แนวทางการเลี้ยงกุ้งโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
Shrimp Culture According to His Majesty’s Philosophy (Sufficiency Economy)

       

“...ที่เขาพูดว่าทำกุ้งกุลาดำนี้ทำให้เกิดมลพิษ ถ้าทำไม่ดี ถ้าทำอย่างแร้นแค้น ก็จริงทำให้
ทะเลเป็นพิษ. แต่เดี๋ยวนี้มีวิธีที่จะทำให้กุ้งกุลาดำนี้เป็นรายได้ดีและไม่เป็นมลพิษ. ตรงข้ามจะทำให้
ประเทศไทยสามารถที่จะส่งออกกุ้งกุลาดำ เป็นล่ำเป็นสัน และมีคุณภาพสูง…”
คัดตัดตอนจาก พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชมพรรษา ณ ศาลาดุสิตดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันอาทิตย์ ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๗

  

          อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศทำเงินรายได้เข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท ตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ คือโรงเพาะฟัก ฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ผู้ผลิตอาหารและปัจจัยต่าง ๆ ในการผลิต จนถึงห้องเย็นหรือโรงงานแปรรูป มีผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตมากกว่า 1 ล้านคน แม้ว่าประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านการส่งออกตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2534 จนถึงปัจจุบันนี้ แต่มีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจำนวนมากประสบปัญหาการขาดทุนและเลิกกิจการ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเช่นเดียวกันโดยเฉพาะในระยะเวลาตั้งแต่มีการปรับเปลี่ยนจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำมาเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ซึ่งเป็นกุ้งที่มีการเลี้ยงและมีผลผลิตออกมามากจากทั่วโลก ทำให้มีการแข่งขันมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ราคาตกต่ำในขณะที่ต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้นจากวิกฤตราคาน้ำมัน และอาหารกุ้งที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ซื้อกุ้งรายใหญ่ที่สุดจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สภาวะถดถอย เพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ทั้งหมด ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่จะทำให้อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งของประเทศไทยมั่นคงและยั่งยืน เนื่องจากประกอบด้วยหลักการที่สำคัญ 3 ส่วน คือ

            1. ทางสายกลาง คือ พอเพียง พอประมาณ การเลี้ยงกุ้งที่ไม่ได้ผลตามเป้าหมายในอดีตที่ผ่านมาส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากกิเลส และความต้องการที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่ดูศักยภาพของตนเองว่ามีความพอเพียงอยู่ตรงไหน เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องรู้จักความพอเพียง

            2. มีเหตุผล การเลี้ยงกุ้งแต่ละรอบจะมีความแตกต่างกันตามสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงเกษตรกรต้องใช้เหตุและผลทางวิชาการ ต้องรู้ว่าพื้นที่ของตนเอง ช่วงใดมีความเหมาะสมในการเลี้ยงและควรจะปล่อยลูกกุ้งมากน้อยเท่าไรจึงจะพอเหมาะกับความรู้ความสามารถของตนเองและอุปกรณ์ที่มีอยู่ ตัวอย่างเช่น ถ้าจะเลี้ยงเพื่อผลิตกุ้งขนาดใหญ่ต้องปล่อยลูกกุ้งในอัตราความหนาแน่นต่ำกว่าการเลี้ยงที่ผลิตกุ้งขนาดเล็กกว่า การเลี้ยงกุ้งด้วยน้ำความเค็มต่ำไม่สามารถเลี้ยงในอัตราความหนาแน่นเช่นเดียวกับที่เลี้ยงด้วยน้ำความเค็มปกติ

            3. มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ในการเลี้ยงกุ้ง ภูมิคุ้มกันคือการป้องกันความเสี่ยงหรือลดความเสี่ยงจากผลกระทบ เมื่อมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากสถานการณ์ต่าง ๆ ในยุคโลกาภิวัตน์ (globalization) เช่น ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้ราคากุ้งที่เกษตรกรได้รับลดลง  การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศจากสภาวะโลกร้อน (global warming) ที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และมีผลกระทบต่อการเลี้ยงกุ้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เกษตรกรจะลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้อย่างไร การเลี้ยงกุ้งจะต้องเพิ่มความรอบคอบมากขึ้น เกษตรกรต้องมีการพัฒนาหาความรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

แนวทางการเลี้ยงกุ้งโดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีหลายรูปแบบแตกต่างกันดังนี้

1.) การเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมร่วมกับการเลี้ยงปลานิล

