รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น ประจำปีการศึกษา 2550
กลุ่มวิทยาศาสตร์สังคม รางวัลดีเด่น
ระดับปริญญาโท


นางสาวพรทิพย์  แซ่เตียว  สาขาวิชาพัฒนาสังคม
โครงการสหวิทยาการระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

       

ชื่อวิทยานิพนธ์รูปการจิตสำนึกชนชั้นกรรมาชีพของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย: ศึกษาเฉพาะกรณี ผู้เป็นสมาชิกพรรคฯ ที่เคยปฏิบัติงานอยู่ในฐานที่มั่นจังหวัดน่าน
สถานที่ทำงานปัจจุบัน: สาขาวิชาพัฒนาสังคม โครงการสหวิทยาการระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร
ตำแหน่ง: ผู้ช่วยนักวิจัย

คณะกรรมการที่ปรึกษา:
                1. รศ.พรภิรมณ์  เชียงกูล                    อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก
                2. รศ.ดร.สุธี  ประศาสน์เศรษฐ            อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม

ผลงานตีพิมพ์: 

  • พรทิพย์  แซ่เตียว. 2551. สมาชิก พคท. ที่เคยปฏิบัติงานอยู่ในฐานที่มั่นจังหวัดน่าน ละเลิกรูปการจิตสำนึก
    ชนชั้นกรรมาชีพแล้วจริงหรือ?. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 8(1): 277-311.

บทคัดย่อ:

            การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะรูปการจิตสำนึกชนชั้นกรรมาชีพในทัศนะของสมาชิก  พคท.  ตลอดจนเงื่อนไขการเกิดขึ้น  การดำรงอยู่  การพัฒนา  และการแปรเปลี่ยนรูปการจิตสำนึกชนชั้นกรรมาชีพของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่เคยปฏิบัติงานอยู่ในฐานที่มั่นจังหวัดน่าน  โดยมีกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยคือสมาชิก  พคท.  ที่เคยปฏิบัติงานอยู่ในฐานที่มั่นจังหวัดน่าน  จำนวน  22  คน  รวบรวมข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก  วิเคราะห์ข้อมูลและสรุปโดยการอ้างอิงแบบอุปนัย  

            ผลการวิจัยสรุปได้ว่า  ลักษณะรูปการจิตสำนึกชนชั้นกรรมาชีพในทัศนะของสมาชิก  พคท.  ประกอบด้วย  ความหมาย  รากฐานที่มา  โครงสร้าง  เนื้อหา  และพัฒนาการ  ตั้งอยู่บนพื้นฐานของลัทธิมาร์กซและสัมพันธ์กับสถานการณ์ของประเทศไทย  สำหรับการเกิดขึ้นของรูปการจิตสำนึกชนชั้นกรรมาชีพของสมาชิก  พคท.  ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข  5  ประการ  คือ  การศึกษาเอกสารแนวคิดของ  พคท.  การปลูกฝังจากครอบครัวหรือโรงเรียน  การเข้าร่วมเหตุการณ์ทางการเมือง  การถูกกดขี่ขูดรีดจากเจ้าหน้าที่รัฐ  และการเข้าหน่วยจัดตั้งของ  พคท.  ซึ่งเป็นเงื่อนไขชี้ขาดการเกิดรูปการจิตสำนึกชนชั้นกรรมาชีพ  โดยมีกระบวนการปลูกฝังหล่อหลอมรูปการจิตสำนึกชนชั้นกรรมาชีพของ  พคท.  การศึกษาลัทธิมาร์กซ  การปฏิบัติปฏิวัติ  และผลการปฏิบัติปฏิวัติเป็นเกณฑ์ชี้วัดการดำรงอยู่และการพัฒนาของรูปการจิตสำนึกชนชั้นกรรมาชีพของสมาชิก  พคท.  ที่เคยปฏิบัติงานอยู่ในฐานที่มั่นจังหวัดน่าน

            ส่วนการแปรเปลี่ยนรูปการจิตสำนึกชนชั้นกรรมาชีพ  ปรากฎชัดเจนภายหลังการสลายตัวของฐานที่มั่นจังหวัดน่านปี  2526  โดยพบว่า  ปัจจุบัน  สมาชิก  พคท.  ที่เคยปฏิบัติงานอยู่ในฐานที่มั่นจังหวัดน่าน  แบ่งเป็น  4  กลุ่ม  คือ  1.  กลุ่มเด็ดเดี่ยว  ยืนหยัดรูปการจิตสำนึกชนชั้นกรรมาชีพ  ใช้ลัทธิมาร์กซชี้นำการปฏิบัติทางสังคม  เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมือง  คิดเป็น  13.63  เปอร์เซนต์  2.  กลุ่มลังเล  ใช้ลัทธิมาร์กซตามความรู้เดิม  ไม่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมือง  คิดเป็น  22.73  เปอร์เซนต์  3.  กลุ่มละเลิกรูปการจิตสำนึกชนชั้นกรรมาชีพและมีรูปการจิตสำนึกชนชั้นอื่น  คิดเป็น  54.55  เปอร์เซนต์  และ  4.  กลุ่มต่อต้านรูปการจิตสำนึกชนชั้นกรรมาชีพ  หักล้างหลักการพื้นฐานของลัทธิมาร์กซ  ร่วมมือกับชนชั้นปกครองและทำงานเป็นสายข่าวให้ภาครัฐ  คิดเป็น  9.09  เปอร์เซนต์