
เกษตรกรผู้นำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ได้น้อมนำ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้กับชีวิตตนเอง จนประสบความสำเร็จได้รับรางวัล “เกษตรกรดีเด่นด้านเศรษฐกิจพอเพียงระดับประเทศประจำปี 2549” อีกทั้งยังได้นำ “หญ้าแฝก” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปลูกในพื้นที่ของตนเองซึ่งประสบปัญหา “ดินดาน” จนสามารถปลูกพืชได้สำเร็จ
ในอดีตจ่าเอกเขียนเคยรับราชการทหารเรือ เคยอุปสมบทเป็นพระภิกษุ สอบได้นักธรรมตรี และได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้น 2 คุณเขียนลาออกจากระบบราชการตั้งแต่ปี 2534 มาเป็นเกษตรกร หลังจากใช้หนี้สินที่เกิดจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำแล้วก็มาทำเกษตรผสมผสานในพื้นที่ของตนเอง ปัจจุบันเป็น “ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล” ซึ่งถ่ายทอดความรู้ทางการเกษตรและสาขาอาชีพอื่นๆ รวมทั้งเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุแห่งหนี้สินของการทำการเกษตร
สาเหตุแห่งหนี้สินของจ่าเอกเขียน คือ ความโลภ ความไม่รู้จักพอ เนื่องจากจ่าเอกเขียน ได้นำเงินไปลงทุนเลี้ยงกุ้งกุลาดำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้เกิดหนี้สินขึ้น การที่จิตมีความโลภ ความไม่รู้จักพอ ทำให้เกิดความอยากได้กำไรมาก แต่ในขณะเดียวกัน ก็เสี่ยงกับการขาดทุนสูงและก่อให้เกิดหนี้สินตามมาได้เช่นกัน
ทำอย่างไรจึงหลุดพ้นจากการเป็นหนี้สินได้ (ภาพรวม)
วิธีหลุดพ้นจากการเป็นหนี้สินของจ่าเอกเขียน คือ การน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ตั้งแต่ปี 2542 หลังจากชดใช้หนี้สินที่เกิดจากการทำนากุ้งกุลาดำที่ล่มไปเพราะความโลภ ความไม่พอประมาณของตัวเอง
จ่าเอกเขียน ได้ชดใช้หนี้สินโดยนำที่ดินที่มีอยู่มาจัดสรรปันส่วนนำเงินมาใช้หนี้สินกับธนาคารเสร็จเรียบร้อย หลังจากนั้นก็ทำการเกษตรโดยยึดหลักของเศรษฐกิจพอเพียงที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่นำมาลงทุน ใช้วิธีการพึ่งปัจจัยภายในทั้งหมด ไม่ต้องไปซื้อหาจากข้างนอก ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจากการที่เดินทางไปหาปัจจัยจากข้างนอกมา แต่เป็นการนำปัจจัยภายในที่มีอยู่มาใช้
หลักคิดและวิธีปฏิบัติที่ทำให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้สินและอยู่ได้อย่างยั่งยืน
หลักคิดและวิธีปฏิบัติที่ทำให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้สินและอยู่ได้อย่างยั่งยืนของจ่าเอกเขียน มีดังนี้
1. น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้
การเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง มีวิธีปฏิบัติดังนี้
1.1 ลดละความโลภให้เบาบางจากจิตใจก่อน เพื่อนำไปสู่การรู้จักให้และเสียสละเพื่อส่วนรวม
การที่คนจะเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงโดยไม่ต้องเป็นหนี้เป็นสินได้ ควรจะต้องลด ละ ความโลภให้เบาบางจากจิตใจก่อน เมื่อกิเลสเบาบางแล้วก็สามารถนำเข้าสู่ความพอเพียงได้ เมื่อเรารู้จักละกิเลสพวกนี้ได้แล้ว จิตใจเราจะรู้จักให้ และสามารถเสียสละเพื่อสังคมส่วนรวมได้