            การเลี้ยงกุ้งแบบนี้เหมาะสมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคกลางซึ่งเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากมีอาชีพเลี้ยงปลาสลิดหรือปลานิลมาก่อน โดยใช้แหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีความเค็มบางฤดูกาล เป้าหมายของการผลิตเพื่อให้มีรายได้เพียงพอสำหรับครอบครัว การเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมในอัตราความหนาแน่นต่ำร่วมกับการเลี้ยงปลา จะให้อาหารเฉพาะปลาเท่านั้น ส่วนกุ้งขาวแวนนาไมจะอาศัยอาหารธรรมชาติในบ่อ ในระหว่างการ
เลี้ยงจะทยอยจับกุ้งที่มีขนาดใหญ่ โดยใช้การลากอวนหรือใช้ลอบจับกุ้ง ส่วนปลาจะจับเพียงครั้งเดียว  เมื่อสิ้นสุดการเลี้ยงซึ่งใช้เวลานานประมาณ 6-7 เดือน จะได้ปลาที่มีขนาดใหญ่เช่นเดียวกับการเลี้ยงปลาตามปกติ ผลผลิตจากกุ้งขาวเกษตรกรส่วนใหญ่จะนำไปขายในตลาดท้องถิ่นซึ่งรายได้จากการขายกุ้งจะมากกว่าการขายปลาทำให้มีรายได้รวมมากกว่าการเลี้ยงปลาเพียงอย่างเดียว

            ข้อสำคัญ ควรสร้างอาหารธรรมชาติก่อนปล่อยลูกกุ้งขาวระยะไม่ต่ำกว่าโพสลาร์วา 12        (พี 12) ที่ผ่านการปรับความเค็มมาแล้วใกล้เคียงกับน้ำในบ่อเลี้ยง ปล่อยลูกปลานิลแปลงเพศ 1 สัปดาห์หลังจากปล่อยลูกกุ้ง ควรมีเครื่องให้อากาศ 1 เครื่องเพื่อป้องกันการขาดออกซิเจนในบางช่วงเวลา การใช้ลอบจับกุ้งจะลดปัญหาการฟุ้งกระจายของตะกอนพื้นบ่อได้ดีกว่าการลากอวน หลังจากการเลี้ยงแต่ละรอบควรตากบ่อให้เพียงพอเพื่อบำบัดเลนตะกอนพื้นบ่อ ก่อนการเลี้ยงรอบต่อไป

2.) การเลี้ยงกุ้งด้วยน้ำความเค็มต่ำ
            การเลี้ยงกุ้งด้วยน้ำความเค็มต่ำจะต้องใช้ระบบน้ำหมุนเวียนโดยนำน้ำที่ระบายออกจากบ่อเลี้ยงในขณะที่จับกุ้งเก็บไว้ในบ่อพักน้ำ ซึ่งมีการเลี้ยงปลากินพืชเพื่อบำบัดอาหารที่หลงเหลืออยู่ก่อนที่จะนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ควรจะมีคูน้ำจืดล้อมรอบฟาร์ม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของความเค็มออกสู่ภายนอก ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงกุ้งด้วยน้ำความเค็มต่ำสามารถเลี้ยงได้กุ้งขนาดใหญ่ถ้า
อัตราการปล่อยลูกกุ้งไม่หนาแน่น มีการเติมแร่ธาตุในระหว่างการเลี้ยงอย่างเหมาะสมและมีบ่อพักน้ำอย่างเพียงพอ


การเลี้ยงกุ้งด้วยน้ำความเค็มต่ำ

            ข้อสำคัญ ลูกกุ้งจะต้องผ่านการปรับความเค็มลงมาให้ใกล้เคียงกับความเค็มของน้ำในบ่อเลี้ยงและต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่าระยะพี 12 สำหรับกุ้งขาวแวนนาไม และระยะพี 15 สำหรับกุ้งกุลาดำ

 3.) การเลี้ยงกุ้งร่วมกับสาหร่ายไส้ไก่
            แนวทางการเลี้ยงกุ้งร่วมกับสาหร่ายไส้ไก่  สามารถลดต้นทุนในการผลิตได้มากเนื่องจากไม่มีการให้อาหารในระยะแรกจนกว่าสาหร่ายไส้ไก่ในบ่อมีน้อยมากหรือกุ้งเริ่มวนหาอาหาร การเลี้ยงกุ้งวิธีนี้เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้ง่าย กุ้งกุลาดำหรือกุ้งขาวที่เลี้ยงร่วมกับสาหร่ายไส้ไก่มีอัตราการรอดตาย  และการเจริญเติบโตดี การเลี้ยงกุ้งวิธีนี้เหมาะสมกับพื้นที่หรือบริเวณที่มีสาหร่ายไส้ไก่เกิดขึ้นตาม
ธรรมชาติ และควรจะเลี้ยงกุ้งในอัตราความหนาแน่นไม่สูงมากแต่สามารถผลิตกุ้งขนาดใหญ่ได้


