 |
ขวานหิน เสียมไม้ เครื่องกระเบื้องสามขา จากแหล่งโบราณคดีจินซา (ทรายทอง) |
งานวิจัยมีจุดประสงค์เพื่อเสนอองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับภูมิปัญญาวัฒนธรรมการเกษตรไทยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ชนเผ่าไทคิดขึ้นก่อนชาติอื่น ผลผลิต (Output) อันเป็นผลสำเร็จที่ได้จากงานวิจัย คือ พบองค์ความรู้ใหม่ว่าดินแดนที่ชนเผ่าไทในสมัยก่อนประวัติศาสตร์อยู่เป็นแหล่งกำเนิดการเกษตรกรรมของโลก มิใช่บริเวณตะวันออกกลางที่เรียกว่า ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์รูปพระจันทร์เสี้ยว (The Fertile Crescent) ดังที่เชื่อกันมา
แหล่งโบราณคดีสมัยหินใหม่ที่เก่าแก่ที่สุดที่จะศึกษาแหล่งกำเนิดชนชาติไทและวัฒนธรรมการเกษตรของชนเผ่าไทที่มีความเจริญก้าวหน้า คือ แหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ อำเภออี๋หยาง มณฑลเจ้อเจียง พบซากฟอสซิลของเมล็ดข้าว เปลือกข้าว และใบข้าวเจ้า กองทับกันสูงถึง ๑ เมตร เป็นข้าวเจ้าปลูกที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อายุเก่าแก่ถึง ๗,๐๐๐ ปี นอกจากนั้น ยังพบซากฟอสซิลของข้าวที่แหล่งโบราณคดีในมณฑลอีก ๘ มณฑลที่ชนเผ่าไทอาศัยอยู่คือ เจียงซู เจ้อเจียง หูเป่ย อันฮุย เจียงซี ไต้หวัน กวางตุ้ง และยูนนาน นักโบราณคดีและนักเกษตรศาสตร์จำนวนไม่น้อยมีความเห็นพ้องกันว่า ชนชาติไทเป็นชนชาติที่ปลูกข้าวเจ้าแรกสุดของประเทศจีน และการปลูกข้าวของจีนเริ่มจากทางใต้อันเป็นถิ่นของชนเผ่าไท
วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้มีลักษณะพิเศษทางการกสิกรรมคือมีการทำนาดำ โดยอาศัยการชลประทาน มีการส่งน้ำ และการจัดระบบน้ำเป็นอย่างดี เครื่องมือในการทำนา คือ ใช้ขวานหินสำหรับตัดถางฟันดินทำนา และใช้เสียมกระดูกซึ่งพบนับร้อยชิ้น และเสียมไม้จำนวนประมาณ ๕ ชิ้น เพราะผุพังไปหมด สำหรับขุดดิน พรวนดิน เพื่อปลูกข้าวเจ้า ดังนั้นขวานหิน เสียมกระดูก และเสียมไม้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญทางการเกษตรที่เก่าแก่ที่สุดในโลกของชนเผ่าไท ซึ่งชนเผ่าจีนได้รับเครื่องมือคือเสียมไปใช้ และเรียกว่า ซึ (Si) ตามสำเนียงของชนเผ่าไท
แหล่งโบราณคดีสมัยหินใหม่ที่พบหลักฐานวัฒนธรรมการเกษตรและโบราณวัตถุของชนเผ่าไทโบราณเมื่อประมาณ ๔,๐๐๐๕,๐๐๐ ปี คือ แหล่งโบราณคดีซานซิงตุย เมืองกวางฮั่น มณฑลเสฉวน พบโบราณวัตถุที่เป็นลักษณะของคนไท คือ งาช้าง เครื่องกระเบื้องสามขา และหน้ากากทองสำริด เครื่องมือการเกษตรสมัยหินใหม่ที่พบ คือ ขวานหินสำหรับถางฟันดินทำนา และเสียมไม้สำหรับขุดดินตัดหญ้าและพรวนดิน เพื่อปลูกข้าวเจ้า ลักษณะเดียวกับที่พบที่แหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ มณฑลเจ้อเจียง
