
คุณครูและเกษตรกรผู้นำ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับรางวัลครูภูมิปัญญาไทยด้านเกษตรกรรมรุ่นที่ 2 ประจำปี 2545 จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ครูสมทรงได้พลิกฟื้นพัฒนาส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ พันธุ์ดั้งเดิมของอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ที่เกษตรกรในพื้นที่ละทิ้ง ให้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งครูสมทรงยังยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับอาชีพเกษตรกรรมมากว่า 30 ปี ทำให้ชีวิตมีความสุข ปลอดจากหนี้สิน
นอกจากนี้ครูสมทรงยังได้จัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น” ร่วมกับสมาชิกที่มีความชำนาญในสาขาวิชาชีพต่างๆ สอนวิชาชีพซึ่งเป็นวิทยาการของภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับเกษตรกรที่สนใจ นำไปเป็นอาชีพเสริมรายได้ให้กับตนเอง อาทิ การทำขนมไทย ผักและผลไม้แช่อิ่ม การทำนาเกลือ การทำน้ำตาลมะพร้าว การทำปุ๋ยชีวภาพ การทำน้ำยาล้างจาน ฯลฯ รวมทั้งการทำ Home stay เพื่อใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรธรรมชาติอีกด้วย
สาเหตุแห่งหนี้สินของการทำการเกษตร
สาเหตุแห่งหนี้สินของเกษตรกรทั่วไป ที่ครูสมทรงได้พูดคุยกับเกษตรกร ส่วนใหญ่หนี้สินเกิดจาก การจัดตั้งกลุ่มไม่พร้อม การจัดการเงินไม่เป็น เนื่องจากรัฐบาลให้เงินมาเพื่อให้เกษตรกรจัดตั้งกลุ่ม แต่กลุ่มที่เกิดขึ้นยังไม่มีความพร้อม ทำให้การจัดการด้านการเงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มที่มุ่งหวังให้เป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาการเกษตร แต่เกษตรกรกลับนำเงินไปใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือสิ่งฟุ่มเฟือยต่างๆ แทน
ทำอย่างไรจึงหลุดพ้นจากการเป็นหนี้สินได้ (ภาพรวม)
ครูสมทรง แสงตะวันและชาวบ้านที่ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ไม่มีปัญหาเรื่องหนี้สิน เพราะดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาตลอดเกือบ 30 ปี จึงไม่มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เนื่องจากยึดหลักการเกื้อกูลกัน มีอะไรแบ่งปันกัน ปลูกในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก ถ้าเหลือแล้วค่อยขาย แลกเปลี่ยนกัน และใช้จ่ายแบบไม่ฟุ่มเฟือย ไม่เล่นอบายมุข เน้นเรื่องของความขยัน อดทน ประหยัด เป็นสิ่งสำคัญ
หลักคิดและวิธีปฏิบัติที่ทำให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้สินและอยู่ได้อย่างยั่งยืน
หลักคิดและวิธีปฏิบัติที่ทำให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้สินและอยู่ได้อย่างยั่งยืนของครูสมทรง มีดังนี้
1. ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตมากว่า 30 ปี
ครูสมทรงและชาวบ้านตำบลบางพรม ได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงดำเนินชีวิตกันมาประมาณ 30 กว่าปี ทำให้คุณครูและชาวบ้านไม่มีเรื่องของปัญหาหนี้สิน และโดยเฉพาะเรื่องของภาคเกษตร ก็ได้ยึดหลักของ “เศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการทำเกษตรที่ยั่งยืน คือในเรื่องของผลผลิต เรื่องของคุณภาพ เรื่องของการลดต้นทุน แล้วต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะว่าจะได้ยั่งยืน ชั่วลูกชั่วหลาน
