ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับภาคเอกชนเพื่อการพัฒนามาตรฐานการผลิต ThaiGAP
Collaboration between Kasetsart University and Private Sector to Develop ThaiGAP Standard

       

            ในทศวรรษที่ผ่านมา ภาวะตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พร้อมทั้งได้มีการเปิดประเทศเพื่อทำการค้าอย่างเสรี (FTA) ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องแข่งขันกับต่างประเทศ ทั้งที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน และต่างภูมิภาค หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการภายในประเทศด้วยกันเอง ซึ่งปัจจุบันนี้การแข่งขันทางการค้าโดยใช้มาตรการทางภาษีได้ลดน้อยลง ภายใต้กรอบการค้าเสรี ทำให้ประเทศคู่ค้าต่างหันมากำหนดมาตรฐานการนำเข้า โดยใช้เหตุผลว่า เพื่อปกป้องผู้บริโภคภายในประเทศ ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ต้องประสบปัญหาจากมาตรการกีดกันทางการค้า เช่น มาตรการสุขอนามัย ข้อกำหนดมาตรฐานด้านอาหารที่มีความเข้มงวดมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งถือเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการส่งออกของประเทศไทย และจำเป็นต้องหาแนวทางเพื่อรองรับมาตรการดังกล่าว

ThaiGAP คืออะไร???  What is ThaiGAP??

          ThaiGAP คือมาตรฐานระบบการผลิตสำหรับภาคเกษตรของไทยที่กำหนดขึ้นโดยภาคเอกชน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าและผู้บริโภคว่าสินค้าเกษตรที่ผลิตในประเทศไทย ได้ถูกผลิตตามมาตรฐานและกระบวนการที่ปลอดภัย ถูกสุขอนามัย ปลอดภัยจากสารเคมีและเชื้อโรคที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค รวมถึงสัตว์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เหตุผลที่ต้องสร้างมาตรฐาน ThaiGAP

   ผู้บริโภคพืชผัก ผลไม้ และอาหารในปัจจุบันมีความระมัดระวังในการเลือกบริโภคสินค้าที่ปลอดภัยและมีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้นกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ มีการตรวจสอบและรับรองโดยสถาบันที่น่าเชื่อถือ จึงเป็นสิ่งที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและสร้างคุณค่าให้กับตัวสินค้ามากขึ้น

การเกิดและการสร้างมาตรฐาน ThaiGAP

            ในปี พ.ศ. 2547 กลุ่มเครือข่าย GAP ภาคตะวันตก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ได้ก่อตั้งและรวมตัวกันโดยมีสมาชิกจากทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันพัฒนากระบวนการผลิตผักและผลไม้ โดยนำวิธีการปฏิบัติตามมาตรฐาน EUREPGAP (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น GLOBAL GAP)
ปีพ.ศ. 2548-2549 กลุ่มเครือข่าย GAP ภาคตะวันตกได้สร้างรูปแบบของระบบการพัฒนาการผลิตให้แก่เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตและการประกันคุณภาพระบบผลิตให้เข้าสู่ คุณภาพ ความปลอดภัยของผลผลิต และความเชื่อมั่นในการควบคุมระบบผลิตให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

วัตถุประสงค์

  • เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบผลิตอาหารปลอดภัย
  • เพื่อการรับรองมาตรฐานการผลิต ThaiGAP ที่มีความเท่าเทียมและยอมรับในระบบมาตรฐานที่ภาคเอกชนเป็นเจ้าของ
  • เพื่อสร้างทางเลือกให้แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการในการรับรองมาตรฐานของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับเทียบเท่ามาตรฐานสากล
  • เสริมสร้างศักยภาพและขยายโอกาสของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย

ผู้ที่เกี่ยวข้องในการผลักดันและสนับสนุน ThaiGAP

  • เกษตรกร/ผู้ปลูก ที่ต้องปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด
  •  ผู้รวบรวมผลผลิต/ผู้ผลิต ที่ต้องแยกส่วนสินค้าเกษตรที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน กับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน
  •  ผู้กระจายสินค้า/ผู้จัดจำหน่าย ที่ต้องแยกและระบุฉลาก สำหรับผลสินค้าที่ได้รับการรับรองให้ทราบเป็นที่ชัดเจน
  •  ผู้บริโภค ต้องมีความเข้าใจและสามารถเลือกสินค้าที่ปลอดภัยได้
  •  ภาครัฐ ต้องให้การสนับสนุนมาตรฐาน ThaiGAP และคุ้มครองผู้บริโภค

           นอกจากนี้ยังมีองค์กรต่างประเทศ ได้แก่ GTZ และ PTB ที่ให้การสนับสนุนด้านเทคนิค และการพัฒนาเข้าสู่กระบวนการเทียบเคียงมาตรฐานอีกด้วย

ผู้ได้รับประโยชน์

  • SMEs ผู้ค้าปลีก – มีแหล่งสินค้าเกษตรปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นและมีความหลากหลาย สามารถลดต้นทุนและขยายตลาดได้ทั้งภายในประเทศ   และส่งออกภายใต้เครื่องหมายการค้าของตน/เพิ่มยอดขาย/เพิ่มอัตรากำไร
  • เกษตรกรผู้ปลูก – สามารถยกระดับคุณภาพผลผลิตและมีตลาดที่มั่นคง มีสุขภาพดีขึ้นจากการลดการใช้/ใช้สารเคมีและสารควบคุมศัตรูพืชอย่างถูกวิธี
  • ผู้บริโภคภายในประเทศ - มีทางเลือกในการซื้อสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและถูกสุขอนามัย
  • ภาครัฐ - ส่งเสริมนโยบายเกษตรยั่งยืนและลดภาระงบประมาณรายจ่ายด้านสาธารณสุขและการแก้ปัญหามลพิษและมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ

มาตรฐาน ThaiGAP
                ปัจจุบันสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของมาตรฐานนี้ โดยกลุ่มเครือข่าย GAP ภาคตะวันตก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับดำเนินการพัฒนามาตรฐาน ThaiGAP ให้เทียบเคียงกับ GlobalGAP (Benchmarking)

การจัดทำ Model ต้นแบบระบบการผลิตมาตรฐาน
                การจัดทำ Model  ต้นแบบระบบการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐาน ThaiGAP ควรจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาฟาร์ม

 

 

 

 

  
คณะผู้วิจัย :
รุ่งนภา ก่อประดิษฐ์สกุล  ชวนพิศ อรุณรังสิกุล  และ ชัยณรงค์  รัตนกรีฑากุล
หน่วยงาน :
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลองสถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน
ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน
มหาวิทยาลัยเษตรศาสตร์
โทร. 034-281-092