แหล่งโบราณคดีสมัยสำริดที่พบหลักฐานพัฒนาการของเครื่องมือการเกษตรของชนเผ่าไทที่พัฒนาจากยุคหินใหม่ซึ่งน่าจะอพยพมาจากแหล่งโบราณคดีซานซิงตุย เมืองกวางฮั่น มณฑลเสฉวน คือ แหล่งโบราณคดีจินซา (ทรายทอง) ในตัวเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน อายุ ๓,๓๐๐ ปี ได้ขุดค้นพบหมู่บ้านชุมชนของชนเผ่าไท พบโบราณวัตถุจำนวนมหาศาล มีการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยงาช้าง หยก เครื่องทอง เครื่องสำริด และเครื่องกระเบื้อง โดยเฉพาะงาช้าง เครื่องกระเบื้องสามขา และ หน้ากากทองคำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชนเผ่าไทโบราณ
นอกจากพบซากฟอสซิลของข้าว ยังพบเครื่องมือการเกษตรอายุไม่ต่ำกว่า ๓,๓๐๐ ปี คือ ขวานหินสำหรับถางฟันดินทำนา และเสียมไม้ (ยาว ๑๔๑ ซม.) สำหรับขุดดินตัดหญ้าและพรวนดินเพื่อปลูกข้าวเจ้า ลักษณะเดียวกับที่พบที่แหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ มณฑลเจ้อเจียง และแหล่งโบราณคดีซานซิงตุย มณฑลเสฉวน แสดงว่าในยุคสำริดเครื่องมือการเกษตรที่ใช้มาตั้งแต่ยุคหินใหม่ คือ เครื่องมือหิน เครื่องมือกระดูก และเครื่องมือไม้ ยังคงใช้ต่อมาในยุคสำริด ส่วนเครื่องมือการเกษตรที่ทำด้วยสำริดไม่ค่อยใช้ เพราะเป็นของมีค่านิยมใช้ทำเครื่องบูชามากกว่า
แหล่งโบราณคดีของชนเผ่าไทสมัยเหล็กที่พบเครื่องมือการเกษตรทำด้วยเหล็ก คือ สุสานของนางพระยาเผ่าไท สมัยราชวงศ์ฮั่น อายุ ๒,๑๐๐ ปี ที่หม่าหวังตุยเมืองฉางซา มณฑลหูหนาน พบเสียมที่สวมปลายด้วยเหล็กที่คม ในยุคต่อมาจึงมีการใช้เสียมที่ทำด้วยเหล็ก ทดแทนเครื่องไม้อย่างจริงจังในอุปกรณ์ทางการเกษตร
ประเพณีการเกษตรของชนเผ่าไท
พบหลักฐานประเพณีการเกษตรของชนเผ่าไทในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่คิดเทคโนโลยีล้ำยุคก่อนชนชาติจีน คือ การคิดสำริดเพื่อทำกลองมโหระทึกใช้ขอฝนและคิดดินปืนใส่บั้งไฟจุดขึ้นฟ้าเพื่อขอฝน
ส่วนประเพณีการเกษตรของชนเผ่าไทที่กระทำมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ก่อนชนชาติอินเดีย ได้แก่ ประเพณีแรกนาขวัญ หรือ แฮกนา และพิธีบายศรีสู่ขวัญบูชาแม่ขวัญข้าว (แม่โพสพ)
 |
ประเพณีแรกนาของชาวไทย-ยวน |
ประเพณีแรกนาขวัญของชนเผ่าไท
ประเพณีแรกนาขวัญ เป็นประเพณีการเกษตรที่ชนเผ่าไทกระทำมาตั้งแต่สมัยก่อน
ประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ชาวนา ปรากฏหลักฐานว่ากษัตริย์ของชนเผ่าไทโบราณเป็นผู้ไถนาในคราวแรกเอง และพระมเหสีเป็นผู้เลี้ยงตัวไหม
ในภาคเหนือ ในเดือน ๙๑๐ (ภาคกลางเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม) ชาวไท-ยวนจะประกอบ