2.ไม่ละทิ้งการทำเกษตรกรรมของบรรพบุรุษ แต่มุ่งพัฒนาสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น
ครูสมทรงมุ่งที่จะพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ดั้งเดิมในท้องถิ่นให้ดีขึ้นคือ เลือกที่จะปลูกส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่เพราะเห็นข้อได้เปรียบหลายประการ ได้แก่ สามารถเก็บไว้ได้นาน แกะแล้วร่อนไม่ติดเปลือก กุ้งใหญ่สีขาว รสชาติดี มีเมล็ดน้อยมาก แต่มีปัญหาในเรื่องของเนื้อส้มโอที่มีรสขม เนื้อกรอบแห้ง จึงแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษ การสังเกตจากสิ่งรอบตัว และการนำความรู้ทางวิชาการมาปรับใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเอง ปัจจุบันนี้ ส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ของจังหวัดสมุทรสงคราม ได้กลับมาเป็นที่นิยมของผู้บริโภคกันอีกครั้งหนึ่ง วิธีการปลูกส้มโอให้ได้คุณภาพดี มีวิธีปฏิบัติดังนี้
2.1 ปลูกทองหลาง พืชตระกูลถั่ว ประโยชน์หลากหลาย
การปลูกทองหลางร่วมกับส้มโอโดยปลูกข้างๆ ร่องสวนนั้น ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่บรรพบุรุษได้สั่งสมกันมา ทองหลางเป็นพืชตระกูลถั่วที่ให้ประโยชน์กับส้มโอหลายๆ ด้าน อาทิ ช่วยทำให้โครงสร้างของดินเหนียวโปร่งมากขึ้น เมื่อลอกดินจากท้องร่อง รากที่ตายและใบที่ผุก็เป็นปุ๋ยธรรมชาติให้กับส้มโอ เมื่อถึงฤดูร้อน ใบทองหลางก็ช่วยพรางแสงแดด พอถึงฤดูฝนจึงตัดแต่งกิ่งทองหลางให้โปร่งเพื่อให้ส้มโอปรุงอาหารได้
2.2 ใช้หญ้าคลุมดิน รักษาความชื้นและเป็นปุ๋ยจากธรรมชาติ
ครูสมทรงไม่ถางหญ้าในสวน แต่กลับใช้ประโยชน์จากหญ้าด้วยการใช้หญ้าคลุมดิน เนื่องจากที่รากหญ้ามีจุลินทรีย์ ทำให้ดินร่วนซุย และโปร่ง ช่วยเก็บความชื้น ทำให้ประหยัดการให้น้ำ ถ้ามีหญ้าคลุมดินจะรดน้ำเพียงสัปดาห์ละครั้ง แต่ถ้าไม่มีหญ้าปกคลุมดิน ต้องรดน้ำวันเว้นวัน จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เมื่อหญ้ารกก็จะตัดหญ้าแล้วโรยจุลินทรีย์ให้ใบหญ้าย่อยสลาย ได้ปุ๋ยหมักให้กับส้มโออีกด้วย
2.3 ใช้ขี้แดดนาเกลือ เพิ่มความหวานให้กับส้มโอ
ครูสมทรงได้นำภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาคุณภาพของส้มโอด้วยการใช้ “ขี้แดดนาเกลือ” มาทดลองใช้จนประสบความสำเร็จ คือ ส้มโอไม่มีรสขม เนื้อไม่กรอบแห้ง หวาน แกะแล้วร่อน เนื้อไม่ติดเปลือก นิ่ม ก้นไม่แตก โดยมีวิธีการดังนี้ ให้ใส่ขี้แดดนาเกลือที่โคนต้นส้มโอก่อนเก็บเกี่ยว 2 เดือน คือประมาณเดือนที่ 6 (ส้มโอออกดอกถึงเก็บเกี่ยวได้ใช้เวลา 8 เดือน) ต้นละ 1 กิโลกรัม รดน้ำอาทิตย์ละครั้ง จนกว่าจะเก็บเกี่ยวได้ ขณะนี้ได้นำไปใช้กับผลไม้ชนิดอื่นๆ เพื่อให้ผลไม้มีรสชาติหวานและคุณภาพดี เช่น ชมพู่ ฝรั่ง และพุทรา เป็นต้น
2.4 ตัดหญ้าให้สั้นในช่วงส้มโอแตกใบอ่อน เพื่อให้แมลงวางไข่
