ดมะขาม และสารช่วยผนึกสี(มอเดนซ์) เป็นต้น ส่วนสารข้นที่ได้จากเม็ดมะขาม สามารถใช้เป็นสารกั้นสี ในการพิมพ์ผ้าได้เป็นอย่างดี คาดว่าจะสามารถทำในเชิงอุตสาหกรรมได้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผ้าที่ย้อม และพิมพ์จากการแปรรูปเม็ดมะขามดังกล่าวสามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลาย เช่น เคหะสิ่งทอ  ผ้าที่ใช้สำหรับเด็ก รวมถึงการใช้เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับการตกแต่งเสื้อผ้า หรือ อื่นๆได้อีกมาก         


                งานวิจัยนี้ได้ทดลองสกัดสีย้อมจากเม็ดมะขามซึ่งได้เฉดสีน้ำตาลแดง และได้นำมาใช้ย้อมทั้งผ้าฝ้าย และผ้าไหม รวมทั้งศึกษาความเข้มของเฉดสี และความคงทนของการย้อมสีจากเม็ดมะขามต่อการซัก และการขัดถู โดยมีการเปรียบเทียบก่อนและหลังการทำมอเดนท์หลังย้อมด้วยเครื่องวัดสี McBeth Spectrophotometer, COLOR-EYE 7000 และทำการทดสอบความคงทนของสีต่อการซักตามมาตรฐาน ISO 105-C06 (B2S):1994 ทำการประเมินผลการติดเปื้อนของสีบนผ้า Multifiber และการเปลี่ยนแปลงของสีบนชิ้นทดสอบ ด้วย Grey scale พบว่า สีที่ไม่ได้ใช้สารช่วยติดจะไม่ทนต่อการซัก แต่หลังจากการทดลองใช้สารช่วยผนึกสี 2- 3 ชนิด พบว่า จุนสีทำให้สีย้อมจากเมล็ดมะขามมีความเสถียรมากว่าชนิดอื่น เฉดสีจึงไม่เปลี่ยนแต่ระดับความคงทนต่อการซีดจางหลังการซักอยู่ในระดับปานกลาง

ขั้นตอนการทำผลิตภัณฑ์จากเมล็ดมะขาม

รูปที่ 1  ขั้นตอนการทำผลิตภัณฑ์จากเมล็ดมะขาม

ตัวอย่างรูปแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าย้อม และผ้าพิมพ์สารกันสี จากเม็ดมะขาม

  

คณะผู้วิจัย :
สิริสิน     ชุมรุม, จันทร์ทิพย์  ซื่อสัตย์ และ พรทิพย์  แซ่เบ๊
หน่วยงาน :
ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ  คณะอุตสาหกรรมเกษตร 
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 02- 5791310 ต่อ 5067-68