ปาเวณีแฮกนา เริ่มด้วยพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ จัดเครื่องบูชาอาหารสังเวยเทวดาดูแลขุนน้ำหรือต้นน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างพอเพียง ก่อนประกอบพิธีแรกนา จะมีพิธีบูชาปุมท้างแม่โคสก คือ บูชาเทวดาดูแลทางน้ำ บูชาท้าวจตุโลกบาล และบูชาแม่โพสพ ผู้ให้กำเนิดข้าว โดยจัดกระทง (สะตวง) ใส่อาหารหวานคาว มัดติดกับเสาธงไม้รวก ที่ปลายติดตาเหลว
ชาวไทลื้อจะประกอบพิธีแฮกนา ในเดือน ๘-๙ (ภาคกลางเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) เป็น ๒ ระยะ คือ ตอนหว่านกล้าและตอนปลูกนา (ดำนา) เพื่อบูชาแม่พระธรณี แม่โพสพ และเจ้าที่เจ้าทาง เพื่อขออนุญาตทำนาบนแผ่นดิน ตอนแรกนาหว่านกล้า ต้องขอให้ผู้รู้ดูฤกษ์ที่เป็นมงคล ต้องเริ่มการไถนาโดยดูทิศการหันหัวของนาค โดยเริ่มไถจากทิศหัวนาคไปทิศหางนาค ไม่ย้อนทวนเกล็ดนาค เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองเสื้อผ้า และอุปกรณ์การไถ ตอนปลูกหรือดำนาจะบูชาแม่พระธรณีด้วยข้าวเหนียว ๑ ก้อน กล้วย ๑ ผล เรียกว่า ข้าวปั้นกล้วยหน่วย ขณะเริ่มปักดำจะกล่าวไตรสรณาคมน์ คือ ปักดำข้าวกล้ากอแรกพูดว่า พุทธํ สรณํ คจฉามิ กอที่สองว่า ธมมํ สรณํ คจฉามิ กอที่สามว่า สงฆํ สรณํ คจฉามิ ไปจนจบเรียกว่า สรณาคมน์เก้าบั้ง
ในภาคกลาง จะทำพิธีหาฤกษ์ดีเพื่อทำพิธีแรกนา มักเป็นวันคู่ในเดือนหก ให้ปลูกศาลเพียงตาใกล้คันนา พร้อมเครื่องบูชาและเครื่องสังเวย ขอให้ต้นข้าวเจริญงอกงาม แล้วจึงเริ่มไถ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะนำธงรูปสามเหลี่ยม ๔ ธง ปักเรียงเป็นรูป ๔ เหลี่ยมทางทิศเหนือ และคุกเข่าบูชาแม่โพสพ แม่พระธรณี และพระภูมิเจ้าที่ ขอให้ข้าวที่ปลูกงอกงามไม่มีศัตรูพืชรบกวน
ในภาคอีสาน มีพิธีแฮกนาในเดือนเจ็ด (ภาคกลางเดือนมิถุนายน) เป็นพิธีบวงสรวงตาแฮก (พระภูมินา) เมื่อถึงวันแรกนา ผู้อาวุโสจะนำ พาหวาน ๔ พา ประกอบด้วยผลไม้และขนม และ พาโจ้ ๔ พา (มีบุหรี่ หมาก ใบพลู มีหมากแก่นคูนอยู่ข้างใน ม้วนเหมือนมวนบุหรี่) พร้อมทั้งข้าว ไข่ต้ม และสุรา ไปบูชา ตาแฮก
ส่วนพิธีแรกนาในภาคใต้ จะกระทำในเดือนหก (ตรงกับภาคกลางคือเดือนพฤษภาคม) หลังจากหาฤกษ์จัดพิธีแรกนา โดยหลีกเลี่ยงวันพุธ เพราะถือว่าเป็นวันเน่าวันเปื่อย ต้นข้าวจะเน่าเสีย ในวันแรกนา ชาวนาจะนำหมากพลู ธูปเทียน ไปบวงสรวง ขออนุญาตเจ้าที่ก่อนเริ่มทำนา ต่อด้วยการไถเวียนขวา ๓ รอบ เป็นเสร็จพิธี หลังจากนั้นจะมีพิธีแรกการปักดำ จะบนบานเจ้าที่ขอให้ช่วยดูแลต้นข้าว แล้วจึงทำการดำนา โดยเริ่มดำเดือนใดก็ปักต้นข้าวเท่ากับจำนวนเดือน เช่นถ้าเริ่มดำเดือนหก ก็ใช้ต้นข้าว ๖ ต้น เสร็จแล้วปักไม้ว่าคาถาโดยวงสายสิญจน์ไว้ข้างบนเป็นเสร็จพิธี
 |
จิตกรรมวัดฝาผนังวัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา |
 |
หุ่นพระยาแรกนาและเทพี |
พระราชพิธีจรดพระนังคัล