ครูสมทรงได้ค้นพบเทคนิคการดูแลส้มโอจากการสังเกตสิ่งรอบตัวโดยบังเอิญคือ ได้ตัดหญ้าช่วงที่ส้มโอเริ่มแตกใบอ่อน ปรากฏว่าใบอ่อนของส้มโอนั้นเจริญเติบโตได้ดีประมาณ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ ไม่มีแมลงมารบกวน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า แมลงได้วางไข่บนใบอ่อนของต้นหญ้าแทนใบอ่อนของต้นส้มโอ เนื่องจากแมลงท้องแก่ ต้องใช้พลังงานมากจึงบินได้ไม่สูง ประกอบกับที่บริเวณพื้นดินใกล้ต้นหญ้ามีแมงมุม มด กบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก ฯลฯ ช่วยกินไข่แมลงและกินหนอนให้ จึงถือเป็นการเกื้อกูลโดยใช้ระบบชีววิธี ทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมี ต้นทุนการผลิตต่ำและสิ่งแวดล้อมดี โดยเฉพาะผลผลิตที่ไม่ใช้สารเคมี ตลาดมีความต้องการมาก มีผู้มาซื้อผลผลิตถึงที่สวนโดยที่ไม่ต้องไปหาตลาดข้างนอก
2.5 แมงมุมมีประโยชน์ ช่วยกำจัดแมลงในสวนส้มโอ
ครูสมทรงได้ทำงานวิจัยร่วมกับ อ.ดร.เทวินทร์ กุลปิยวัตน์ กับ อ.วิภาดา วังศิลาบัตร กองกีฏวิทยา กรมวิชาการเกษตร ศึกษาเรื่อง “การเลี้ยงแมงมุมในสวนส้มโอ” เมื่อประมาณ 10 กว่าปีมาแล้ว ก็สรุปว่า แมงมุมหากินทั้งกลางวันและกลางคืน แล้วทำรังอยู่บนอากาศ ตามต้นส้มโอ และตามพื้นดิน อาจารย์บอกว่า แมงมุมในประเทศไทย 100 กว่าชนิด แต่ที่สวนของครูสมทรงมีถึง 80 กว่าชนิด แมงมุมชอบกินพวกไรแดง ไข่ของหนอนชอนใบ และอ่อนแอต่อยาฆ่าแมลงมาก ซึ่งชาวสวนทั่วไปไม่ทราบ ถ้าใช้ยาฆ่าแมลง ทำให้แมงมุมในสวนตายไปเป็นจำนวนมาก
การใช้แมงมุมช่วยกำจัดแมลงในสวนส้มโอ จึงเป็นวิธีการทางชีววิธี เกิดความเกื้อกูลและความสมดุลของสิ่งมีชีวิต ทำให้ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง จากเดิมที่ปลูกส้มโอ 15 ไร่ ใช้สารเคมีเดือนละ 1,500 บาท จึงทำให้ลดต้นทุนการผลิตไปได้อย่างมาก
3. ปรับเปลี่ยนจากเคมีเป็นอินทรีย์ ลดต้นทุนการผลิต รักษาสิ่งแวดล้อม
สาเหตุที่ครูสมทรงปรับเปลี่ยนจากใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีมาเป็นการผลิตส้มโออินทรีย์ก็เพราะว่า หลังจากที่ใช้สารเคมีมาตั้งแต่เริ่มปลูกส้มโอตั้งแต่ปีพ.ศ. 2520-2527 เห็นว่าสิ่งแวดล้อมเริ่มจะเสียแล้ว ส้มโอเริ่มโทรมลง ดินแข็ง ไม่มีคุณภาพ เมื่อใส่ปุ๋ยเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย จึงต้องเปลี่ยนแปลงมาใช้จุลินทรีย์ Em (Effective Microorganism) หลังจากนั้นประมาณสัก 3 ปี ก็เริ่มมีแมลงที่เกื้อกูลในธรรมชาติ โดยเฉพาะตัวห้ำ ตัวเบียน เช่น มด แมงมุม เต่าทอง กบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก ก็จะมาอยู่ที่สวนช่วยกำจัดแมลงให้ ทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีในการผลิตส้มโอเลย
ส่วนรายได้ของส้มโอที่ไม่ใช้สารเคมีกับใช้สารเคมี รายได้ต่างกันในแง่ที่ว่า ถ้าใช้สารเคมี รายได้ดีจริง ผลผลิตได้มาก แต่ต้องใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่ม ราคาก็สูงขึ้น พวกสารฆ่าแมลง แมลงก็ดื้อยา ก็ต้องเปลี่ยนตัวยา ต้นทุนก็เพิ่มขึ้น พอใช้ไปนานๆ ผลผลิตเริ่มลดลง ดินแข็งตัว น้ำไม่ซึมผ่านตลอด ทำให้ผลผลิตลดลง แต่ต้นทุนยังสูงขึ้น
ส่วนการผลิตส้มโออินทรีย์ เมื่อใช้จุลินทรีย์ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ไม้พี่เลี้ยงเช่น ทองหลาง ช่วยพรางแสง ช่วยเก็บความชื้นในดิน ก็ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง ในขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในแง่ของความแข็งแรงของต้นส้มโอ ต้นที่ใช้ปุ๋ยเคมีจะมีอายุสั้นกว่าต้นที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ โดยต้นที่ใช้ปุ๋ยเคมี มีอายุไม่เกิน 12 ปี ก็จะตาย ส่วนต้นที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ มีอายุยืนถึง 40-50 ปี ก็ยังสามารถให้ผลผลิตได้
การเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพเกษตรให้ลูกหลาน/เกษตรกรรุ่นใหม่
วิธีการเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพเกษตรให้ลูกหลาน/เกษตรกรรุ่นใหม่ของครูสมทรง ได้แก่
1. สนับสนุนให้เด็กในท้องถิ่นรักแผ่นดินถิ่นกำเนิดและรักอาชีพเกษตร
ที่โรงเรียนของครูสมทรง เน้นการสอนให้เด็กนักเรียนรักท้องถิ่น เรียนรู้กับบรรพบุรุษ ต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมควบคู่กันไป สอนให้เด็กขยันหมั่นเพียร รู้จักการทำมาหากิน ฝึกอาชีพให้โดยเฉพาะภาคเกษตร เพราะว่าตำบลบางพรมส่วนมากแล้วทำภาคเกษตรถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าเด็กส่วนมากนี้ ถ้าไม่ได้ไปเรียนต่อที่สูงๆ ขึ้นไป ก็จะได้นำจุดนี้มาประกอบอาชีพ สามารถเลี้ยงตัวเองได้ อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
2. วิธีการปลูกฝังเด็กๆ ให้รักอาชีพเกษตรคือ สอนให้เด็กปฏิบัติจริง
วิธีการสอนให้เด็กๆ รักอาชีพเกษตรนั้นง่ายมาก คือทำให้ดู แล้วสอนให้เขาปฏิบัติจริง เช่น การตอนกิ่ง การขยายพันธุ์พืช การเลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงปลา การทำน้ำชีวภาพ การทำปุ๋ยหมัก ส่วนหนึ่งนำมาใช้ที่โรงเรียน ส่วนหนึ่งแบ่งให้เด็กไปใช้ที่บ้าน อีกส่วนนำไปจำหน่าย เมื่อขายได้เท่าไร ก็แบ่งให้เด็กส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งไว้เป็นค่าใช้จ่ายในโรงเรียน
3. นักศึกษาเรียนจบแล้วต้องกลับไปพัฒนา เรียนรู้และรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง
ถ้านักศึกษาแต่ละท้องถิ่น ได้กลับไปเรียนรู้ ได้พัฒนาภูมิปัญญาแต่ละท้องถิ่นของตนเองจากบรรพบุรุษ ได้นำวิชาความรู้ที่ตนได้เรียนมากลับมาช่วยพัฒนาท้องถิ่น เพราะแต่ละท้องถิ่นจะมีภูมิปัญญาซึ่งมีหลากหลาย ถ้านักศึกษากลับมาช่วยกันดูแลท้องถิ่นของตนเอง ลูกหลานจะต้องไม่ทิ้งถิ่นไปหากินที่อื่น ก็จะทำให้หมู่บ้านของเรากินดีอยู่ดี และจะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น
4. สถาบันการศึกษาสนับสนุนให้นักศึกษาฝึกงานเรียนรู้ภาคปฏิบัติจากเกษตรกร ให้เข้าใจและรักอาชีพเกษตรกรรม ผลักดันให้กลับคืนสู่ท้องถิ่นของตนเอง
นักศึกษาถือเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศ ถ้านักศึกษาได้มาฝึกงานเรียนรู้ภาคปฏิบัติกับเกษตรกร จะทำให้ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของเกษตรกร ได้ความรู้หลากหลายซึ่งบางอย่างไม่มีในตำราเรียน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาความรู้ภาคทฤษฎีกับภาคปฏิบัติระหว่างเกษตรกรกับนักศึกษา ทำให้มีประโยชน์มาก และถ้ามีใจรักอาชีพเกษตรด้วย เมื่อเรียนจบแล้วก็จะได้นำวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมากลับมาพัฒนาท้องถิ่น ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นยังมีที่รกร้างว่างเปล่าอยู่อีกมาก
แนวทางและวิธีการสร้างความเข้มแข็งให้กับอาชีพเกษตร
