การผลิตและแปรรูปเจียวกู่หลาน
Production and Process of Jiaougulans

        

                ปัญจขันธ์ หรือ มีชื่อจีนว่า เจียวกู่หลาน ( สมุนไพรอมตะ )มีชื่อญี่ปุ่นว่า  อะมาซาซูรู (ชาหวานจากเถา ) และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Gynostemma pentaphyllum  Makino เป็นพืชในวงศ์  Cucurbitaceae  เป็นพืชล้มลุกชนิดเถา   เลื้อยขนานกับพื้นดิน และมีมือที่อยู่ตรงข้ามกับใบสามารถเกาะยึดพื้นผนัง หรือ ตาข่าย ที่สามารถทำให้เถาเลื้อยขึ้นบนที่สูงได้  รากของเจียวกู่หลานจะออกจากข้อที่สัมผัสกับพื้นดิน  ประเภทเดียวกับแตงกวาและตำลึง  มีใบ 3 – 5 ใบ ด้านบนและด้านล่างใบมีขนสีขาวปกคลุม  เป็นพืชที่สามารถขึ้นได้ดีตามธรรมชาติ ตามป่าในสภาพที่มีความชื้นสูงและอากาศเย็น  และในสภาพพื้นที่แสงแดดไม่ร้อนจัดเกินไป  ส่วนใหญ่จะพบมากในแถบภาคเหนือของประเทศไทย  ส่วนที่นำมาใช้คือส่วนเหนือดินของพืชที่มีอายุ 4 – 5 เดือนขึ้นไป  สมุนไพรชนิดนี้มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ และมีประโยชน์ทั้งเป็นยาและเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ  สามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร และมีรายงานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ทั้งด้านเคมี  เภสัชวิทยา และพืชวิทยามากมาย  ที่สนับสนุนการใช้สมุนไพรชนิดนี้  เช่น  ปัญจขันธ์ มีสารสำคัญชื่อ Gypenosides เป็นสารประเภทไตรเทอร์ปีนซาโปนิน (triterpene saponins) ที่พบในโสม ( Panax  ginseng )( อ้างอิงจากสถาบันวิจัยสมุนไพร  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ) ข้อมูลการวิจัยของนักวิจัยชาวจีนและญี่ปุ่น  พบว่า สารจำพวก Saponin  ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยกว่า  80  ชนิด จากผลวิจัยในห้องปฏิบัติการพบว่า ปัญจขันธ์ มีสารที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้นอนหลับ  ลดระดับไขมันในเลือด  เสริมระบบภูมิคุ้มกัน  ยับยั้งการเจริญของเซลมะเร็งบางชนิด  ต้านการอักเสบ  และลดระดับความดันโลหิตสูง  รวมทั้งลดระดับน้ำตาลในเลือด  เป็นต้น ปัจจุบันเจียวกู่หลาน  หรือ ปัญจขันธ์ สามารถนำมาทำการขยายพันธุ์  โดยการปลูกเป็นแปลงทดลองที่สถานีวิจัยดอยปุย  สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  จ. เชียงใหม่ เป็นการปลูกในแปลง 2 ลักษณะ คือการปลูกในแปลงให้ต้นเลื้อยไปกับพื้นดินในโรงเรือนที่มีหลังคาพลาสติกคลุมเปรียบเทียบกับการปลูกในโรงเรือนที่มีหลังคาพลาสติกคลุมพร้อมกับตาข่ายกั้นและปิดรอบเพื่อให้ต้นเจียวกู่หลานเกาะยึดขึ้นบนตาข่าย  ผลจากการปลูกเปรียบเทียบ 2 ลักษณะ พบว่าวิธีการปลูกต้นเจียวกู่หลานในโรงเรือนที่มีหลังคาพลาสติกคลุมและมีตาข่ายกั้นปิดรอบช่วยทำให้ได้ปริมาณต้นเจียวกู่หลานเลื้อยเกาะมากขึ้น ต้นเจริญเติบโตเร็ว ใบมีขนาดใหญ่มากกว่าการปลูกแบบให้ต้นเลื้อยไปกับพื้นดิน ซึ่งสะดวกต่อการเก็บเกี่ยวและการทำความสะอาด ก่อนการนำต้นเจียวกู่หลานมาทำการอบแห้ง ปลอดจากการปนเปื้อนเชื้อโรคจากพื้นดิน โดยน้ำหนักจากต้นเจียวกู่หลานสด 10 กิโลกรัมเมื่อนำไปทำการอบให้แห้งแล้วจะได้เจียวกู่หลานแห้งโดยเฉลี่ย 1.1-1.5 กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าการปลูกแบบให้เลื้อยไปกับพื้นดิน ในปัจจุบันสถานีวิจัยดอยปุยได้ทำการแปรรูปเจียวกู่หลานอบแห้งเป็น 2 ลักษณะ คือการป่นเป็นผงบรรจุในซองขนาดเล็กปริมาณ  1.5 กรัมสะดวกกับการชงกับน้ำร้อนดึ่มรวมทั้งการเก็บรักษา  และอีกลักษณะหนึ่งคือการอบแห้งแบบเป็นข้อหรือท่อนบรรจุใส่ถุงพลาสติกปริมาณ 40 กรัม  พร้อมกับการทดลองวิธีการเก็บรักษา  เพื่อศึกษาและวิจัยถึงคุณประโยชน์ต่อการนำไปบริโภค  เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายและสุขภาพต่อไป ในอนาคต

