Bio-Net Reactor ถังตาข่ายตรึงเซลล์อเนกประสงค์เพื่อการบำบัดน้ำเสีย
ได้รับรางวัล INVENTOR AWARD ระดับดีเยี่ยม ประจำปี  2551
ด้าน เกษตรศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตร
ในงานนิทรรศการงาน”วันนักประดิษฐ์”และ”วันนักประดิษฐ์นานาชาติ”
จาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ




ผลงานวิจัยโดยสรุป

                  Bio-Net Reactor (ถังไบโอ-เน็ท)  เป็นถังบำบัดชนิดระบบฟิกส์เบค (fixed bed) ซึ่ง Maeda et al. (1977)  ได้พัฒนาขึ้นมา  [โดยในคณะวิจัยขณะนั้น  มีผู้ร่วมวิจัย คือ Boongorsrang , A  (น.ส. อรุณวรรณ  บุญก่อสร้าง)  ซึ่งในปัจจุบัน คือ นางอรุณวรรณ  หวังกอบเกียรติ] เพื่อใช้แก้ปัญหาน้ำเสียคาร์โบไฮเดรต    น้ำเสียประเภทคาร์โบไฮเดรตนั้น โดยทั่วไปเมื่อบำบัดในระบบแอคติเวดเต็ดสลัดจ์ (activated sludge) จะเกิดปัญหาตะกอนลอยตัว  และถ้าใช้กับระบบทริคคลิงฟิลเตอร์ (trickling filter) หรือระบบฟิกส์เบคทั่วๆไปจะเกิดปัญหาการอุดตันและเกิดกลิ่นเหม็น  แต่ระบบฟิกส์เบคของ Maeda et al. (1977)  ได้พัฒนาโดยใช้แผ่นตาข่าย  เป็นตัวกลางตรึงเซลล์  และมีการให้อากาศในถังบำบัด  ทำให้ช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวให้หมดไปได้ การที่จุลินทรีย์สามารถเกาะบนตาข่ายซึ่งจัดเรียงขนานกันในแนวดิ่งด้วยระยะที่เหมาะสม  ทำให้มีข้อดีดังนี้

  1. ไม่ต้องมีการหมุนเวียนตะกอน (no sludge return)
  2.  ไม่เกิดปัญหาตะกอนลอยตัว (no sludge bulking)
  3.  ไม่เกิดปัญหาตะกอนไหลออกนอกระบบ (no sludge wash out)
  4.  ไม่เกิดปรากฏการณ์การอุดตันแม้ในกรณีภาระบรรทุกสูง ๆ
  5.  ไม่เกิดปัญหากลิ่นเหม็น
  6.  ประดิษฐ์ง่าย ควบคุมง่าย  มีประสิทธิภาพสูง

         อรุณวรรณ  หวังกอบเกียรติ และคณะ  ได้เห็นข้อดีดังกล่าว  จึงได้ทำการทดลองและวิจัยพัฒนาดังต่อไปนี้ 

  1. ตั้งชื่อระบบนี้ใหม่ว่า Bio-Net System (อรุณวรรณ และคณะ 2536, อรุณวรรณและนุกูล 2538) เรียกถังบำบัดน้ำเสียที่มีตาข่ายตรึงเซลล์นี้ว่า Bio-Net Reactor
  2. ได้ทดลองวิจัยใช้งานกับน้ำเสียชนิดต่าง ๆ นอกเหนือจากน้ำเสียคาร์โบไฮเดรต (ซึ่งมีจุลินทรีย์กลุ่ม heterotrophs ทำงานตรึงบนแผ่นตาข่าย) ทำให้ทราบศักยภาพของ Bio-Net Reactor ว่ามีความสามารถในการบำบัดน้ำเสียได้หลากหลายทั้งที่เป็นอินทรียสาร และอนินทรียสาร เช่น แอมโมเนีย ไนไตรท์ ไนเตรท ฟอสเฟต (ซึ่งมีจุลินทรีย์หลากหลายกลุ่มในพวก autotrophs เช่น nitrifying bacteria, สาหร่ายชนิดต่าง ๆ เจริญบนแผ่นตาข่ายได้)
  3. ทดลองใช้งานกับสภาพไร้อากาศ (anaerobic condition) โดยใช้กลุ่ม denitrifying bacteria เพื่อกำจัดไนเตรทแทน aerobic condition ทำให้ทราบว่าถังตาข่ายมีศักยภาพในการให้จุลินทรีย์ทั้ง anaerobic และ aerobic microorganisms หลากหลายชนิดตรึงและทำงานบำบัดน้ำเสียได้หลากหลายชนิดด้วย

             จึงขอสรุปความสามารถของ Bio-Net Reactor ว่าสามารถตรึงเซลล์จุลินทรีย์ได้หลากหลายชนิด  ทำให้แสดงศักยภาพและประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียได้หลากหลายชนิดเช่นกัน ดังนั้น Bio-Net Reactor จึงมีศักยภาพในการพัฒนาใช้ประโยชน์เพื่อบำบัดน้ำเสียจากกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรได้หลากหลาย เช่น น้ำเสียจาก โรงงานแป้ง  เส้นหมี่  ก๋วยเตี๋ยว  ขนมปัง โรงงานผลิตปุ๋ย  อาหารโปรตีน น้ำเสียจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฯลฯ

 

 

คณะผู้วิจัย :
อรุณวรรณ  หวังกอบเกียรติ,  นุกูล  อินทระสังขา,  ศิริวัฒน์  คูเจริญไพบูลย์, 
วิธู  นันทิธัญญธาดา,  วิเชียร  ยงมานิตชัย,  หยกแก้ว  ยามาลี และ  ยงยุทธ  เจียมไชยศรี
แหล่งทุนสนับสนุน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์