การอบแห้งผักและผลไม้โดยใช้การอบแห้งแบบไมโครเวฟสุญญากาศ
Microwave-vacuum drying of fruit and vegetable

                               
       

          เนื่องจากผักและผลไม้เป็นวัตถุดิบที่มีตามฤดูกาล เน่าเสียง่าย และมีอายุการเก็บรักษาสั้น จึงมักเกิดปัญหาสินค้าล้นตลาดเมื่อถึงฤดูกาลและขาดตลาดเมื่อไม่ใช่ฤดูกาล การอบแห้งเป็นหนึ่งในหลายทางเลือกที่นำมาใช้ในการยืดอายุการเก็บรักษา ทั้งนี้เนื่องจากเทคโนโลยีไม่ซับซ้อนและประหยัด ปัจจุบัน ผักและผลไม้อบแห้งได้รับความนิยมบริโภคเพิ่มขึ้น เนื่องการเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสะดวก (Convenient products) ทำให้เกิดการผลักดันเรื่องคุณภาพของอาหารอบแห้งมากขึ้น การอบแห้งเป็นกระบวนการที่ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยอาศัยการลดปริมาณความชื้นลง เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการอบแห้งแบบดั้งเดิมนั้น มีคุณภาพต่ำ เนื่องจากใช้ความร้อนสูงในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทนต่อความร้อน จุดนี้เอง ทำให้มีการพัฒนาการอบแห้งที่สภาวะสุญญากาศและการอบแห้งแบบแช่เยือกแข็งแต่ต้องใช้เวลาในการอบแห้งนาน ดังนั้นโครงการวิจัยนี้จึงมีเป้าหมายที่จะปรับปรุงกระบวนการอบแห้งโดยใช้ไมโครเวฟร่วมกับสุญญากาศ

           จากการศึกษาการอบแห้งใบเตยโดยใช้การอบแห้งแบบไมโครเวฟสุญญากาศ พบว่า ใบเตยอบแห้งมีสีเขียวธรรมชาติ เมื่อนำมาชงเป็นชาใบเตยทำให้ได้ชาที่มีกลิ่นรสธรรมชาติของใบเตย ดังภาพที่ 1

ภาพที่ 1 ใบเตยอบแห้งไมโครเวฟสุญญากาศ ที่ความดัน 100 mmHg กำลังไมโครเวฟ 2800 วัตต์ เป็นเวลา 8 นาที
   

              จากการศึกษาการอบแห้งพริกแดง (พันธุ์จินดา) โดยใช้การอบแห้งแบบไมโครเวฟสุญญากาศ พบว่า พริกแห้งมีสีแดงส้ม มีลักษณะพองและคงรูป ไม่มีสีคล้ำและไม่เหี่ยวเหมือนกับพริกแห้งทั่วไปที่ได้จากการอบแห้งแบบลมร้อน ลักษณะโครงสร้างของพริกอบแห้งที่ได้มีรูพรุนดังแสดงในภาพที่ 2

ภาพที่ 2 โครงสร้างของพริกอบแห้งไมโครเวฟสุญญากาศ โดยกล้องจุลทรรศน์แบบส่องกราด (กำลังขยาย 500X)

               จากการศึกษาการอบแห้งแบบไมโครเวฟสุญญากาศในมะเขือเทศที่ผ่านการลดปริมาณน้ำโดยการแช่อิ่มมาแล้ว พบว่า มะเขือเทศมีสีแดงส้ม มีลักษณะพองตัวและคงรูป มีค่า water activity ต่ำกว่า 0.60 ทำให้มีความปลอดภัยต่อการเสื่อมสียทางจุลินทรีย์ ดังแสดงในภาพที่ 3

 

1920 W, 5 min. and 1600 w, 5 min
1600 W, 5 min. and 1280 W, 5 min

ภาพที่ 3 มะเขือเทศอบแห้งไมโครเวฟสุญญากาศแบบ 2 ขั้นตอ น ที่ความดัน 100 mmHg

                จากการศึกษาการอบแห้งแบบไมโครเวฟสุญญากาศในลิ้นจี่ที่ผ่านการลดปริมาณน้ำโดยการแช่อิ่มมาแล้ว พบว่า ลิ้นจี่มีสีขาว พองตัวและกรอบ ดังแสดงในภาพที่ 4

ภาพที่ 4 ลิ้นจี่อบแห้งไมโครเวฟสุญญากาศ ที่ความดัน 100 mmHg กำลังไมโครเวฟ 1280 วัตต์ เป็นเวลา 6 นาที

 

  
คณะผู้วิจัย :
นันทวัน เทอดไทย , สันกฤต  ต้นแทน , คณิตตา  พัฒนาภา , พัดชา แก้วกระจ่าง และ โสภิดา เกษมศรีนิวัฒนา
หน่วยงาน :
ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์