การเลี้ยงกุ้งร่วมกับสาหร่ายไส้ไก่

            ข้อสำคัญ  บ่อที่จะเลี้ยงด้วยวิธีนี้ไม่ควรนำเลนออกจากบ่อ หลังจากการเลี้ยงแต่ละรอบจะทำให้สาหร่ายไส้ไก่เจริญเติบโตดีซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 30-40 วัน จะมีสาหร่ายประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่บ่อก่อนปล่อยลูกกุ้ง

 4.) การผลิตกุ้งขาวแวนนาไมขนาดใหญ่
            การผลิตกุ้งขาวขนาดใหญ่มีความเหมาะสมในพื้นที่มีน้ำความเค็มปกติมากกว่าการเลี้ยงด้วยน้ำความเค็มต่ำ อัตราความหนาแน่นในการปล่อยลูกกุ้งขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยงที่แตกต่างกันไปแต่ละฟาร์มต้องให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพลูกกุ้งเป็นพิเศษ เพราะลูกกุ้งที่มีคุณภาพดีมีผลต่อความสำเร็จอย่างมาก ในการเลี้ยงกุ้งขาวเพื่อให้ได้ขนาดใหญ่ต้องใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงนาน ดังนั้นการจัดการในเรื่องคุณภาพน้ำโดยเฉพาะปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำ และสภาพพื้นบ่อต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมตลอดระยะเวลาในการเลี้ยงรวมทั้งต้องมีระบบป้องกันโรคอย่างดีด้วย


การผลิตกุ้งข้าวแวนนาไมขนาดใหญ่

            ข้อสำคัญ กุ้งขาวที่สามารถจะเลี้ยงเป็นกุ้งขนาดใหญ่ได้เมื่ออายุ 60 วัน ควรจะมีน้ำหนักประมาณ 8-10 กรัม

5.) การเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมในอัตราความหนาแน่นสูงเพื่อย้ายบ่อ
            เนื่องจากในระหว่างการเลี้ยงแต่ละรอบ เกษตรกรไม่สามารถจะประเมินราคากุ้งล่วงหน้าได้ ดังนั้นวิธีการปล่อยลูกกุ้งในอัตราความหนาแน่นสูงเผื่อไว้ก่อน ถ้ากุ้งขนาดเล็กราคาดีก็ผลิตกุ้งขนาดเล็ก ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงไม่นานมาก แต่ถ้าราคาไม่ดีก็แบ่งกุ้งย้ายไปเลี้ยงในบ่อใหม่เพื่อให้ได้กุ้งขนาดใหญ่ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีเหตุผลและสามารถลดความเสี่ยงได้เช่นเดียวกัน


การเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมในอัตราความหนาแน่นสูงเพื่อย้ายบ่อ

            ข้อสำคัญ ก่อนจะย้ายกุ้งควรปรับคุณภาพน้ำในบ่อใหม่ให้ใกล้เคียงกับบ่อเดิม ควรย้ายกุ้งในขณะที่กุ้งมีสุขภาพแข็งแรง ไม่ย้ายกุ้งในขณะหรือเพิ่งลอกคราบ    ในขณะที่ย้ายกุ้งปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำต้องอยู่ในระดับที่สูงและอากาศไม่ร้อนจัด ถ้ากุ้งมีกล้ามเนื้อขาวขุ่นให้หยุดการย้ายกุ้งทันที

  ในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำหรือกุ้งขาวแวนนาไมด้วยวิธีการต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ถ้าใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งมั่นอยู่ในความพอเพียงหรือทางสายกลาง โดยใช้เหตุผลและมีระบบการเลี้ยงที่สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้จะทำให้การเลี้ยงกุ้งประสบความสำเร็จ ส่งผลต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่น ทำให้คุณภาพของประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อมมีความสมดุล ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งของประเทศไทยมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป

    
คณะผู้วิจัย
ชลอ ลิ้มสุวรรณ และ นิติ ขูเชิด
หน่วยงาน
ศูนย์วิจัยธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 02-9405695