1.2 รู้จักประมาณตน ในการประกอบอาชีพ
การรู้จักประมาณตน หรือ ความพอประมาณในการประกอบอาชีพ ทำให้เราทราบว่าการประกอบอาชีพของเรานั้น มีลูกค้าอยู่ที่ไหน มีต้นทุนเท่าไร และมีอุปสรรคอะไรบ้าง ทำให้สามารถวางแผนจัดการเพื่อให้ประสบความสำเร็จในอาชีพนั้นๆ ได้
1.3 สร้างภูมิคุ้มกัน โดยการพึ่งปัจจัยภายใน
การพึ่งปัจจัยภายในสำหรับการทำการเกษตร หมายถึง การใช้ความรู้ที่มีอยู่ ปลูกเอง บริโภคเอง
เป็นการพึ่งปัจจัยภายใน การไม่ต้องไปซื้อจากข้างนอกเท่ากับเป็นการลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการผลิต เมื่อเหลือกินเหลือใช้ ก็แบ่งปันให้เพื่อนบ้านหรือนำไปขาย ซึ่งถือว่าได้กำไรแล้ว และยังได้บริโภคผลผลิตที่ปลอดสารเคมี ตลอดจนการปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นไม้บำนาญชีวิต เมื่ออายุมากขึ้นก็ไม่ต้องดิ้นรนหาซื้อ เพราะเราได้ปลูกทุกอย่างไว้แล้ว เป็นการทำการเกษตรในลักษณะให้พออยู่ พอกิน มีกิน มีใช้ ถือว่าเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง
1.4 เชื่อมโยงการทำเกษตรทฤษฎีใหม่กับใช้หญ้าแฝกพัฒนาดินเสื่อมโทรม
เรื่องของทฤษฎีใหม่ นำไปสู่เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงต้องการให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ พระองค์ท่านทรงเน้นเรื่อง “การหาแหล่งน้ำ” จึงเป็นที่มาของเรื่อง “ทฤษฎีใหม่” เราจะนำ “ทฤษฎีใหม่” มาใช้ประโยชน์กับตัวเราเองอย่างไร ก็อยู่ที่ “ตัวเกษตรกร” อย่างพื้นที่ของจ่าเอกเขียนเริ่มต้นจากดินที่ทำกินไม่ได้ จึงนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้โดยการนำหญ้าแฝกมาฟื้นฟู พัฒนาดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถทำกินได้ พร้อมกับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ไปด้วย
เทคนิคการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ดินดาน
1) ขุดหลุมให้กว้าง ใช้เศษไม้ใบหญ้า ปุ๋ยหมัก คลุกเคล้ากับดิน รดน้ำให้ชุ่ม
2) ปลูกหญ้าแฝกลงไป ให้สังเกตถ้ารดน้ำแล้วน้ำซึมลงดินได้ แสดงว่าใช้ได้
3) ดูแลรดน้ำให้หญ้าแฝกตั้งตัวได้ หลังจากนั้นประมาณ 50 วัน หญ้าแฝกจะออกดอก ถ้าปล่อยให้หญ้าแฝกออกดอก แฝกต้นเก่าจะตายได้
4) เกี่ยวใบหญ้าแฝก ความสูงจากพื้นดินประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้หญ้าแฝกออกดอกและให้หญ้าแฝกแตกกอใหม่เพิ่มขึ้น
2. ลด ละ เลิกอบายมุข ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้
คำว่า “อบายมุข” ของจ่าเอกเขียน มิได้หมายความเพียงการเล่นการพนัน การเที่ยวกลางคืน และการเสพเครื่องดองของเมาเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมไปถึง ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น เช่นการติดใจในรสชาติของอาหาร ความพอใจในการได้ยินเสียงนักร้องหรือเสียงดนตรีที่ไพเราะ เป็นต้น
2.1 ต้นเหตุของอบายมุขคือ กิเลส…ความต้องการของใจ