แนวทางและวิธีการสร้างความเข้มแข็งให้กับอาชีพเกษตรของครูสมทรง มีดังนี้
1. ทำเกษตรโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
การทำการเกษตรแบบชาวบ้าน ไม่ต้องใช้เนื้อที่มาก ให้เน้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกในสิ่งที่เรากิน กินในสิ่งที่เราปลูก เหลือแล้วแบ่งปันกัน เรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ยังใช้ได้ดีกับทุกหมู่ทุกเหล่า โดยเฉพาะเกษตรกร เน้นพอมี พอกิน ไม่ฟุ้งเฟ้อ ถึงแม้จะไม่ร่ำรวยมาก ก็จะอยู่ได้อย่างสบาย แล้วก็อยู่ได้อย่างมีความสุข ใช้ระยะเวลาหน่อยหนึ่ง แต่ต้องมีใจรักด้วย
2. รวมกลุ่มเพื่อร่วมคิด ร่วมทำ แบ่งปัน และร่วมแก้ปัญหา
นอกจากแต่ละครอบครัวทำเกษตรโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว การรวมกลุ่มกันก็สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนได้ เพื่อช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันแก้ปัญหา แล้วแบ่งปันผลประโยชน์กัน อย่างเช่นกลุ่มของครูสมทรง จะนัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทุกวันจันทร์ของสิ้นเดือน เพื่อมาปรึกษาหารือกันในเรื่องต่างๆ สิ่งนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีเงินทุน แต่เราก็ได้ความคิดจากหลายๆ คนมาช่วยกันแก้ปัญหา และทำให้เราอยู่กันอย่างมีความสุขเหมือนพี่น้องกัน
3. คุณสมบัติของผู้นำกลุ่ม
ครูสมทรงมองเรื่องของการจัดตั้งกลุ่มและการเป็นผู้นำกลุ่มไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้นำกลุ่มที่ดีต้องมีคุณสมบัติดังนี้
3.1 ต้องสร้างศรัทธาด้วยการซื่อสัตย์สุจริต พูดจริงทำจริง เสียสละ
ผู้นำต้องสร้างศรัทธาก่อน โดยเฉพาะครูสมทรงที่บอกว่าเริ่มจากศูนย์ คือ ไม่มีเงินทองมากมาย ครูสมทรงต้องสร้างศรัทธาจากตัวเอง คือ หนึ่งต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต พูดจริงทำจริง สองต้องมีความเสียสละให้ ถ้าเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์กับส่วนรวม เช่น ขอพื้นที่ทำถนนหนทาง หรือขอสร้างศาลาที่ใช้ฝึกอบรม ครูสมทรงก็ยกให้ ทำให้ชุมชนเกิดความศรัทธา
3.2 ให้โอกาส ให้กำลังใจกัน ช่วยเหลือกัน
ผู้นำต้องมีกัลยาณมิตรกับทุกคน ต้องพูดจาให้กำลังใจกัน ให้โอกาสกัน ยกย่องกัน พูดสิ่งดีๆ พูดจริงทำจริง อย่างคนที่ทำแล้วล้มเหลว เขาปลูกแล้วได้ผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ เขาขายไม่ได้เลย เราต้องเข้าไปดูแล ต้องให้กำลังใจเขา ไปช่วยโดยไม่หวังผลตอบแทน เป็นการสร้างศรัทธาไปในตัวด้วย แล้วก็ไว้ใจกันด้วย
3.3 ทำให้ดู เปรียบเทียบให้เห็น พิสูจน์ได้จริง
การที่จะให้สมาชิกปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบพอเพียง ครูสมทรงต้องทำให้เขาเห็นว่าทำได้จริงๆ เช่น พื้นที่ 1 ไร่ ถ้าปลูกส้มโอจะให้ผลผลิตสูงกว่ามะพร้าว ครูสมทรงก็จะเปรียบเทียบให้ดูว่า มะพร้าวให้ผลผลิตต่อต้นปีละไม่เกิน 300 บาท แต่ถ้าปลูกส้มโอ จำนวนต้นเท่ากันแต่ต้นส้มโอให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท ซึ่งมากกว่า 10 เท่าตัว แล้ว 1 ไร่ปลูกส้มโอ 40 ต้น เท่ากับมะพร้าว 40 ต้น ผลผลิตเมื่อหักลบกลบหนี้ หักต้นทุนแล้วเหลือไม่ต่ำกว่า 5-6 หมื่นบาทต่อปี นอกจากนี้ยังสามารถปลูกผักกินเองได้ เหลือก็ขายได้ ส่วนในคลองก็เลี้ยงปลาได้อีก
