โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
The King’s Royally Initiated Laem Phak Bia Environmental Research and Development
Project Laem Phak Bia Sub-distric, Ban Laem Distric, Petchaburi Province

       

1) พระราชดำริ

             “..ปัญหาสำคัญ  คือ  เรื่องสิ่งแวดล้อม  เรื่องน้ำเสียกับขยะ  ได้ศึกษามาแล้วเหมือนกัน  ทำไม่ยากนัก  ในทางเทคโนโลยีทำได้ แล้วในเมืองไทยเองก็ทำได้.. ”
           “..โครงการที่จะทำนี้ไม่ยากนัก คือว่า ก็มาเอาสิ่งที่เป็นพิษออก พวกโลหะหนักต่างๆเอาออก ซึ่งมีวิธีทำ ต่อจากนั้นก็มาฟอกใส่อากาศ บางทีก็อาจไม่ต้องใส่อากาศ แล้วก็มาเฉลี่ยใส่ในบึง หรือเอาน้ำไปใส่ในทุ่งหญ้าแล้วก็เปลี่ยนสภาพของทุ่งหญ้าเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับปลูกพืช ปลูกต้นไม้..”
           “.. แล้วก็ต้องทำการเรียกว่า การกรองน้ำ ให้ทำน้ำนั้นไม่ให้โสโครก แล้วก็ปล่อยน้ำลงมาที่เป็นที่ทำการเพาะปลูก  หรือทำทุ่งหญ้า หลังจากนั้นน้ำที่เหลือก็ลงทะเล โดยที่ไม่ทำให้น้ำนั้นเสีย..”

 

กระแสพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2533

2) ความเป็นมาของโครงการฯ

          โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เกิดขึ้นสืบเนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงมีพระราชดำริด้านปัญหาขยะและน้ำเสีย โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การศึกษาวิจัยหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียและขยะชุมชนที่ประหยัด สะดวก ทำได้ง่าย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศได้อย่างกว้างขวาง

3) ระยะเวลาดำเนินการ

ระยะที่ 1 ปี พ.ศ.2533-2536
การทดลองศึกษาความเป็นไปได้ในการกำจัดขยะ
ระยะที่ 2 ปี พ.ศ.2537-2539
การหารูปแบบการทดลองภาคปฏิบัติ ทดลองในภาคปฏิบัติ
ระยะที่ 3 ปี พ.ศ.2540-2542
การหาประสิทธิภาพและสร้างแบบจำลองระบบบำบัดน้ำเสียและการกำจัดขยะ
ระยะที่ 4 ปี พ.ศ.2543 ถึงปัจจุบัน
การส่งเสริมเผยแพร่เทคโนโลยีของโครงการฯ

 

4) เทคโนโลยีตามแนวพระราชดำริ

            (1) เทคโนโลยีการกำจัดขยะ
             โครงการฯ ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการกำจัดขยะชุมชนด้วยวิธีการทำปุ๋ยหมักซึ่งประหยัดพื้นที่ ประหยัดค่าใช้จ่าย และสะดวกในการนำปุ๋ยมาใช้ประโยชน์
            หลักการ : โดยธรรมชาติ ขยะมีจุลินทรีย์อยู่แล้ว และเกิดการย่อยสลายเป็นไปตามธรรมชาติ แต่กระบวนการย่อยสลายอาจเป็นไปอย่างช้าๆ หรือแปรตามสภาพปัจจัยแวดล้อม เช่น ออกซิเจน ฯลฯ ส่วนมากหากนำขยะมากองรวมกัน นอกจากจะดูไม่สวยงามแล้ว ด้านล่างกองขยะจะเกิดการย่อยแบบไร้อากาศ ซึ่งขยะจะย่อยได้ช้า และเกิดก๊าซที่มีกลิ่นเหม็น โดยเฉพาะในช่วง 3 วันแรกของการย่อย โครงการได้พัฒนาเทคโนโลยีการหมักขยะขึ้น โดยปรับรูปแบบมาหมักขยะในภาชนะ/สิ่งก่อสร้างที่มิดชิด สามารถป้องกันน้ำชะขยะ แก้ไขปัญหากลิ่นเหม็น และช่วยให้การหมักเกิดต่อเนื่อง

