แผ่นยางธรรมชาติปูพื้นในคอกโคนม
Rubber mat from natural rubber for dairy production

ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2551 จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

       

                ฟาร์มโคนมจำนวนร้อยละ 90 ในประเทศไทยนั้น เกษตรผู้เลี้ยงโคนมมักจะเลี้ยงโคไว้ในคอกแล้วตัดหญ้ามาให้โคกิน ซึ่งพื้นคอกที่เลี้ยงโคเหล่านี้มักเป็นพื้นซีเมนต์แข็งทำให้กีบและข้อเข่าของโคเกิดอาการเจ็บและอักเสบ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพโคและผลผลิตของโคในเวลาต่อมา เนื่องจากกีบเท้าของโคต้องแบกรับน้ำหนักมากกว่าส่วนอื่น ทั้งยังต้องมีการเสียดสีกับพื้นที่แข็งและแหลมคมจึงมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บได้สูง ทำให้ผลผลิตของสัตว์ลดลงและก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เลี้ยงเป็นอย่างมาก ฉะนั้นการจัดการโรงเรือนโดยให้โคอยู่อย่างสบายบนพื้นคอกเป็นแนวทางหนึ่ง ซึ่งมีการนำวัสดุหลายชนิดมาใช้เป็นพื้นคอกให้กับโค เช่น ดิน ทราย เศษยาง ฟูก เป็นต้น แผ่นยางปูพื้นก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการจัดการให้โคเกิดความสบายในโรงเรือน

                ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตยางพาราเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในปี 2548 และสามารถผลิตยางดิบเพื่อส่งออกได้กว่า 3 แสนตัน ส่วนอุตสาหกรรมการแปรรูปยางดิบภายในประเทศก็มีปริมาณที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งในจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้จากยางพารานั้น แผ่นยางรองพื้น (ภาพที่ 1) ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง โดยเฉพาะในคอกโคซึ่งงานวิจัยในยุโรปและอเมริกาพบว่า คอกที่ปูด้วยแผ่นยางสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงโคได้อย่างดี

ลักษณะพื้นคอกที่ดีสำหรับการเลี้ยงโค
ในการเลือกวัสดุเพื่อจะนำมาทำพื้นคอกสำหรับโคนั้น ต้องมีการพิจารณาหลายๆ ปัจจัย อย่างเช่น พื้นคอกจะต้องทนทานและง่ายต่อการจัดการดูแลรักษา ทำความสะอาดง่ายและไม่อุ้มน้ำ จะต้องไม่ลื่นและป้องกันการบาดเจ็บของเท้าโคได้ พื้นคอกจะต้องมีความนุ่ม สบาย ไม่แข็ง ไม่เย็น และไม่ชื้นแฉะ ควรทำจากวัสดุที่คงสภาพได้นาน ไม่เป็นอันตรายต่อตัวสัตว์ ไม่สะสมและเป็นที่เจริญเติบโตของเชื้อโรค ประการสุดท้าย ราคาต้นทุนของพื้นคอกต้องคุ้มกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอาการบาดเจ็บของโคที่ต้องเสียไปในแต่ละปี

การศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากแผ่นยางปูพื้นคอกโคในประเทศไทย
การใช้แผ่นยางปูพื้นในฟาร์มโคนมในประเทศไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก แต่ก็พบภาพการใช้แผ่นยางปูพื้นในคอกโคนมซึ่งเป็นการปูพื้นรายตัวขนาดประมาณ 1.2x1.8 ตารางเมตร ที่ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก (องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย, อสค.; ภาพที่ 2 เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2505 แต่ก็ไม่พบรายงานผลการใช้ประโยชน์จากการใช้แผ่นยางดังกล่าว

                 ฉะนั้นจึงเป็นแนวคิดที่ทางโครงการวิจัยแห่งชาติ : ยางพารา  ฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ บริษัท สยามยูไนเต็ด รับเบอร์ จำกัด ร่วมกับ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร และภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เริ่มต้นทำการศึกษาและพัฒนาแผ่นยางปูพื้นจากยางธรรมชาติเพื่องานปศุสัตว์ โดยใช้ทั้งโคนมและโคเนื้อมาตั้งแต่ พศ.  2549 โดยมีวัตถุ ประสงค์ในการวิจัย 2 ส่วน

                 งานวิจัยในส่วนที่ 1 เป็นการหาสูตรและเทคนิคการใช้ยางธรรมชาติในการผลิตแผ่นยางปูพื้นสำหรับคอกสัตว์ที่มีสมบัติต่างๆ เช่น ความอ่อนนุ่มที่พอเหมาะ (softness) ป้องกันการลื่นไถล (friction) ของโคขณะลุก นั่ง และเดิน และไม่ก่อให้เกิดแผลที่กีบของโคอันเนื่องมาจากการขูดขีด (abrasiveness) ตลอดจนสามารถทำความสะอาดได้ง่าย  ทั้งยังเหมาะต่อสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของประเทศไทยซึ่งจะมีผลต่ออายุการใช้และการบำรุงรักษา  นอกจากนั้นจะทำการวิเคราะห์แผ่นยางปูพื้นเพื่อหาสารอันตรายที่มีต่อโคว่ามีหรือไม่ ทั้งนี้จะมีการหาความเชื่อมโยงระหว่างผลทดสอบจากห้องปฏิบัติการกับผลทดสอบการใช้งานจริงเพื่อนำไปสู่การเสนอข้อมูลให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนดเป็นมาตรฐานของประเทศต่อไป ผลวิจัยพบว่า สูตรยางที่เหมาะสมในการนำไปผลิตเพื่อการค้าคือสูตรที่เติม CaCO3 ในปริมาณ 250 phr ซึ่งให้ค่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลังการนำไปใช้จริงต่ำสุด นอกจากนี้ยังมีราคาต้นทุนในการผลิตที่ต่ำกว่าสูตรเริ่มต้นของโรงงานอีกด้วย  อีกทั้งแผ่นนางปูพื้นเป็นส่วนผสมจากยางธรรมชาติ ที่ผลิตได้ในประเทศ ซึ่งขนาดที่ใช้กันอยู่นี้ (ภาพที่ 3) คือ  120x180x15 มม. มีน้ำหนักอยู่ในราวแผ่นละ 45-50 กก. และมีความยืดหยุ่น นุ่ม ทำความสะอาดง่าย ที่สำคัญก็คือไม่อุ้มน้ำ และไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์เลย

             งานวิจัยในส่วนที่ 2 เป็นนำแผ่นยางไปใช้งานจริงในฟาร์มโคนมของศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตนม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม เป็นสถานที่ทำการทดลอง ซึ่งผลการวิจัยพบว่า โคนมไม่ว่าจะเป็นแม่โคในระยะการให้นมหรือแม่โคแห้งนมมีพฤติกรรมความชอบตามธรรมชาติที่ต้องการอยู่บนพื้นคอกที่มีความนุ่ม จึงใช้เวลาส่วนใหญ่หลังการกินอาหาร ยืนเดินนั่งนอนบนพื้นยางที่มีความนุ่มมากกว่าพื้นคอนกรีตที่มีความแข็ง เนื่องจากทำให้โครู้สึกสบาย โดยเฉพาะบริเวณเท้าที่ต้องมีการสัมผัสกับพื้นโดยตรง ซึ่งพื้นยางสามารถลดการบาดเจ็บที่บริเวณเข่า และที่ขาทั้งสี่ข้างที่เกิดจากการนอน และการลุกขึ้นบนพื้นคอนกรีตที่แข็ง อันจะส่งผลต่อสรีรร่างกายสัตว์ตามหลักการสวัสดิภาพสัตว์ (Animal welfare) คือส่งผลให้สัตว์มีสุขภาพดี ซึ่งพื้นยางที่ปูในคอกจะทำให้โคอยู่ในโรงเรือนอย่างสุขสบาย ก็จะส่งผลต่อไปยังการให้ผลผลิตที่ดีขึ้น กล่าวคือเมื่อนำพื้นยางไปปูพื้นในคอกสำหรับเลี้ยงโคขุน แม่โครีดนม และในโคนมในระยะรุ่น-สาว จะมีผลต่อการเปลี่ยน แปลงที่ดีขึ้นต่อลักษณะทางสรีรวิทยา เช่น ฮอร์โมน เอนไซม์ ค่าโลหิตวิทยา รวมทั้งระบบภูมิคุ้มกัน โดยจะพบว่าความรุนแรงของบาดแผลบริเวณขา หัวเข่า และกีบของโคที่เลี้ยงบนพื้นยางจะลดลง หรือไม่เกิดรอยแผลเลย นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาประสิทธิภาพในการผลิตแล้ว จะพบว่าปริมาณการกินได้ ประสิทธิภาพการใช้อาหาร อัตราการเจริญเติบโต และ ผลผลิตนมของโคที่เลี้ยงบนพื้นยางจะสูงกว่ากลุ่มที่เลี้ยงบนพื้นคอนกรีต (ภาพที่ 4)   แม่โคในกลุ่มที่เลี้ยงบนพื้นยางนั้นสามารถกินอาหารได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5.4  เปอร์เซ็นต์ และผลผลิตนมเพิ่มขึ้นประมาณ 4.85 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายนมเพิ่มขึ้นวันละ 5.93 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในโคสาวนั้นแม้ว่าปริมาณการกินอาหารและอัตราการเจริญเติบโตของโคทั้งสองกลุ่มจะแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติก็ตาม แต่ประสิทธิภาพของแผ่นยางรองพื้นในคอกโคมีผลต่อการลดลงของอาการเจ็บบริเวณหัวเข่าด้านหน้าและข้อเข่าบริเวณขาหลังของโคสาวที่เลี้ยงบนพื้นยาง ทำให้ลดการรักษาพยาบาลในส่วนของกีบและเท้าโค แต่ทำให้สุขภาพกีบเท้าดีขึ้น (ภาพที่ 5)

             การต่อยอดผลการวิจัยในอนาคต

  1. การวิจัยในส่วนของการผลิตน้ำเชื้อคุณภาพดีจากโคพ่อพันธุ์ โดยให้พ่อโคได้ยืนบนพื้นยาง ทั้งนี้เพื่อให้พ่อโคไม่ต้องระแวงต่อการลื่นล้มจากพื้นคอนกรีตที่ทั้งแข็งและลื่น
  2. การนำผลการวิจัยไปขยายผลในฟาร์มตัวอย่าง จะเป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญต่อการนำผลการวิจัยในสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม อีกทั้งการนำผลการทดลองไปบรรยายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆก็จะเป็นการเผยแพร่ร่วมกับการขยายผลในฟาร์มตัวอย่าง ซึ่งโอกาสที่จะเป็นไปได้ค่อนข้างสูง นอกจากนี้เกษตรกรสามารถจัดหาพื้นยางดังกล่าวจากบริษัทผู้ผลิตโดยเกษตรกร สหกรณ์โคนม และบริษัทผู้ผลิตจะต้องร่วมหาแนวทางในการนำแผ่นยางไปใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
  3. การนำผลการทดลองไปประยุกต์ใช้ในสัตว์เศรษฐกิจอื่นๆ เช่นในสุกร โดยเฉพาะในคอกสุกรเลี้ยงลูก จะช่วยลดอาการบาดเจ็บจากข้อเข่าของลูกสุกรในขณะกินนมแม่ รวมทั้งลดการบาดเจ็บของส่วนหัวไหล่ของแม่สุกรในขณะเลี้ยงลูก (ภาพที่ 6)

             กล่าวโดยสรุปการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางพาราในรูปของอุปกรณ์ในการเลี้ยงสัตว์เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปยางดิบภายในประเทศก็มีปริมาณที่สูงขึ้น นอกจากจะช่วยเกษตรกรชาวสวนยางแล้ว ผลิตภัณฑ์จากยางพาราในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ให้เกิดสวัสดิภาพในการเลี้ยงสัตว์ให้สูงขึ้น โดยเฉพาะในฟาร์มโคนม ซึงการใช้แผ่นยางปูพื้นจะช่วยลดอาการบาดเจ็บจากบาดแผลที่เกิดจากการที่สัตว์เคยอาศัยอยู่บนพื้นคอนกรีต จะลดลงเมื่อนำมาเลี้ยงในคอกที่ปูด้วยพื้นยาง

ภาพที่ 1 แสดงแผ่นยางรองพื้น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้จากยางพารา
ภาพที่ 2 แสดงแผ่นยางปูคอกโคที่ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย เมื่อพศ. 2505

ภาพที่ 3 แสดง แผ่นยางปูคอกโค ที่เหมาะสมสำหรับการนำไปใช้ในฟาร์ม

ภาพที่ 4 แม่โครีดนมชอบยืนบนพื้นยาง

C:\Documents and Settings\Administrator\My Documents\wgik5_6.jpg
ภาพที่ 5 แม่โครีดนมที่เลี้ยงบนพื้นยาง มีสุขภาพกีบและเท้าที่ดีขึ้น
ภาพที่ 6 แสดงลูกสุกรกำลังดูดนมแม่สุกรในขณะเลี้ยงลูก

 

  

คณะผู้วิจัย :
สมเกียรติ ประสานพานิช1 และ วิรัญญา แก้ววัฒนะ2
หน่วยงาน :
1ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 02-5791120