GABA – RICE    (ข้าวกล้องงอกเพิ่ม GABA)
ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2550
ประเภท : อาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สาขา : เกษตรศาสตร์ อุตสาหกรรมเกษตร ประมง และ วนศาสตร์

       

             โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องงอก  GABA -RICEเพื่อให้มีปริมาณ GABA ไม่น้อยกว่า 15 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมของข้าว เป็นแนวทางของนวัตกรรมอาหารจากข้าวแนวทางหนึ่งคือ การเพิ่มปริมาณ GABA จากข้าวกล้อง ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้าวให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และได้ประโยชน์ทางสุขภาพจาก GABA ด้วย ซึ่งสามารถนำไปเป็นจุดขายสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารจากข้าวในเชิงสุขภาพได้เด่นชัดขึ้น 
             GABA หรือกรดแกมมา แอมิโนบิวทิริก (gamma-amino butyric acid) มีบทบาทสำคัญในการเป็นสารสื่อประสาทประเภทยับยั้งในระบบประสาทส่วนกลาง มีการใช้กรดนี้ในการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาทหลายโรค เช่น โรควิตกกังวล นอนไม่หลับ โรคลมชัก และยังมีคุณสมบัติในการลดความดันโลหิตอีกด้วย  คนไทยและผู้บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก นิยมรับประทานข้าวหุงสุกจากข้าวทั้งเมล็ด ผู้ที่รับประทานข้าวกล้องเป็นประจำยังมีน้อย เนื่องจากข้าวกล้องมีเนื้อสัมผัสที่แข็ง การนำข้าวมางอก นอกจากจะได้ประโยชน์จากปริมาณ GABA ที่สูงขึ้นแล้ว ยังทำให้ข้าวงอกมีเนื้อสัมผัสที่อ่อนนุ่ม รับประทานได้ง่าย ข้าวกล้องงอกที่ผ่านกรรมวิธีการเพิ่ม GABA ให้สูงขึ้นแล้วนี้ นอกจากจะนำมาหุงต้มเพื่อรับประทานแล้วยังสามารถนำมาพัฒนาเป็นแป้งข้าวกล้องงอกและผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพได้หลายชนิด เช่น อาหารว่าง ขนมขบเคี้ยว ซุป เครื่องดื่ม ฯลฯ
            ผลิตภัณฑ์ GABA -RICEพัฒนาต่อยอดจากโครงการวิจัยเรื่อง การใช้ประโยชน์จากคัพภะข้าวและข้าวกล้องงอกเป็นอาหารสุขภาพเพื่อเพิ่มมูลค่า ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ระหว่างปีงบประมาณ 2548-49 จากนั้นสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ บริษัทปทุมไรซ์มิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) และ บริษัทธวัชชัย อินเตอร์ไรซ์ จำกัด ได้มีโครงการขยายผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์  โดยพัฒนาสายการผลิตต้นแบบสำหรับผลิต GABA -RICE  วัตถุประสงค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทย ยกระดับอุตสาหกรรมข้าวของประเทศ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ ขณะนี้โรงงานต้นแบบผลิตข้าวกล้องงอก ดังกล่าว  ตั้งอยู่ที่สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  บางเขน 

  
คณะผู้วิจัย :
พัชรี ตั้งตระกูล วารุณี วารัญญานนท์ วิภา  สุโรจนะเมธากุล และลัดดา วัฒนศิริธรรม
หน่วยงาน :
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์