สาเหตุของการที่คนเราลดค่าใช้จ่ายไม่ได้ นั่นเป็นเพราะกิเลส วัตถุกาม เรากระเสือกกระสน ดิ้นรน เพื่อตอบสนองความต้องการของใจ คือ ความต้องการของกิเลส ถ้าเราสามารถ “ลด ละ เลิกอบายมุข” ได้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเสพเครื่องดองของเมา เที่ยวกลางคืน ดูการละเล่น การพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านการงาน และถ้าเป็นคนขยัน ไม่เกียจคร้านการงาน ก็จะมีกินมีใช้และอยู่ได้อย่างมีความสุข
2.2 วิธีลด ละ เลิกอบายมุข คือ ลด ละ กิเลส ความต้องการของใจ
วิธีการลด ละ กิเลส อยู่ที่ “ใจ” ใจเราต้องคิดก่อนว่า เราจะละกิเลสให้ได้ ถ้าเราคิดว่าเราทำได้ มันก็จะละกิเลสหรือทำให้เบาบางได้ สิ่งที่เรากระเสือกกระสน ดิ้นรนคือความต้องการของจิต แต่ไม่ใช่ความต้องการของสังขาร สังขารต้องการเพียงปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรคเท่านั้น
3. รู้จักการบริหารจัดการภายในครัวเรือน
การบริหารจัดการภายในครัวเรือนเป็นสิ่งที่แต่ละครอบครัว ต้องมีเทคนิคการบริหารจัดการกันเอง อย่างเช่น รู้จักประมาณตน ถ้าเป็นหนี้ต้องเป็นหนี้ของเรา ต้องไม่ให้ครอบครัวเดือดร้อน ต้องรู้จักบริหารจัดการการเงินให้เหมาะสม บริหารคนให้เป็น รวมทั้งการบริหารตัวเองด้วยการสร้างปัญญาให้กับตัวเองโดยยึดหลักวิปัสสนาคือคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การทำงานมีความสุขได้ นอกจากนี้การบริหารจัดการแปลงก็ต้องมีการวางแผนการทำงานในแต่ละวันด้วย
4. ต้องมีการพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ
นอกเหนือจากการปลูกหญ้าแฝกเพื่อใช้ฟื้นฟูดินให้อุดมสมบูรณ์แล้ว ทำอย่างไรถึงจะมีรายได้จากแปลงปลูกหญ้าแฝกต่อเนื่องตลอดทั้งปี จ่าเอกเขียนจึงได้ปลูกผักสวนครัวหมุนเวียนสลับกันไป เช่น ผักบุ้ง คะน้า พริก มะเขือ และปลูกพืชอื่นๆ เสริม เช่น มะละกอ กล้วย รวมทั้งปลูกไม้ผลซึ่งถือว่าเป็นไม้บำนาญชีวิต เช่น ลำไย ส้มโอ ฯลฯ วิธีนี้ก็จะช่วยให้มีรายได้หมุนเวียน มีกินมีใช้ตลอดทั้งปี
5. ยึดหลักธรรมะมาใช้กับอาชีพเกษตรกรรม
หลักธรรมะที่คุณเขียนนำมาใช้ในการทำงาน มีดังนี้
5.1 หลักอิทธิบาทสี่
ทุกอาชีพจะประสบความสำเร็จได้ ต้องใช้อิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็นเครื่องชี้นำชีวิต คือ เราต้องมีความพอใจที่จะประกอบอาชีพนั้นๆ ก่อน เมื่อเรามีความพอใจในสิ่งนั้นแล้ว เมื่อเจออุปสรรคอะไร เราก็จะมีความเพียรพยายามแก้ไขอุปสรรคตรงนั้นให้ได้ ต้องเอาจิตใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นถึงจะประสบผลสำเร็จได้
5.2 ต้องมีศรัทธาในสิ่งที่จะทำ
คนเราทำอะไรจะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีความ “ศรัทธา” ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่น แล้วจะนำไปสู่ความสำเร็จได้ จ่าเอกเขียนมีศรัทธาคือมีความเชื่อมั่นในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชื่อมั่นในเรื่องหญ้าแฝก เรื่องทฤษฎีใหม่ เมื่อเรามีความศรัทธาแล้ว จากนั้นเราก็ลงมือปฏิบัติจนประสบผลสำเร็จ สิ่งที่เราได้เห็นคือ จากชีวิตที่เคยย่ำแย่ ก็ทำให้ชีวิตอยู่ดีกินดี มีกินมีใช้ สามารถเผื่อแผ่ให้กับสังคมข้างนอกได้
5.3 ทำงานต้องให้รู้จริงและต้องเชื่อด้วยเหตุผล