การปลูก  2  วิธี
              วิธีที่  1  ใช้ต้นเจียวกู่หลานปักชำ  ในแปลงขนาด  1X 10 ตารางเมตร ภายใต้โรงเรือนที่มีหลังคาพลาสติกคลุมให้ต้นเจียวกู่หลานเลื้อยขนานไปกับพื้นดิน
              วิธีที่  2  ใช้ต้นเจียวกู่หลานปักชำ  ในแปลงขนาด1X 10 ตารางเมตร ภายใต้โรงเรือนที่มีหลังคาพลาสติกคลุม และมีมุ้งลวด หรือตาข่ายกั้นรอบโรงเรือนให้ต้นเจียวกู่หลานสามารถเลื้อยยึดเกาะบนตาข่าย

การดูแลรักษา
1.เตรียมพื้นที่โดยการขึ้นแปลงและพรวนดินใส่ปุ๋ยคอกให้ทั่วทั้งแปลงก่อนการปลูกต้นเจียวกู่หลาน
2.ทำการให้น้ำหลังจากการปลูกอย่างสม่ำเสมอโดยเฉลี่ยวันละ 1 ครั้ง
3.ใส่ปุ๋ยคอกหลังจากพืชเจริญเติบโตอายุ 2-3 เดือน
4. จัดยอดของต้นเจียวกู่หลานให้เลื้อยเกาะกับผนังหรือตาข่าย (ปลูกในสภาพโรงเรือนที่มีตาข่ายปิดกั้น)
5. คอยดูแลกำจัดวัชพืชตลอดระยะเวลาของการปลูก

ลักษณะทั่วไปของต้นเจียวกู่หลาน

                ปัญจขันธ์  หรือ  มีชื่อจีนว่า  เจียวกู่หลาน เป็นพืชวงศ์ Cucurbitaceae ซึ่งเป็นพืชวงศ์เดียวกับแตงกวาและตำลึง  มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า  Gynostemma  pentaphyllum  Makino  เป็นพืชล้มลุกชนิดเถาเลื้อยขนานกับพื้นดิน   รากงอกออกจากข้อมีใบ 3-5 ใบด้านบนและด้านล่างของใบมีขนสีขาวปกคลุม  มีมือที่อยู่ตรงข้ามกับใบปลายแยกเป็น 2 แฉก สามารถยึดเกาะกับพื้นผนังหรือตาข่ายและเลื้อยขึ้นบนที่สูงได้  ใบเป็นใบประกอบ  เรียงตัวสลับ  ไม่มีหูใบ  ดอกช่อชนิด  raceme  ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน   ดอกตัวผู้มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ  สีเขียวมีขนปกคลุมกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันสีขาวอมเหลืองมีขนปกคลุมเกสรตัวผู้ 5 อัน filament เชื่อมติดกันเป็นมัด  ดอกตัวเมีย  มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกเหมือนดอกตัวผู้  รังไข่ 1อัน แบบ inferior ovary  มี  3 carpel  3  locule  ภายในแต่ละ  locule  มี  1 ovule  ติดแบบ  axile  placentation   style  3-4  อัน มี  stigma  แยกเป็น 2 แฉก  ผล  แบบ  berry  ทรงกลม  ผิวสีเขียว  เมื่อแก่จัดเป็นสีเขียวเข้มถึงดำ  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  0.5-0.6  เซนติเมตร   (ผลงานวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวง  ประจำปี  2545 )

การแปรรูปเจียวกู่หลาน
1.ทำการตัดต้นเจียวกู่หลานเหนือพื้นดินที่มีอายุตั้งแต่  4-5  เดือนขึ้นไปนำมาชั่งน้ำหนักสดและล้างน้ำให้สะอาดรวมทั้งแยกเศษวัชพืชและใบที่แห้งออก
2. นำต้นเจียวกู่หลานมาทำการหั่นและตัดเป็นท่อนๆขนาด2-3 เซนติเมตรโดยแยกทำแต่ละโรงเรือน
3. นำชิ้นส่วนของต้นเจียวกู่หลานที่ตัดแล้วแต่ละโรงเรือนมาทำการนวดให้เกิดฟองโดยผสมเกลือป่น ปริมาณ 5 กรัมต่อน้ำหนักสดเจียวกู่หลาน 1 กิโลกรัม
4. นำเจียวกู่หลานที่ผ่านการนวดแล้วไปผึ่งให้หมาด  ก่อนที่จะนำไปอบให้แห้งในตู้ที่ควบคุมอุณหภูมิ 60-70  องศาเซลเซียสใช้ระยะเวลาในการอบแห้ง  24  ชั่วโมง
5.ในการอบแห้งเจียวกู่หลานต้องคอยกลับหรือสลับชั้นวางเพื่อให้ความร้อนภายในตู้อบกระจายได้อย่างทั่วถึง
6. นำเจียวกู่หลานที่ผ่านการอบแห้งแล้วมาทำการชั่งน้ำหนักรวมโดยแยกแต่ละโรงเรือน  ผึ่งให้เย็นก่อนการนำไปทำการป่นให้ละเอียดบรรจุลงในซองขนาดเล็กหรือคัดแยกบรรจุใส่ถุงเพื่อจำหน่ายต่อไป

  
คณะผู้วิจัย :
บัวบาง   ยะอูป ,สมศักดิ์  รุ่งอรุณ และ วรวิทย์  ยี่สวัสดิ์
หน่วยงาน  :
สถานีวิจัยดอยปุย  สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร.053-211-142