คุณสุภาพ ธีรานุวัฒน

             นักธุรกิจเจ้าของฟาร์มสุกร “สามพรานฟาร์ม” อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ผู้ริเริ่มความคิดผลิตสุกรพันธุกรรมที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2546 คุณสุภาพ  คุณพิมพยา ธีรานุวัฒน์  และ  คุณยุพิน สวัสดิ์เอื้อ ร่วมมือกับ  ผศ.ดร.ศกร  คุณวุฒิฤทธิรณ อ.ดร.ธนาทิพย์ สุวรรณโสภี และคณะผู้วิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน พัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมของ “สุกรสายพันธุ์สามพรานฟาร์ม” รวมทั้งพัฒนาความรู้และวิธีการผลิตสุกรให้สามารถทนสภาพอากาศแบบร้อนชื้นโดยใช้โรงเรือนแบบเปิด ไม่เน้นการผลิตเชิงปริมาณแต่เน้นการผลิตเชิงคุณภาพ
            
นอกจากนี้ คุณสุภาพยังดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการพึ่งตนเอง การลดต้นทุนการผลิต การใช้ทรัพยากรหมุนเวียนภายในฟาร์มให้เกิดประโยชน์สูงสุด การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การใช้สมุนไพรป้องกันและรักษาสุขภาพให้สุกรเพื่อเพิ่มคุณภาพและมูลค่าผลิตภัณฑ์ ตลอดจนมีแนวคิดที่จะขยายเครือข่ายผู้ผลิตสุกรสายพันธุ์สามพรานฟาร์มเพิ่มมากขึ้น

สาเหตุแห่งหนี้สินของการทำการเกษตร
            
สาเหตุแห่งหนี้สินของคุณสุภาพ คือ การขยายกิจการฟาร์ม เพื่อสร้างโรงชำแหละที่ได้รับรองมาตรฐานและมีใบอนุญาตเพื่อการส่งออก ซึ่งการมีโรงชำแหละทำให้สามารถชำแหละเนื้อสุกรตามที่ตลาดต้องการได้ สามารถบริหารจัดการควบคุมและผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานง่ายขึ้น ปัจจุบันได้สร้างโรงชำแหละเสร็จสมบูรณ์แล้ว และอยู่ในขั้นตอนการบริหารจัดการให้เกิดความคุ้มค่า

ทำอย่างไรจึงหลุดพ้นจากการเป็นหนี้สินได้ (ภาพรวม)
            
วิธีหลุดพ้นจากการเป็นหนี้สินของคุณสุภาพ  คือ การนำเงินมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและสามารถชำระคืนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์ก่อนว่า เรามีความพร้อมในเรื่องใด จะนำเงินมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าได้อย่างไร แล้วต้องมั่นใจว่าเรามีศักยภาพหรือความสามารถในการใช้คืนหนี้สินนั้นได้มากน้อยแค่ไหน

หลักคิดและวิธีปฏิบัติที่ทำให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้สินและอยู่ได้อย่างยั่งยืน
            
หลักคิดและวิธีปฏิบัติที่ทำให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้สินและอยู่ได้อย่างยั่งยืนของคุณสุภาพ มีดังนี้
            
1. คัดเลือกสายพันธุ์สุกรที่ดี ช่วยลดต้นทุน ผลผลิตคุณภาพดี ตลาดต้องการ
            
คุณสุภาพได้คัดเลือกสุกร “สายพันธุ์สามพรานฟาร์ม” มากว่า 15 ปี ซึ่งสุกรสายพันธ์สามพรานฟาร์มเป็นสายพันธุ์ที่แข็งแรง เลี้ยงง่าย ทนสภาพร้อนชื้น การเลี้ยงแบบโรงเรือนเปิดหรือสุกรปล่อยทุ่ง ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิตไปได้มาก แถมยังได้เนื้อสุกรที่มีคุณภาพดีตามที่ตลาดต้องการ

             2. ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงดำเนินธุรกิจ
            
คุณสุภาพเริ่มต้นนำเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับธุรกิจของตัวเอง  จากการขอหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งจากปั๊มบางจาก ซึ่งขณะนั้นกำลังมีการรณรงค์เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้รู้ว่าเขาต้องมีการบริหารจัดการในพื้นที่อย่างไร ในอัตราส่วนเท่าไหร่ ก็มาจัดลำดับว่า สินค้าหลักของเราคืออะไร แล้วอะไรคือตัวรองที่จะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในสิ่งที่เรามีอยู่ ถ้าเราเลี้ยงหมู สินค้าหลักของเราคือหมู เราควรบริหารจัดการอย่างไรให้ขับเคลื่อนไปได้ในระบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีวิธีการดังนี้
            