การทำงานอย่าเชื่อจากการเรียนรู้ในตำราเพียงอย่างเดียว ต้องลงมือปฏิบัติให้รู้จริงและต้องเชื่อด้วยเหตุผล อย่างเช่น กรณีปลูกหญ้าแฝก เมื่อเราได้ทดลองปฏิบัติจริงพบว่า แปลงที่ปลูกหญ้าแฝกกับแปลงที่ไม่ปลูกหญ้าแฝก จะมีความอุดมสมบูรณ์ของดินแตกต่างกันมาก แปลงที่ปลูกหญ้าแฝกดินจะนุ่ม ใช้แมคโครขุดได้ง่าย ส่วนแปลงที่ไม่ได้ปลูกหญ้าแฝก ดินจะแข็งเป็นดินดาน ปลูกพืชไม่ได้ เป็นต้น
5.4 เมื่อรู้จริงแล้วต้องนำไปปฏิบัติ
สิ่งที่สำคัญเมื่อได้เรียนรู้แล้ว ต้องนำมาปฏิบัติ ถ้ารู้แล้วไม่นำมาปฏิบัติ ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร อย่างเช่น ถ้าเรารู้ว่าหญ้าแฝกช่วยระเบิดดินดานได้จริง แต่ไม่นำมาปฏิบัติ ก็จะไม่เห็นเลยว่า จะเกิดประโยชน์ตรงไหน หรือการทำทฤษฎีใหม่ สามารถช่วยเหลือให้ชีวิตคนอยู่รอด ปลอดหนี้ มีกำไร ใจเป็นสุขได้ ถ้าไม่นำมาปฏิบัติ ก็จะไม่เห็นตรงนั้น หรือเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าไม่นำมาปฏิบัติ ก็ไม่มีทางหลุดพ้นจากการเป็นหนี้เป็นสินได้
5.5 ต้องมีการจดบันทึกเรื่องขององค์ความรู้ไว้
การจดบันทึกองค์ความรู้ จะช่วยให้ความรู้นั้นคงอยู่ ไม่สูญหายหรือลืม ส่วนการจัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายต่างๆ จะทำให้เราทราบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูพัฒนาดิน ซึ่งจะช่วยให้เราทำอะไรให้มีเหตุมีผล เพราะจะรู้ต้นทุนในการประกอบอาชีพนั้นๆ ได้
5.6 ต้องมีความรู้คู่กับคุณธรรม
การที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข คนในสังคมต้องมีคุณธรรมควบคู่กับความรู้ที่มีอยู่ เพื่อจะนำความรู้ตรงนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรหรือชุมชนของเราได้ ถ้าเรามีความรู้แล้วนำไปใช้อย่างถูกต้อง นำไปปฏิบัติในสิ่งดีๆ ก็จะทำให้สังคมเจริญได้เร็ว แต่ถ้าเราเอาความรู้ที่เรารู้สูงๆ ไปประกอบในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคม ถ้ามีความรู้คู่คุณธรรม ก็จะนำชีวิตให้ “อยู่รอด ปลอดหนี้ มีกำไร ใจเป็นสุข” ได้
5.7 ถ่ายทอดความรู้ไปสู่คนอื่นด้วยการ “ให้”
เมื่อเราประสบผลสำเร็จแล้ว การถ่ายทอดความรู้ไปสู่คนอื่นด้วยการ “ให้” ถือเป็นวิทยาทานให้กับสังคมอย่างหนึ่ง เพราะทำให้เกษตรกรคนอื่นไม่ต้องมีต้นทุนในการลองผิดลองถูก แต่การให้ต้องเป็นการให้ที่รู้จักพอประมาณ ต้องอยู่ในระดับมัชฌิมาปฏิปทา คือ ระดับปานกลาง คือ การถ่ายทอดให้เขา เราต้องมีความสุขด้วย และเขาก็ต้องรับไปอย่างไม่ต้องหวังสิ่งตอบแทน เมื่อเขาได้รับไปแล้วนำไปปฏิบัติ แล้วทำให้ชีวิตเขาอยู่ดีกินดีขึ้น ก็เป็นความสุขที่เกิดขึ้นร่วมกันได้
5.8 สวดมนต์ ทำจิตใจให้สงบ และใช้เวลาว่าง หมั่นศึกษาหาความรู้ให้ตนเองอยู่เสมอ
ช่วงเวลาที่ไม่ได้ออกไปทำงานในสวน จ่าเอกเขียนจะใช้เวลาดังกล่าวศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อนำไปถ่ายทอดให้กับคนอื่นอยู่เสมอ หรือในช่วงเวลาที่เบื่อจากการอ่านก็จะทำจิตใจให้สงบด้วยการสวดมนต์เพื่อทำให้จิตว่างก็จะได้นอนหลับ ไม่ฟุ้งซ่าน หรือคิดกังวลในเรื่องต่างๆ
การเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพเกษตรให้ลูกหลาน/เกษตรกรรุ่นใหม่
วิธีการเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพเกษตรให้ลูกหลาน/เกษตรกรรุ่นใหม่ของจ่าเอกเขียน ได้แก่