ภาพที่1 เทคโนโลยีการกำจัดขยะด้วยกล่องคอนกรีต

            (2) เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย

                        โครงการฯ รวบรวมน้ำเสียจากเทศบาลเมืองเพชรบุรีส่งผ่านท่อลำเลียงระยะทางประมาณ 18.5 กิโลเมตร เข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียของโครงการฯ โดยใช้กระบวนการทางธรรมชาติบำบัดน้ำเสียประกอบด้วย 4 ระบบ คือ
                   2.1 ระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย (lagoon treatment)
หลักการ : ระบบนี้ใช้หลักการบำบัดน้ำเสียโดยอาศัยกลไกให้สาหร่ายสังเคราะห์แสงเพื่อให้ออกซิเจนแก่จุลินทรีย์สำหรับการหายใจและย่อยสลายของเสีย โดยมีลมพัดช่วยเติมอากาศและแสงแดดเป็นตัวช่วยฆ่าเชื้อโรคอีกทางหนึ่ง ระบบนี้เหมาะสำหรับเมืองในเขตร้อนเช่นประเทศไทย
                   2.2 ระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย (plant and grass filtration)
หลักการ : การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบนี้อาศัยหลักการใช้ดินเป็นตัวกรองของเสียและจุลินทรีย์ ในดินทำหน้าที่เป็นตัวย่อยของเสีย ของเสียที่ย่อยแล้วพืชจะเป็นตัวดูดเอาไปใช้ในการเติบโต ทำให้ของเสียเปลี่ยนเป็นมวลชีวภาพ น้ำเสียที่ผ่านระบบจะมีคุณภาพดีและสามารถระบายสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้
                   2.3 ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม (constructed wetland)
หลักการ : พืชน้ำโดยทั่วไปมีความสามารถในการปรับตัวอยู่ในสภาพน้ำขังได้โดยการดึงเอาออกซิเจนจากอากาศ ส่งผ่านระบบเนื้อเยื่อในส่วนลำต้นลงสู่ระบบลำต้นใต้ดินและราก ซึ่งอากาศในส่วนนี้จะปลดปล่อยออกไปสู่บริเวณรอบรากพืชทำให้จุลินทรีย์ในดินสามารถย่อยของเสียที่ถูกดินกรองได้แล้วเปลี่ยนไปเป็นสารที่พืชรวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
                   2.4 ระบบแปลงพืชป่าชายเลน (mangrove forest filtration)
หลักการ : พืชป่าชายเลน เป็นพืชที่มีคุณสมบัติคล้ายพืชน้ำ กล่าวคือสามารถดำรงชีพอยู่ในสภาวะน้ำท่วมขังได้ โดยมีการปรับตัวทางสรีระ เพื่อดึงออกซิเจนจากบรรยากาศ ส่งผ่านระบบลำต้นสู่ราก นอกจากนั้นยังมีรากอากาศที่สามารถดึงอากาศได้ ออกซิเจนที่พืชขนส่งไปที่ระบบราก ส่วนหนึ่งจะปลดปล่อยสู่บริเวณรอบๆ ราก และจุลินทรีย์ในดินสามารถนำไปใช้ในการย่อยสลายของเสียได้

ภาพที่ 2 เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย

5) ผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการ

  • แม่น้ำเพชรบุรีมีคุณภาพน้ำดีขึ้น
  • ระบบนิเวศป่าชายเลนมีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้น
  • บ่อบำบัดน้ำเสียสามารถเลี้ยงปลาโดยไม่ต้องให้อาหาร
  • ปุ๋ยหมักจากขยะและน้ำชะจากขยะสามารถนำมาปลูกพืชเกษตรได้
  • น้ำเสียและน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วสามารถนำมาใช้ปลูกพืชเกษตรได้
  • พืชที่เก็บเกี่ยวจากแปลงพืชบำบัดน้ำเสียนำมาทำเครื่องจักสานผลิตสินค้าหัตถกรรม และทำเยื่อกระดาษได้

6) การส่งเสริมเผยแพร่เทคโนโลยีสู่สาธารณชน

  • การประชาสัมพันธ์โครงการผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ
  • การฝึกอบรมให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ เช่น ผู้บริหารท้องถิ่น กลุ่มสตรีแม่บ้าน นักเรียน นิสิตนักศึกษา ฯลฯ
  • การจัดประชุมสัมมนา/การประชุมเชิงปฏิบัติการ การประชุมวิชาการ
  • การบริการวิชาการ โดยให้คำปรึกษาในการวางแผนและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น

ภาพที่ 3 การศึกษาดูงานในพื้นที่โครงการฯ

ภาพที่ 4 กิจกรรมส่งเสริมเผยแพร่เทคโนโลยีของโครงการฯ

  
คณะผู้วิจัย :
เกษม จันทร์แก้ว และคณาจารย์วิทยาลัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
หน่วยงาน :
วิทยาลัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร : 02-5792116