2.1 เลี้ยงหมูแบบทางสายกลาง คือเลี้ยงในโรงเรือนแบบเปิด
            
การเลี้ยงหมูแบบระบบเศรษฐกิจพอเพียง คือไม่ได้มุ่งที่ตัวกำไรสูงสุด แต่มุ่งที่การเลี้ยงหมูแบบอยู่ได้แบบยั่งยืน ก็คือ ไม่ต้องไปลงทุนอะไรแบบสุดโต่ง ทำแบบสายกลาง แล้วไม่จำเป็นต้องโตไวมาก คือปล่อยให้บาง (จำนวนน้อย)  ปล่อยให้กินนอนแบบสุขสบาย และการดูแลแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาเยอะ เรียกว่าดูแลแบบธรรมชาติ

             2.2 ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเช่นนำสมุนไพรมาใช้ป้องกันและรักษาโรคสุกร
            
การใช้สมุนไพรภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้ลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่ายาปฏิชีวนะและค่ายารักษาโรคไปได้อีกมาก ในหลักเศรษฐกิจพอเพียงมีคำจำกัดความว่า ทุกพื้นที่ที่มีอยู่ใช้ประโยชน์ให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด จึงได้นำที่ว่างเปล่ามาปลูกพืชสมุนไพร เช่น ตะไคร้ ซึ่งปลูกง่าย หาง่าย มีความทนทาน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลายครั้ง สามารถแก้ไข้หวัด แก้เครียด หรือใช้กลบกลิ่นเวลาจับหมูมารวมกัน ทำให้หมูเป็นกลิ่นเดียวกัน เป็นต้น

             2.3 ใช้ทรัพยากรในฟาร์มหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
            
ยกตัวอย่างเช่น มีการนำมูลสัตว์ไปผลิตเป็นไบโอแก๊ส (biogas) แก๊สที่ได้ก็ผลิตกระแสไฟหรือน้ำที่ออกจากไบโอแก๊สก็ไปบำบัดให้เกิดจุลินทรีย์ แล้วดึงกลับมาใช้ในขบวนการผลิตหมูใหม่เพื่อให้เกิดภูมิต้านทาน นอกจากนี้น้ำร้อนจากที่เกิดจากท่อไอเสีย ก็นำไปต้มกระสอบที่ปูให้หมูนอนซักล้างสิ่งสกปรก ส่วนความร้อนที่ได้จากการผลิตกระแสไฟที่ปั่นในห้องเครื่องก็นำมาเป่ากระสอบที่ซักให้แห้งเป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้บริเวณพื้นที่ภายในฟาร์มเลี้ยงตะพาบน้ำและปลาอีกด้วย

             3. มีกระบวนการผลิตครบวงจร ควบคุมดูแลได้ทุกกระบวนการ
            
สามพรานฟาร์มสามารถพึ่งตัวเองได้ตั้งแต่ผลิตและพัฒนาสายพันธุ์ของตนเอง ตลอดจนการจัดจำหน่ายสุกรแบบครบวงจร ดังนี้
            
3.1 ผลิตพันธุ์เพื่อใช้เอง
            
ส่วนใหญ่สามพรานฟาร์มจะเน้นการผลิตเพื่อใช้เอง ส่วนลูกค้าจากฟาร์มอื่นส่วนมากเป็นลูกค้าเก่าที่เคยใช้แล้วกลับมาซื้อไปใช้อีก เนื่องจากไม่มีเซลล์แมนวิ่งขาย ไม่มีรถนำส่งหรือมีเครดิตให้เชื่อ การผลิตเพื่อใช้เอง จะทำให้ขบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันสามพรานฟาร์มมีแม่พันธุ์ทั้งหมด 2,500 แม่ ปีหนึ่งผลิตลูกสุกรได้ประมาณ 48,000 ตัว

             3.2 มีตลาดเป็นของตนเอง
            
ขณะนี้สุกรของสามพรานฟาร์ม ยังไม่ได้ถือว่าเป็นฟาร์มที่จำหน่ายสุกรพันธุ์โดยเฉพาะ แต่ก็มีจำหน่ายสำหรับผู้ที่สนใจ ส่วนเรื่องของเนื้อสัตว์ มีการจัดจำหน่ายโดยผ่านแผนกการตลาดของฟาร์มเอง  ส่งเข้าไปตามภัตตาคาร และร้านอาหารชั้นนำต่างๆ เป็นต้น

การเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพเกษตรให้ลูกหลาน/เกษตรกรรุ่นใหม่
            
วิธีการเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพเกษตรให้ลูกหลาน/เกษตรกรรุ่นใหม่ของคุณสุภาพ ได้แก่
            