1. รัฐต้องมีหลักประกันให้กับอาชีพเกษตรว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน
จ่าเอกเขียนห่วงอนาคตของอาชีพเกษตรกรรมของคนไทยในปัจจุบันที่นับวันจะหาคนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อได้ยากขึ้นทุกวัน หากการส่งเสริมของรัฐที่สนับสนุนภาคการเกษตรยังไม่จริงจัง เช่น ไม่มีการประกันราคาผลผลิต ไม่มีสิ่งยืนยันว่า ทำการเกษตรแล้วไม่เป็นหนี้ เนื่องจากราคาผลผลิตตกต่ำ ภัยแล้ง น้ำท่วม ฯลฯ ประกอบกับค่านิยมของเด็กรุ่นใหม่ที่ชอบความสะดวกสบายตั้งแต่เรียน เขาไม่ได้คิดที่จะนำความรู้ที่ได้เรียนมาเพื่อต้องการพัฒนาการเกษตร จึงเป็นสิ่งที่ยากหากจะให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสู่ระบบการเกษตร
2. สถาบันการศึกษาต้องปลูกฝังให้นิสิตมีใจเผื่อแผ่ให้แก่ชุมชน
สถาบันการศึกษามีส่วนช่วยให้นักศึกษานำความรู้ที่ได้ศึกษาเรียนรู้มาพัฒนาชุมชน และนำความรู้มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยต้องให้นักศึกษาเข้าถึงชุมชน ด้วยการเอาใจไปหาชุมชนก่อน รู้จักเผื่อแผ่ให้กับสังคม แล้วเราจะเข้าถึงชุมชนได้ ให้เขาเกิดการยอมรับก่อน แล้วสิ่งที่เราจะทำให้ชุมชนที่เขาจะต้องไปพัฒนาจะประสบผลสำเร็จอย่างแน่นอน
3. ปลูกฝังให้เยาวชนรักอาชีพเกษตรตั้งแต่เด็กๆ
เริ่มจากที่ลูกหลานของจ่าเอกเขียนเอง จ่าเอกเขียนได้วางแผนให้ลูกหลานช่วยกันดูแล สานต่อเจตนารมณ์ในการทำงานต่อไปในอนาคต โดยให้ เขามีใจเข้ามาร่วมกับเราก่อน พูดให้เขามีกำลังใจ มีสิ่งที่จูงใจให้เขาเห็น ให้เขาภาคภูมิใจในสิ่งที่เราทำว่ามีประโยชน์ต่อคนอื่น และมีคนเห็นความสำคัญของเรา เราจึงต้องดูแลรักษาผลงานนี้ไว้ให้ดี
แนวทางและวิธีการสร้างความเข้มแข็งให้กับอาชีพเกษตร
แนวทางและวิธีการสร้างความเข้มแข็งให้กับอาชีพเกษตรของจ่าเอกเขียน มีดังนี้
1. ผู้นำต้องเข้มแข็ง ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่เห็นแก่ตัว เสียสละ
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กลุ่มประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอยู่ที่ “ตัวผู้นำ” ผู้นำต้องทำให้สมาชิกเห็นเป็นรูปธรรมว่า เราสามารถเป็นผู้นำเขาได้ โดยการทำให้เขา “ศรัทธาในตัวเรา” ต้องมี “ความซื่อสัตย์ สุจริต มีสัจจะ มีใจ รู้จักแบ่งปันให้คนอื่น อย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว คือทำจิตให้โลภน้อยที่สุด” และต้องรู้จัก “เสียสละ” เช่นการนำรายได้ของส่วนตัวให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มได้ จะทำให้กลุ่มเห็นศักยภาพของการเป็นผู้นำได้ นอกจากนี้ยังต้องสามารถ “แก้ไขอุปสรรคให้ได้และต้องทำให้เป็นด้วย”
2. สมาชิกกลุ่มต้องเสียสละร่วมกัน
ผู้ร่วมงานคือสมาชิกในกลุ่มเรา ต้องให้สมาชิกของเรารู้จักเสียสละร่วมกัน จึงจะทำให้กลุ่มดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพได้ ถ้าเราจะรวมกลุ่มแล้วให้กลุ่มอยู่รอดและเข้มแข็ง สมาชิกและผู้นำต้องรู้จักการเสียสละร่วมกัน กลุ่มจึงจะอยู่ได้
3. รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนหรือต่อยอดให้กลุ่มที่มีศักยภาพ หรือมีแนวโน้มที่จะพึ่งพาตัวเองได้ก่อน