4. สมาชิกกลุ่มต้องขยัน อดทน ประหยัด และไม่ยุ่งเกี่ยวอบายมุข
สมาชิกกลุ่มเองก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าผู้นำกลุ่มเช่นกัน สมาชิกกลุ่มต้องมีความมุ่งมั่น มีความขยัน อดทน แล้วประหยัด ถ้าเกษตรกรไม่ยุ่งกับการพนัน อบายมุขต่างๆ รับประกันได้เลยว่า จะไม่มีหนี้สิน แล้วก็ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่หลงตัวเอง ไม่ตามกระแสสังคม ให้ยึดในหลักเศรษฐกิจพอเพียง เดี๋ยวขยายไปเองได้ ได้เรื่อยๆ ไม่มีพลาดเลย
5. กลุ่มต้องช่วยกันวางแผนสำหรับพัฒนาชุมชน
กลุ่มได้มีการช่วยกันวางแผนพัฒนาชุมชน เช่น การทำถนน การพัฒนาในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องวิถีชีวิตให้คงเดิมไว้ เพราะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจังหวัดสมุทรสงครามมากมาย โดยเฉพาะเรื่อง Home stay ยังเป็นห่วงกันเรื่องของที่ดินเพราะว่า มีผู้มีสตางค์มากว้านซื้อและให้ราคาสูงมาก แต่ก็มีบางคนบอกว่า จะเก็บที่ดินไว้ให้เป็นมรดกของลูกหลาน เพราะเขาอยู่ได้ พอมีพอกิน ก็มีความสุขแล้ว พอในกลุ่มได้มาทำเกษตรธรรมชาติ ทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ก็คิดว่าได้มาถูกทางแล้ว ทางที่จะทำให้หนี้ลดลงได้ จนกระทั่งหนี้หมดไป เพราะต้นทุนต่ำ ต้องใช้เวลาสักหน่อยหนึ่งแต่ว่าจะดีไปถึงชั่วลูกชั่วหลาน
แนวทางและวิธีการสร้างเครือข่ายของกลุ่มอาชีพเกษตร
แนวทางและวิธีการสร้างเครือข่ายของกลุ่มอาชีพเกษตรของครูสมทรง มีดังนี้
1. ขยายเครือข่ายด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ครูสมทรงเป็นประธานกลุ่มส้มโอไร้สารพิษ มีสมาชิก 57 สวน ประมาณ 200 กว่าไร่ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2520 ปัจจุบันมีเครือข่ายประมาณ 18 กลุ่มด้วยกัน เฉพาะจังหวัดสมุทรสงคราม ปัจจุบันพื้นที่การปลูกส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ทั้งหมดประมาณ 9 พันกว่าไร่
ขณะเดียวกันก็ยังได้ขยายเครือข่ายไปทั่วทั้งจังหวัด และเกษตรกรใกล้เคียง นอกจากนี้ก็ยังมีการสอนเด็กๆ ในโรงเรียนได้เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องของภาคเกษตร โดยเน้นให้เด็กทำเรื่องของวิชาชีพ ถึงจะมีพื้นที่น้อย แต่ก็พัฒนาให้เกิดผลผลิตสูงสุดได้ นอกจากนี้จะมีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทุกวันจันทร์ของสิ้นเดือน จะมีเกษตรกรใหม่ๆ เข้ามาร่วมประชุม รวมถึงเครือข่ายจังหวัดใกล้เคียงจะคอยช่วยเหลือกันอยู่เสมอ เช่น มาช่วยกันเป็นวิทยากร เวลามีคนมาอบรมหรือมาดูงาน เป็นต้น
2. ตั้งศูนย์เรียนรู้ มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น
ที่บ้านของครูสมทรงได้มีการรวมตัวกับกลุ่มชาวบ้านสาขาอาชีพต่างๆ จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้ความรู้แก่ผู้สนใจทั่วไป ได้แก่ความรู้ด้านต่างๆ 6 ภาควิชา ได้แก่ การทำขนมไทย ผักและผลไม้แช่อิ่ม การทำนาเกลือ การทำน้ำตาลมะพร้าว การทำปุ๋ยชีวภาพ การทำน้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาซักผ้า เป็นต้น ทุกคนมาช่วยเป็นวิทยากรด้วยใจ ไม่ได้คิดเงิน และมุ่งให้ความรู้กับเด็กหรือเกษตรกรที่สนใจนำไปเป็นอาชีพเสริมรายได้ให้กับตนเอง