1. ต้องมีใจรักและชอบอาชีพเกษตร เพื่อสะสมความรู้ ประสบการณ์เป็นภูมิปัญญา
            
คุณสมบัติของคนที่จะเข้ามาทำอาชีพเกษตร อันดับแรกต้อมีใจรักก่อน  ใจรักแล้วตามด้วยความชอบ พอมีความชอบแล้ว การทำงานก็จะมีความสุข พอมีความสุขแล้ว ก็จะมีความมั่นคงในอาชีพ มีรายได้ หลังจากมีรายได้แล้ว ถ้าทำไปเรื่อยๆ ก็จะสะสมความรู้ประสบการณ์กลายเป็นภูมิปัญญา ซึ่งภูมิปัญญานี้ คือมูลค่าที่ทำให้คนมีพัฒนาการขึ้นมาจากรุ่นสู่รุ่น

             2. ไม่ละทิ้งภูมิปัญญาท้องถิ่น
            
ภูมิปัญญาที่สามพรานฟาร์มใช้อยู่ ก็มีด้านสมุนไพร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมจากบรรพบุรุษที่นำมาประยุกต์ ส่วนภูมิปัญญาที่สามพรานสร้างขึ้นมานี้ก็คือเรื่องของพันธุกรรมสัตว์ ซึ่งได้สะสมความรู้ไว้ว่าวิธีการผลิตสัตว์ที่ดีและเหมาะสมกับภูมิอากาศในประเทศไทย จะต้องทำอย่างไร จัดการอย่างไร กับพันธุกรรมซึ่งจะทำให้ดำรงอยู่คู่ไปกับสามพรานฟาร์ม

แนวทางและวิธีการสร้างความเข้มแข็งให้กับอาชีพเกษตร
            
คุณสุภาพ มีแนวทางและวิธีการสร้างความเข้มแข็งให้กับอาชีพเกษตรให้กับคนใกล้ตัวที่สุด คือ ลูกน้องที่ทำงานอยู่กับคุณสุภาพ ดังนี้
            
1. ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ทำ นำไปใช้ประโยชน์แก่ตนเองได้จริง
            
การทำธุรกิจให้มีความสุข ต้องเริ่มจากคนที่ทำงานร่วมกับเรา ทำอย่างไรให้เขามีความสุขในการทำงาน ต้องชี้ให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เขาทำ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในภายภาคหน้าได้ เราก็จะแนะนำพร้อมกับให้เขาตระหนักว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ สามารถนำไปปรับใช้ได้ทั้งเรื่องการทำงาน หรือเรื่องครอบครัว เปรียบเสมือนฟาร์มเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ ฉะนั้นคนที่ทำงานผิดพลาด เราจะไม่ตำหนิหรือปรับโทษเขา แต่จะใช้การกระตุ้นโดยจิตสำนึกให้เขาเห็นว่า สิ่งที่คุณทำผิดนั้นมีต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายหรือเรื่องเวลา

             2. ขยายฐานความคิด สร้างความเข้มแข็ง สร้างอาชีพให้กับลูกน้องที่มีความพร้อม
            
คนที่เคยทำงานกับสามพรานฟาร์ม ได้เรียนรู้วิธีคิดในแบบของสามพรานฟาร์มไปแล้ว เมื่อเขาพร้อม เขาได้เป็นเจ้าของธุรกิจ เขาก็จะเชื่อมโยงกับสามพรานฟาร์มได้โดยนำหมูสามพรานฟาร์มไปเลี้ยงและสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ส่วนคนรุ่นใหม่ๆ ที่เขาชอบทางด้านนี้ เขาก็จะมาเรียนรู้เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ก็มีศิษย์รุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 กำลังถูกพัฒนาขึ้นมาทดแทนกันเรื่อยๆ

             3. สร้างคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานทดแทนคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว
            
คุณสุภาพใช้วิธีการคัดเลือกคนที่เข้ามาทำงานด้วยการใช้พนักงานประเมินผลกันเอง โดยการให้คนที่เป็นหัวหน้า หาทีมงาน หาลูกน้องของเขาเอง ซึ่งเขาจะรู้ว่าคนไหนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ต่อจากนั้นจะมีการประเมินผลในแต่ละระดับ เช่นเป็นหัวหน้าหน่วย ถ้าประเมินผลแล้วผ่านก็จะพัฒนาขึ้นไปเป็นหัวหน้าฝ่าย โดยมีคุณสุภาพเป็น “พี่เลี้ยง” คอยแนะนำอยู่ทุกขั้นตอน ซึ่งหลักคิดนี้มาจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง คือต้องอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกัน ไม่ถือตัวเงินเป็นหลัก แต่ถือเรื่องความรู้ คุณธรรม และวิชาที่นำไปใช้ประโยชน์ได้