ถ้ารัฐบาลมีการสนับสนุนหรือต่อยอดให้กับกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าสามารถพึ่งพาตัวเองได้แล้ว ก็ให้งบประมาณมาส่งเสริมให้เขาตั้งตัวได้ก่อน เมื่อเขาตั้งตัวได้ ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่จะเข้ามาหาเอง นี่คือกลุ่มที่เขาเข้มแข็งแล้ว เพราะเขารู้จักพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ แต่ถ้าไปตั้งกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ โดยที่กลุ่มยังไม่พร้อม กลุ่มจะประสบความสำเร็จได้ยาก และทำให้ชุมชนไม่เข้มแข็ง
แนวทางและวิธีการสร้างเครือข่ายของกลุ่มอาชีพเกษตร
แนวทางและวิธีการสร้างเครือข่ายของกลุ่มอาชีพเกษตรของจ่าเอกเขียน มีดังนี้
1. สร้างแหล่งเรียนรู้ดูงานอยู่ในที่เดียวกัน พร้อมกับเป็นที่ประชุมและให้คำปรึกษากับสมาชิกของทุกหน่วยงาน
การสร้างเครือข่ายให้กับกลุ่มอาชีพเกษตรกรควรจะใช้ประโยชน์จากสถานที่เรียนรู้ดูงานที่รวมอยู่ในที่เดียวกันเพื่อใช้ถ่ายทอดความรู้ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการเรียกประชุม ปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้คนในชุมชน ตลอดจนใช้วางแผนการทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนหรือเครือข่าย เช่น ที่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลที่บ้านของคุณเขียนก็เป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานของหน่วยงานราชการเกือบทุกหน่วยงาน เช่น พัฒนาชุมชน เกษตร หมอดินอาสา ปศุสัตว์ ประมง และเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น
2. เน้นแนวคิดที่ทุกคนมีส่วนร่วม คือการลดต้นทุนการผลิตให้ได้
จ่าเอกเขียนต้องการให้ เกษตรกรทุกคนมีแนวคิดเดียวกัน คือการลดต้นทุนการผลิต โดยนำสิ่งที่เราปฏิบัติอยู่ เช่น ต้องการลดต้นทุนด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เราก็ให้เขาเรียนรู้เรื่องการทำปุ๋ยอินทรีย์ การทำปุ๋ยน้ำชีวภาพ พืชสมุนไพรเพื่อลดต้นทุนของเขา
3. ให้แต่ละชุมชนรู้จักวิธีการรวมกลุ่ม
ต่อจากนั้นก็ให้เขารู้จักวิธีการรวมกลุ่มกันในชุมชน โดยแนะนำว่าการจัดตั้งกลุ่มจะต้องทำอย่างไร โดยพิจารณาจาก ชุมชนนั้นทำอาชีพเดียวกันทั้งหมดกี่คน เมื่อได้สมาชิกมาแล้ว ต้องรวมหุ้น หาประธาน หาคณะกรรมการบริหารในกลุ่ม เช่น เลขา เหรัญญิก ผู้ตรวจสอบการเงิน รวมทั้งสอนการทำบัญชีในการบริหารจัดการด้านการเงินด้วย
ข้อเสนอแนะสำหรับผู้กำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อย
ข้อเสนอแนะสำหรับผู้กำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อยของจ่าเอกเขียน มีดังนี้
1. เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องสนับสนุนการเรียนรู้อย่างจริงจัง
จ่าเอกเขียนยกตัวอย่าง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้ได้ทุกเรื่องที่ต้องการ เป็นการบริหารจุดเดียวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องสนับสนุนการเรียนรู้ให้เต็มที่ ต้องมีความจริงใจให้กับเกษตรกร และเสียสละเพื่อชุมชน ถ้าเรามีใจเข้าไปหาเขา ให้เกษตรกรสามารถยืนด้วยตัวเองได้ แล้วค่อยขยับขยายไปที่อื่น ก็จะทำให้ศูนย์ฯ เกิดผลงานขึ้นมาให้เห็นเป็นรูปธรรมได้
2. เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องทุ่มเทให้เกษตรกรอย่างเต็มที่
ปัญหาการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐคือ ยังไม่ทุ่มเทและงบประมาณยังไม่ถึงมือเกษตรกร ต้องไม่หวังผลประโยชน์จากเกษตรกร ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุ่มเทให้กับการทำงานเช่นนี้มีน้อย แต่ถ้าชุมชนที่เจ้าหน้าที่มีจิตใจดีอย่างนี้ เกษตรกรจะไปรอด
3. ส่งเสริมให้เกษตรกรเห็นผลประโยชน์ของการรักษาดิน ลดการใช้สารเคมี ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์
จ่าเอกเขียนเป็นเกษตรกรคนหนึ่งที่เห็นความสำคัญของดินและปลูกพืชโดยไม่ใช้เคมี จึงได้เผยแพร่และขยายผลให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ เวลามีการประชุมทุกครั้งก็จะบอกเกษตรกรว่าอย่าเอาผลประโยชน์จากดินอย่างเดียว ต้องสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินด้วย ถ้าเราเอาประโยชน์จากดินอย่างเดียว ต่อไปลูกหลานเราจะทำกินไม่ได้ ส่วนเรื่องลดการใช้เคมี ก็ต้องหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ทำปุ๋ยหมักใช้เอง ทำปุ๋ยน้ำชีวภาพใช้เอง ทำสมุนไพรใช้เอง ต้องให้เกษตรกรเห็นความสำคัญแล้วปฏิบัติจริงๆ เมื่อเขาเห็นผลคือ ลดต้นทุนได้ เขาก็อยู่รอด
4. หาแหล่งน้ำให้เกษตรกรมีไว้ใช้สำหรับทำการเกษตรก่อน สิ่งหนึ่งที่จะให้เขาช่วยเหลือตัวเขาเองได้ คือต้องหาแหล่งน้ำให้เกษตรกรทำการเกษตรก่อน
ต่อไปจึงค่อยมากระตุ้นเศรษฐกิจพอเพียง ให้เขาสามารถปลูกอะไรกินได้ เลี้ยงตัวเองรอด ต่อไปเขาจะอยู่ได้แล้ว ถึงแม้ว่าดินไม่ดี พอมีแหล่งน้ำ เราสามารถพัฒนาดินให้มีชีวิตขึ้นมาได้ ถ้าไม่ทำเกษตรผสมผสานก็อาจเลี้ยงปลา เลี้ยงกบได้ ดังนั้น ถ้ามีแหล่งน้ำ เกษตรกรอยู่รอด
บทส่งท้าย
การดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ต้องค่อยเป็นค่อยไป จ่าเอกเขียน สร้อยสม กล่าวปิดท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าเราค่อยเป็นค่อยไป ต่อไปในอนาคต มันก็จะดีขึ้นมาเอง เหมือนกับที่เราเคยมีหนี้สิน เพราะความอยากได้ เมื่อเรามาทำตรงนี้ใหม่ๆ ก็ไม่มีรายได้อะไร แต่เมื่อผ่านวิกฤติมาได้แล้ว จะเห็นได้ชัดว่า เรามีกินมีใช้โดยไม่ต้องไปซื้อ เพื่อนฝูงมา ก็ให้เขาโดยที่เราไม่ต้องไปซื้อ มันก็เป็นความสุขของเราแล้ว
สำหรับความภาคภูมิใจในชีวิตของจ่าเอกเขียน คือ การนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ เมื่อจิตใจเราได้รู้จักให้แล้ว มันเป็นความสุข ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เราไม่ได้ให้เพราะเราต้องการสิ่งตอบแทนจากใคร สิ่งที่ประสบความสำเร็จแล้ว นั่นคือ เราได้เกิดมาใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สิ่งที่เราทดแทนผืนแผ่นดินเกิดของเราได้ ก็คือ ทำสิ่งดีๆ ได้นำแนวพระราชดำริมาปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมขึ้นมา แล้วสามารถถ่ายทอดให้คนอื่นเห็นว่า ถ้าทำอย่างนี้จะทำให้ชีวิตของทุกคน “อยู่รอด ปลอดหนี้ มีกำไร ใจเป็นสุข” สิ่งนี้ถือว่าเป็นความสุขในชีวิตแล้ว
|