ข้อเสนอแนะสำหรับผู้กำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อย
ข้อเสนอแนะสำหรับผู้กำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อยของครูสมทรง มีดังนี้
1. รัฐบาลควรส่งเสริมการรวมกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ของเกษตรกรรายย่อย
เกษตรกรต้องรวมกลุ่ม ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันตัดสินใจ ผลประโยชน์แบ่งปันกัน จะทำให้ไม่มีหนี้สิน แต่ถ้ามีหนี้สินแล้วช่วยกันทำจริงๆ การรวมกลุ่มก็จะเกื้อกูลกันและพึ่งพากันได้ สำหรับกลุ่มของครูสมทรงได้จัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เก็บเงินจากเกษตรกร นำมาหมุนเวียนกันใช้ ช่วยกันผลิต ช่วยกันขาย และเน้นเรื่องคุณภาพของผลผลิต ลูกค้าก็จะมาหาเอง โดยเฉพาะให้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง อย่าฟุ้งเฟ้อ ทำอะไรให้มีภูมิคุ้มกัน คิดให้รอบคอบ โอกาสที่จะขาดทุน หรือเป็นหนี้สินก็น้อย
2. รัฐบาลดูแลให้กลุ่มแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างเป็นธรรม
ยกตัวอย่างกลุ่มของครูสมทรงจะแบ่งปันผลประโยชน์ โดยมีการปรึกษาหารือร่วมกัน ในการประชุมทุกวันจันทร์ของสิ้นเดือน เมื่อมีคนมาศึกษาดูงาน ครั้งละมากๆ ก็จะกระจายงานไปตามความชำนาญและความสามารถของคนในกลุ่ม เช่น ใครทำ Home stay ก็จะกระจายจำนวนคนที่เข้าพักกันไป ถ้ารับประทานอาหารเป็นกลุ่มใหญ่ ก็จะมีกลุ่มแม่บ้านรับทำอาหารให้ ใครมีฝีมือในด้านทำขนม ก็ให้มาจำหน่ายที่ศูนย์สินค้า OTOP เป็นการช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ผลประโยชน์ก็แบ่งปันกัน กระจายรายได้ทั่วกัน ก็อยู่กันได้อย่างมีความสุข เพราะไม่เอาเปรียบกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน
บทส่งท้าย
ถึงแม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่มองว่าอาชีพเกษตรเป็นอาชีพของคนในชนบท ดูเหมือนไม่มีเกียรติ ไม่มีหน้าตาในสังคม หาทางร่ำรวยได้ยาก แต่เป็นหนี้สินได้ง่าย แต่สำหรับครูสมทรงแล้ว การทำอาชีพเกษตร ถึงแม้จะไม่ร่ำรวย แต่ว่ามีความสุขที่ได้อยู่กับธรรมชาติ แล้วต้นไม้ก็มีชีวิตเหมือนกัน ถ้าเราได้เรียนรู้เขาจริงๆ แล้ว ก็มีความสุข โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ก็จะทำให้มีอายุยืนยาวนานและมีความสุขได้
ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ครูสมทรง แสงตะวัน ได้พิสูจน์ให้ทุกคนประจักษ์แล้วว่า อาชีพเกษตรนี้อยู่ได้อย่างมีความสุข มั่นคง ยั่งยืน หากอาศัยหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นดวงประทีปส่องนำทาง ส่วนใหญ่เกษตรกรที่มาดูงานหรือมาเยี่ยมชมที่นี่ ส่วนมากเห็นแล้วบอกว่า ไม่น่าจะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเห็นว่ามีบ้านช่อง มีที่ทางเยอะไปหมด ซึ่งครูสมทรงบอกว่าเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ต้องใช้ระยะเวลา การนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ไม่ใช่ว่าจะไม่ร่ำรวย มีโอกาสตั้งตัวได้ อาจจะร่ำรวยได้ ถ้าใช้เวลาและยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเรื่อยมา ก็จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข |