กระทงกรอบนนทรี
ได้รับรางวัลที่ 3 การประกวดนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2551
จากมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูิปถัมภ์ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

       

          “กระทงกรอบนนทรี” หรือ “กระทงข้าวกล้องงอก” เป็นผลงานนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลที่ 3 ในการประกวดนวัตกรรมข้าวไทยปี 2551 จากมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งใช้แป้งข้าวกล้องงอกจากข้าวกล้องพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เป็นวัตถุดิบหลัก เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้แก่ผู้บริโภค โดยการวิจัยกระทงกรอบนนทรี มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาอาหารว่างจากข้าวกล้องงอก ทำให้มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยพัฒนารูปร่างเป็นถ้วยหรือกระทงซึ่งสามารถรับประทานกับไส้ต่างๆ ให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค  และมีอายุการเก็บรักษานานขึ้น

         จากแนวคิดของการใช้ภูมิปัญญาไทยในรูปแบบของกระทงทองผสมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้านสมบัติต่างๆ ของแป้งข้าวเจ้า และการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาประยุกต์ใช้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยผ่านการพัฒนาสูตรจนสามารถใช้แป้งข้าวกล้องงอกได้ 100% และใช้ไฮโดรคอลลอยล์ช่วยปรับปรุงเนื้อสัมผัส นอกจากนี้ยังพัฒนากรรมวิธีการผลิตโดยใช้วิธีการอบในสภาวะที่เหมาะสมแทนการทอด จนสามารถผลิตได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นหอม มีเนื้อสัมผัสกรอบ ไม่แข็งกระด้าง  ที่สำคัญยังทำให้ไขมันลดลงถึง 50% เมื่อเปรียบเทียบกับกระทงทอง  สามารถเก็บได้นานประมาณ 5 เดือน  เมื่อบรรจุในถุงอลูมิเนียม ฟลอยด์ลามิเนต ที่อุณหภูมิห้อง (30+2oC)  เป็นผลิตภัณฑ์ที่สะดวกในการบริโภค รับประทานได้ทันที โดยรับประทานร่วมกับไส้รสชาติต่างๆ ทั้งคาวและหวาน เช่น ทูน่า ไก่ซอสขาว ไก่ผัดผงกระหรี่  แยมผลไม้ชนิดต่างๆ หรือรับประทานเล่นเป็นขนมขบเคี้ยว นอกจากนี้ยังนำมารับประทานแทนกรวยไอศกรีม รับประทานร่วมกับไอศกรีมก้อนเล็กๆ  ซึ่งจะได้รสชาติและเนื้อสัมผัสที่อร่อยอีกแบบหนึ่ง จึงนับได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ข้าวไทยได้อย่างดียิ่งอีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง

         สำหรับคุณค่าทางโภชนาการจากข้าวกล้องงอก พบว่ามีสารอาหารที่สำคัญ เช่น ใยอาหารแมกนีเซียม  สังกะสี  กรดเฟอรูริก ไนอะซีน ออรีซานอล และสารอินโนซิทอล เป็นต้น  นอกจากนี้ยังพบสารสำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ กรดแกมมาอะมิโนบิวทีริค (Gamma-aminobutyric acid, GABA)  ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคลมชัก และนอนไม่หลับ และยังมีสมบัติช่วยรักษาระดับความดันโลหิตอีกด้วย จากการวิเคราะห์ปริมาณ GABA ในแป้งข้าวกล้องงอกที่ผลิตได้ พบว่ามี GABA 14.85 มิลลิกรัมต่อแป้งข้าวกล้องงอก 100 กรัม ขณะที่แป้งข้าวกล้องที่ผลิตจากข้าวกล้องไม่ได้งอกมี GABA 1.35 มิลลิกรัมต่อแป้งข้าวกล้อง 100 กรัม


  
คณะผู้วิจัย :
กมลวรรณ  แจ้งชัด, ริภัทร์ จันทร์อร่าม และ จุไรพร แก้วศรีทอง
หน่วยงาน :
ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์  คณะอุตสาหกรรมเกษตร   มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 02-562-5004