วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้คือ
1) เพื่อศึกษากรรมของสังคมในพระพุทธศาสนา 2) เพื่อศึกษากรรมของสังคมในปรัชญามาร์กซ์
3) เพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกรรมของสังคม และ 4) เพื่อเปรียบเทียบกรรมทางสังคมของพระพุทธศาสนาและปรัชญามาร์กซ์
ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยคือ คำสอนของพระพุทธเจ้าและคาร์ล มาร์กซ์
รวมทั้งของนักคิดยุคหลังของปรัชญาทั้ง 2 ระบบที่รวบรวมได้จากเอกสารชั้นต้นและชั้นรอง
ผลการวิจัยชี้ว่า :
- กรรมทางสังคมของพระพุทธศาสนาหมายถึง มโนกรรมหรือทฤษฎี
ความเชื่อ และแนวคิด (ทิฎฐิ) ที่เป็นค่านิยมทางสังคม และมีอิทธิพลต่อกิจกรรมต่างๆ
ของมนุษย์ ทางด้านปรัชญามาร์กซ์ สิ่งที่มีความหมายใกล้เคียงกับกรรมในพระพุทธศาสนาคือ
มโนทัศน์เรื่อง แรงงาน อาศัยแรงงานสังคมแต่ละยุคจึงมีระบบการผลิตและก่อเกิดสิ่งที่คล้ายกับมโนกรรมของพระพุทธศาสนาซึ่งเรียกว่า
จิตสำนึกทางสังคม
- กรรมทางสังคมก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมตามมาเสมอ
ทั้งต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิตมนุษย์ และความเป็นมนุษย์ที่เป็นคุณค่าภายใน
จะเป็นผลเชิงลบหรือบวก ย่อมขึ้นกับค่านิยมหรือจิตสำนึกทางสังคมซึ่งเป็นที่มาของการกระทำ
และ
- พระพุทธศาสนาและปรัชญามาร์กซ์เห็นต้องกันว่า
หลักกรรมเป็นหลักมนุษยนิยม อาชีพในสังคมสัมพันธ์กับการทำกรรม การเปลี่ยนจากปริมาณไปเป็นคุณภาพของผลกรรม
และความสำคัญของปัจจัยภายนอกที่ทำให้เกิดกรรมของสังคม แต่เนื่องจากโลกทัศน์ของปรัชญาทั้ง
2 ระบบแตกต่างกัน วิธีการและเป้าหมายของการขจัดกรรมไม่ดีทางสังคมจึงพลอยแตกต่างกันไปด้วย
|