การลอกกาวไหมด้วยเอนไซม์ธรรมชาติ
ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดโครงงานคหกรรมศาสตร์ 
เพื่อการลดภาวะโลกร้อน ระดับอุดมศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2551


             การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการลอกกาวไหมด้วยเอนไซม์ธรรมชาติ  โดยการเปรียบเทียบผลการลอกกาวไหมด้วยเอนไซม์ปาเปนจากมะละกอดิบ  และการลอกกาวไหมด้วยเอนไซม์โบรมิเลนจากน้ำสับปะรด  โดยวิธีการแช่หมักและการแช่หมักโดยเติม Wetting agent  กับการลอกกาวไหมด้วยสารเคมี (โซเดียมคาร์บอเนต)  โดยศึกษาผลการลอกกาวจากร้อยละของน้ำหนักที่สูญหาย  ความรู้สึกสัมผัส  และความขาวของเส้นใย  โดยวิธีการดังนี้  หาน้ำหนักไหมดิบโดยนำเข้าอบด้วยเครื่องอบ (WTC binder) อุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียส  นาน 2 ชั่วโมง  นำไหมเข้าเครื่องดูดความชื้นนาน 90 นาที หรือจนกว่าค่าความชื้นคงที่  ชั่งน้ำหนักด้วยเครื่องชั่งดิจิตอล  จากนั้นนำไหมดิบไปลอกกาวด้วยมะละกอดิบและน้ำสับปะรด  โดยใช้อัตราส่วนน้ำ:ไหมเท่ากับ 10:1  มะละกอดิบหรือน้ำสับปะรด 2 เท่าของน้ำหนักไหม  แช่หมักโดยขยำทำความสะอาดเป็นระยะ ๆ  นาน 30 นาที 60 นาที และ 90 นาที  ล้างไหมด้วยน้ำให้สะอาด 5 ครั้ง  ผึ่งให้แห้งสนิท  ส่วนวิธีการลอกกาวโดยใช้สารเคมี  ใช้อัตราส่วนน้ำ:ไหมเท่ากับ 30:1  โซเดียมคาร์บอเนต 5% ของน้ำหนักไหม  Wetting agent  1% ของน้ำหนักไหม  นำไหมดิบลงต้มที่อุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียส  นาน 30 นาที  ล้างไหมด้วยน้ำให้สะอาด 5 ครั้ง  ผึ่งไหมให้แห้งสนิท  หาน้ำหนักไหมหลังการลอกกาวด้วยวิธีการเดียวกับการหาน้ำหนักก่อนการลอกกาว
            ผลการทดลองพบว่า  การลอกกาวไหมด้วยน้ำสับปะรดได้ผลดีกว่าใช้มะละกอ  การลอกกาวด้วยเอนไซม์ธรรมชาติจะให้ผลดีกว่าเมื่อใช้ Wetting agent  และการใช้เวลาที่นานกว่าจะให้ผลที่ดีขึ้น  ทั้งนี้ผลการลอกกาวด้วยสารเคมี  น้ำสับปะรดและมะละกอดิบ  โดยมี Wetting agent  ได้ค่าเฉลี่ยร้อยละน้ำหนักที่สูญหาย 22.480, 10.803, 13.820 ตามลำดับ  จากผลการทดลองสามารถสรุปได้ว่า  การใช้เอนไซม์จากธรรมชาติสามารถลอกกาวไหมได้  ทั้งนี้การเพิ่มระยะเวลาในการแช่หมักจะเป็นแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการลอกกาวไหมได้ดียิ่งขึ้น  และหากมีการเปลี่ยนการลอกกาวไหมด้วยสารเคมีซึ่งต้องใช้ความร้อนจากไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง  มาเป็นการใช้เอนไซม์จากธรรมชาติแล้ว  ย่อมสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนทั้งทางตรงและทางอ้อม  กล่าวคือ  การใช้เอนไซม์เป็นวิธีการแช่หมักไม่ใช้ความร้อนทำให้ไม่เพิ่มอุณหภูมิของโลก  อีกทั้งการใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงเป็นการทำลายทรัพยากรป่าไม้  นอกจากนี้กระบวนการลอกกาวด้วยเอนไซม์ไม่มีสารเคมีเหลือทิ้งจากกระบวนการลอกกาว  ทำให้ลดการก่อมลพิษทางน้ำและดิน  ซึ่งเป็นทรัพยากรสนับสนุนการเจริญเติบโตของทรัพยากรป่าไม้และเกษตรกรรม  ซึ่งป่าไม้เป็นปัจจัยสำคัญในการลดอุณหภูมิของโลกและดูดซับมลพิษทางอากาศ  ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจกต้นเหตุของภาวะโลกร้อน

อาจารย์ศรันยา  เกษมบุญญากร
นางสาวทักษอร  แซ่ยุ้ง
นางสาววรวรรณ  รุ้งแสงเจริญทิพย์

นางสาวทักษอร  แซ่ยุ้ง
นางสาววรวรรณ  รุ้งแสงเจริญทิพย์

 


 

  
คณะผู้วิจัย :
์ศรันยา    เกษมบุญญากร, ทักษอร  แซ่ยุ้ง และ วรวรรณ  รุ้งแสงเจริญทิพย์
สาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม  ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
02-579-5514 ต่อ 131