ผลกระทบของการจัดการคุณภาพการผลิตเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร
Impact of Quality Production Management to Food Security

       

             สืบเนื่องจากผลการศึกษาวิจัยแนวทางการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการคุณภาพของการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารในระดับแปลง เพื่อให้เกิดความสอดคล้องตามข้อกำหนดของมาตรฐานการผลิตที่เป็นที่ยอมรับของตลาดและผู้รับซื้อที่ต้องการความปลอดภัยของสินค้าเกษตร ทั้งในระบบการผลิตทางการเกษตรดีที่เหมาะสม (Good Agriculture Practice: GAP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Standard) โดยยึดหลักความปลอดภัยด้านอาหาร ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตที่มีการวางแผนการปลูกตามความต้องการของผู้ซื้อ ศึกษาข้อกำหนดของมาตรฐานทั้งสองให้ชัดเจน การพัฒนาระบบข้อมูลสภาพแวดล้อมในแปลง เพื่อการควบคุมปัญหาจากศัตรูพืชที่มีผลต่อผลผลิตคุณภาพตลอดจนการจัดการสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และความมั่นคงด้านอาหาร

ภาพที่ 1 แสดงแผนผังแปลงพริกในระบบผลิตตามมาตรฐาน GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม

              การจัดการธาตุอาหารและความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงปลูก ถือเป็นรากฐานสำคัญของระบบการผลิตพริกให้ได้คุณภาพ ปุ๋ยอินทรีย์หรือสูตรผสมปุ๋ยอินทรีย์หลายกรรมวิธี โดยให้ปุ๋ยอินทรีย์ทุกเดือนสามารถให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ ได้แก่ การใช้ปุ๋ยออร์กานิก+รำข้าว อัตรา 1:1 ในปริมาณ 200 กรัมต่อต้น รองลงมาได้แก่ การใช้ปุ๋ยขี้หมูแห้งอย่างเดียว อัตรา 200 กรัม/ต้น ปุ๋ยอินทรีย์ ออร์กานิก สูตรที่มี N สูง กับรำละเอียด ในสัดส่วน 1:1 อัตรา 200 กรัม/ต้น และ ปุ๋ยอินทรีย์ ออร์กานิก สูตรที่มี N สูง กับปุ๋ยขี้หมูแห้ง และรำละเอียด ในสัดส่วน 1:1:1 อัตรา 200 กรัม/ต้น ผลผลิตรวมและผลผลิตที่คัดได้สูงกว่าการใช้ปุ๋ยคอกมูลวัวนม+รำข้าว อัตรา 1:1 ในปริมาณ 200 กรัมต่อต้น ขณะเดียวกันการศึกษาการระบาดของศัตรูพืช แมลงที่สำคัญ ได้แก่ เพลี้ยไฟ ไรขาว หนอนเจาะสมอฝ้าย และเพลี้ยอ่อน และโรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคโคนเน่า โรครากเน่า ที่เกิดจากเชื้อรา โรคที่เกิดที่ใบและที่ผล เช่น โรคใบไหม้ โรคแอนแทรคโนส หรือแม้แต่โรคที่มีสาเหตุจากแมลงเป็นพาหะ ได้แก่ โรคไวรัส ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องของการจัดการคุณภาพในระบบเกษตรอินทรีย์ และเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จำเป็นต้องมีการควบคุม ภายใต้มาตรการการจัดการต่างๆ ที่ยอมรับตามมาตรฐานระบบผลิตอินทรีย์อย่างแท้จริง วิธีการควบคุมศัตรูพืชชนิดต่างๆ ต้องอาศัยระบบการจัดการนิเวศวิทยาของแมลงศัตรูพืช การจัดการสภาพแวดล้อมภายในแปลง เช่น การสร้างรั้วหรือแนวไม้เป็นเกราะกำบังแมลงและเชื้อโรคพืช (ภาพที่ 1) ร่วมกับการใช้น้ำหมักชีวภาพและสารสกัดจากพืชบางชนิด ซึ่งต้องไม่มีการผสมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยมีหน่วยงานทำหน้าที่ตรวจสอบและเทียบได้ว่าไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีผลโดยตรงต่อมนุษย์ ภายใต้เกณฑ์การตรวจสอบตามหลักการของระบบเกษตรอินทรีย์ด้วยองค์กรรับรอง ถือเป็นการจัดการระบบการผลิตและระบบควบคุมเพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพและสร้างความมั่นคงด้านอาหาร รวมทั้งสนับสนุนธุรกิจอาหารส่งออกที่ต้องอาศัยวัตถุดิบที่ปลอดภัย

ทางเลือกวิธีการควบคุมเชื้อโรคพืชในพริก

                  ประสิทธิภาพของน้ำมันหอมระเหย เช่น สารสกัดตะไคร้หอม 800 ppm ยับยั้งการเจริญของเส้นใยของเชื้อราและการงอกของสปอร์เชื้อรา Colletotrichum capsici ที่ทำให้เกิดโรคแอนแทรคโนส ได้ผลไม่แตกต่างจาก สารออกฤทธิ์ Geraniol 400 ppm และ Eugenol 200 ppm ขณะที่สารสกัดข่า หรือตะไคร้หอม หรือน้ำมันจากส้ม 400 ppm ยับยั้งการเจริญของสปอร์ของเชื้อราดังกล่าวได้ผลไม่แตกต่างจาก สารออกฤทธิ์ Geraniol 100 ppm และ Eugenol 100 ppm  ความสัมพันธ์ของการจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับระบบการปลูกพริกทั้งในสภาพ GAP และสภาพเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่การจัดการความอุดมสมบูรณ์และธาตุอาหารพืชให้กับพริก การให้น้ำชลประทานที่ปลอดภัยจากการปนเปื้อนร่วมกับการจัดการศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพจะก่อให้เกิดความสมดุลในธรรมชาติ ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำที่ให้กับต้นพริก พบว่าการใช้น้ำจากระบบส่งน้ำจากคลองชลประทานร่วมกับการเก็บกักน้ำในที่พักน้ำก่อนการใช้ ทำให้คุณภาพของน้ำที่ให้กับต้นพริกมีคุณภาพน้ำดีดกว่ามาตรฐานน้ำที่กำหนดไว้ การจัดการดังกล่าวทำให้สามารถใช้น้ำอย่างเหมาะสม มีความสม่ำเสมอและสะดวกต่อการจัดการคุณภาพน้ำ สำหรับการจัดการขยะมลพิษที่มาจากภาชนะบรรจุสารเคมีที่ใช้หมดแล้ว ถือเป็นข้อกำหนดหนึ่งที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน GLOBALGAP ดังนั้นจึงเกิดการศึกษาเรียนรู้ถึงกระบวนการคิดอย่างมีส่วนร่วม จนได้มีกิจกรรมการรวบรวมขยะดังกล่าวในพื้นที่นำร่องที่กำหนดขึ้น เพื่อสะดวกต่อการนำส่งเพื่อการทำลายอย่างเหมาะสม ดังแสดงในภาพที่ 2


ภาพที่ 2 ขั้นตอนการปฏิบัติที่เหมาะสมกับการจัดการขยะมลพิษที่มาจากภาชนะบรรจุสารเคมีที่ใช้หมดแล้ว
และแนวทางการกำจัดภาชนะดังกล่าว

  
คณะผู้วิจัย :
ชวนพิศ อรุณรังสิกุล1, ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล2 และรุ่งนภา ก่อประดิษฐสกุล1
หน่วยงาน :
1ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยแล้ะเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน โทร. 034-351-399
2ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน โทร. 034-351-890
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์