พระราชพิธีจรดพระนังคัล หมายถึง พระราชพิธีแรกนาหรือแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีที่สืบทอดมาแต่โบราณของชนเผ่าไทนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะแยกเป็นเผ่าต่าง ๆ ปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์มาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวีสืบทอดมาถึงสมัยสุโขทัย หลักฐานที่แสดงว่ามีพระราชพิธีนี้ในสมัยอยุธยา ได้แก่ ความในกฎมณเฑียรบาลซึ่งเรียกพิธีนี้ว่า จรดพระอังคัล ขุนนางผู้ทำหน้าที่สำคัญ คือ เจ้าพญาจันทกุมารและพระพลเทพ
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานปรากฏในตำรับนางนพมาศ เล่าถึงพระราชพิธีจรดพระนังคัลว่า มีการสร้างโรงพิธีที่ท้องทุ่งละหานหลวง หน้าพระตำหนักห้างเขา พระเจ้าแผ่นดินพร้อมพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จประทับที่พระตำหนักห้าง โปรดให้ออกญาพลเทพแต่งกายอย่างลูกหลวงเป็นผู้หนึ่งที่ทำหน้าที่ไถนา
ตามพระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีจรดพระนังคัลมีแต่พิธีพราหมณ์ ไม่มีพิธีสงฆ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มพิธีสงฆ์ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลด้วย แต่ยกเป็นอีกพิธีหนึ่งต่างหากเรียกว่า พืชมงคล
พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลนี้กระทำสืบเนื่องต่อมาในรัชกาลที่ ๖ และที่ ๗ ผู้กระทำพิธีแรกนานั้นโดยปรกติเป็นเสนาบดีกรมนาที่เกษตราธิบดี คือ เจ้าพระยาพลเทพ ต่อมาเมื่อปฏิรูปการปกครองหน้าที่แรกนาก็เป็นหน้าที่ของเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ เลิกไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ เมื่อมีการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ อธิบดีกรมการข้าวเป็นพระยาแรกนาทุกปี
การจัดงานเริ่มจากการหาฤกษ์พระราชพิธีอย่าให้ต้องวันผี พระราชพิธีพืชมงคลกระทำที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลกระทำที่ท้องสนามหลวงด้านใต้ พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกในพระราชพิธีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพันธุ์ข้าวที่ทรงปลูกในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน การคัดเลือกพระโคในพระราชพิธี เฉพาะเพศผู้เท่านั้นและผ่านการ ตอน แล้ว มีลักษณะหูดี ตาดี แข็งแรง เข่าทั้งสองตั้งตรงสวยงาม พระโคแต่ละคู่สีเหมือนกัน คัดเลือกเฉพาะสีขาวสำลีและสีน้ำตาลแดง
กระบวนแห่พระยาแรกนาประกอบด้วยพระยาแรกนา คู่เคียง ๑๒ คน และคนเชิญเครื่องยศพระยาแรกนา นางเทพีใช้ข้าราชการสตรีชั้นเอกและชั้นโทตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ ระหว่างกระทำพิธีแรกนาจะมีการประโคมด้วยฆ้องชัยเป็นระยะระหว่างไถและหว่าน พ.ศ. ๒๕๐๙ เพิ่มแตรฝรั่ง แตรงอน และพิณพาทย์ พ.ศ. ๒๕๑๐ เพิ่มกลองมโหระทึก
|