แนวทางและวิธีการสร้างเครือข่ายของกลุ่มอาชีพเกษตร
             แนวทางและวิธีการสร้างเครือข่ายของกลุ่มอาชีพเกษตรของคุณสุภาพ มีดังนี้
            
1. พบปะ พูดคุยปัญหา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ภายในกลุ่ม
            
ปัจจุบันสามพรานฟาร์มยังไม่มีการขยายเครือข่ายการทำธุรกิจที่ยึดหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม แต่มีการพบปะ พูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหมู่ผู้เลี้ยงสุกรอย่างสม่ำเสมอ อาทิตย์ละหนึ่งครั้ง คือทุกวันโกนก่อนวันพระ ก็จะมานั่งคุยกันเรื่องของราคา สภาวะโลก หรือการแก้ปัญหาต่างๆ

             2. รวมกลุ่มสำหรับผู้ที่มีความคิดในแนวเดียวกัน
            
ในแง่ของแนวคิดที่จะสร้างเครือข่าย ถ้าเกษตรกรเข้าใจเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงแล้วก็ไม่ยากที่จะเชื่อมโยงกันได้ ถึงแม้ว่าตอนนี้ยังรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆ อยู่ก็ตาม แต่ถ้ามีการขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ คาดว่าน่าจะมีเครือข่ายที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ข้อเสนอแนะสำหรับผู้กำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อย
            
ข้อเสนอแนะสำหรับผู้กำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อยของคุณสุภาพ มีดังนี้
            
1. ให้ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องการใช้ทรัพย์สินเพื่อให้เกษตรกรมีความพร้อม เป็นอันดับแรก

             2. เสริมหนุนให้ทุกครอบครัวนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติ
            
ประการแรกต้องนำเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติให้ได้ในครอบครัวก่อน เมื่อเกิดผลในครอบครัวแล้วก็จะมีผลไปที่ตัวบุคคลในแต่ละครอบครัว หากทำได้เช่นนี้ การสร้างหนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไป หากมีการวางแผนและสามารถบริหารจัดการหนี้ที่มีอยู่ได้

บทส่งท้าย
            
การดำเนินธุรกิจฟาร์มสุกรโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่คุณสุภาพ ธีรานุวัฒน์ ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน อาจมองดูเหมือนทวนกระแสสำหรับธุรกิจการทำฟาร์มสุกรแบบการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ยึดหลัก “รวดเร็ว ง่าย ได้กำไร” เน้นเรื่องของการผลิตจำนวนมาก ใช้พื้นที่น้อย หมูโตเร็ว มองตัวเงินหรือกำไร แทนการมองถึงความคุ้มค่า ความมีเหตุผล และการใช้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นหัวใจของการทำธุรกิจแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่ยึดหลัก “ทำไปเรื่อยๆ มีกิน มีใช้ มีความสุข ส่วนกำไรคือผลพลอยได้”
            
คุณสุภาพมั่นใจในทางที่เลือกเดินว่า แนวทางแห่งเศรษฐกิจพอเพียงนี้ เป็นวิถีทางที่ถูกต้องแล้ว เพราะเราทำธุรกิจแบบเศรษฐกิจพอเพียงแล้วมีความสุข ถึงแม้จะมีหนี้สินก็มีความสุขได้ ซึ่งความสุขนี้เกิดจากการที่เรามีหนี้ แต่เป็นหนี้ที่สามารถชำระคืนได้ เมื่อเราลงทุนอย่างระมัดระวัง จึงไม่ใช่เรื่องของการขาดทุน แต่เป็นการทำให้เกิดประโยชน์ เกิดความคุ้มค่า แต่ต้องใช้เวลา ต้องไม่โลภ ไม่ทุ่มสุดตัว ซึ่งคนที่จะทำตรงนี้ได้ต้องมีใจรัก ถ้าเราทำอะไรกับสิ่งที่เรารัก เราจะทุ่มเท พอทุ่มเทลงไปมันจะเกิดผลประโยชน์ เกิดผลสำเร็จ  ถึงจะไม่มาก ได้ทีละน้อยๆ แต่ก็มีความสุข

 
คณะผู้วิจัย:
สาวิตรี รังสิภัทร์ 1 ศุภพร ไทยภักดี 2 ชัชชัย แก้วสนธิ 2
พันธ์จิตต์ พรประทานสมบัติ 2 นันทกา แสงจันทร์ 3 และกฤษณะ ภานุวาส 4
1 ภาควิชาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
2 ภาควิชาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
3 ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตร และอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
4 นักสื่อสารมวลชนอิสระ
โทร. 0-2579-1025 , 1371 หรือ 1374 (สายใน)