ราสพ์เบอรี่ : ผลไม้ต้านมะเร็งและการผลิตต้นแม่พันธุ์ที่มีคุณภาพ
Raspberry : Fruit for anti cancer and production of good quality mother plant.

        ราสพ์เบอรีถูกจัดว่าเป็นผลไม้ที่สามารถให้ผลผลิตที่รวดเร็วและค่อนข้างมาก มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรองลงมาจากสตรอเบอรีและองุ่น ในช่วงติดผลซึ่งตรงกับฤดูร้อนในต่างประเทศจะให้ผลผลิตได้ 2-3 กิโลกรัมต่อความยาวแปลง 1 เมตร และในฤดูหนาวให้ผลผลิต 0.6 กิโลกรัมต่อความยาวแปลง 1 เมตร พื้นที่การผลิตที่เป็นการค้าอยู่ในมลรัฐต่าง ๆ ของประเทศอเมริกาตะวันออกและสก็อตแลนด์ ทางใต้ของอังกฤษ ตะวันออกของแคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ชิลี และรัสเซีย รวมทั้งหลายประเทศในยุโรป มีการปลูกในลักษณะสวนหลังบ้านและผลิตเป็นการค้าเล็ก ๆ ทางเหนือของฟินแลนด์และสวีเดน นอกจากนี้ยังพบว่ามีการปลูกในประเทศเขตร้อนซึ่งมีพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลมาก ๆ มีความหนาวเย็นเพียงพอต่อความต้องการของราสพ์เบอรี

        ราสพ์เบอรีเป็นพืชอายุหลายปี (Perennial) โดยมีการขยายพันธุ์จากการใช้หน่อ (Sucker) ที่แทงขึ้นมาในแต่ละปีและติดผล (Primocane Fruiting) ต่อจากนั้นจะแห้งตายไปในหนึ่งฤดู การเขตกรรมโดยการตัดลำต้นถึงระดับพื้นดินในช่วงที่มีการฟักตัวเป็นการช่วยลดแรงงานในการตัดแต่งกิ่ง และอันตรายจากความหนาวเย็นในฤดูหนาวได้ ส่วนใหญ่พันธุ์ราสพ์เบอรีประเภทสีแดงกำเนิดมาจากสอง subspecies ประเภท diploid ได้แก่ Rubus ideaeus L. : R. ideaeus vulgatus Arrhen ราสพ์เบอรีท้องถิ่นในยุโรป โดยผลมีสีแดงเข้ม รูปกรวย มีขนติดเล็กน้อยหรือไม่มี กับ R. ideaeus strigosus (Michx) ราสพ์เบอรีท้องถิ่นในอเมริกาเหนือและเอเชียตะวันออก ผลสีแดงอ่อน รูปกลม และมีขนติดทั่วผล R. ideaeus ทั้งสอง subspecies นี้ยังคงถูกใช้เป็นพันธุกรรมสำหรับโปรแกรมการผสมพันธุ์ของราสพ์เบอรีแดงเพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้งสายพันธุ์ที่มีความต้านทานโรคต่าง ๆ ด้วย

            ราสพ์เบอรีเป็นไม้ผลขนาดเล็กที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและได้ชื่อว่าเป็นผลไม้ต้านมะเร็ง ราสพ์เบอรีอุดมด้วยกรดเอลลาจิก (Ellagic acid) ซึ่งเป็นสารประกอบฟีนอลตามธรรมชาติ ในการวิจัยทางการแพทย์ได้รับการยอมรับสูงสุดว่ามีฤทธิ์แรงที่สุดในการป้องกันมะเร็ง พบว่ากรดเอลลาจิกสามารถจับสารพิษก่อมะเร็งไม่ให้จับกับดีเอ็นเอส่งผลให้ความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลดลง ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และทำให้เซลล์มะเร็งเกิดภาวะตายตามธรรมชาติ (Apoptosis) โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติเหมือนยาเคมีบำบัด และมีฤทธิ์แรงที่สุดในการป้องกันมะเร็ง ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และอาจยับยั้งไม่ให้มะเร็งลุกลาม ราสพ์เบอรีมีกรดเอลลาจิกสูงสุดถึง 1,500 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักแห้ง 1 กรัม เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารธรรมชาติถึง 46 ชนิด รองลงมาคือสตรอเบอรี 639 ไมโครกรัม นอกจากนี้ยังมีแทนนิน ฟลาโวนอยด์ส เพคติน กรดซิตริก กรดมาลิก น้ำตาลผลไม้ วิตามินซี และเกลือแร่หลายชนิดโดยเฉพาะธาตุเหล็ก แมกนีเซียม และแคลเซียม นอกจากราสพ์เบอรีจะมีคุณค่าทางอาหารสูงโดยใช้รับประทานผลสดแบบผลไม้ทั่วไปแล้ว เป้าหมายหลักก็เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการแปรรูปเหมือนกับไม้ผลขนาดเล็กอื่น ๆ เช่นสตรอเบอรี บลูเบอรี และกีวีฟรุต เป็นต้น ซึ่งพบว่าขณะนี้ประเทศไทยมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไม้ผลขนาดเล็กเหล่านี้มากมายปีละหลายสิบล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นในรูปของแยมทาขนมปัง เครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้หรือแอลกอฮอล์ ส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพประเภทนมต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งเป็นส่วนประกอบเพื่อให้สีและกลิ่นในขนมหวานหลากหลายชนิดที่วางจำหน่ายในปัจจุบัน

          ราสพ์เบอพันธุ์ที่นำเข้ามาปลูกทดสอบในพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวงมีการเจริญเติบโตที่ดีพอสมควร คุณภาพผลผลิตอยู่ในขั้นที่ดีและมีน้ำหนักเฉลี่ย 348 กรัมต่อ 100 ผล ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ได้ทางมูลนิธิโครงการหลวงได้มีการจัดส่งผลราสพ์เบอรีไปจำหน่ายในลักษณะผลสดโดยผ่านฝ่ายตลาดเป็นการทดสอบผู้บริโภคในราคากิโลกรัมละ 80-100 บาท คาดว่าเป็นไม้ผลขนาดเล็กที่มีศักยภาพและส่งเสริมผลิตเป็นการค้าภายในประเทศต่อไปได้

          การปลูกราสพ์เบอรีมักพบโรคที่ทำให้ผลผลิตเสียหายได้แก่ Virus, Spur blight, Cane spot, Cane blight, Grey Mould, Iron deficiency จึงจำเป็นต้องใช้ต้นแม่พันธุ์ในการปลูกครั้งแรกที่มีความแข็งแรง โดยพบว่าอาจสามารถอยู่ให้ผลผลิตได้ถึง 12 ปีถ้าหากใช้ต้นแม่พันธุ์ที่ปลอดโรคไวรัส

          ใช้ราสพ์เบอรีพันธุ์ Amity ในการทดลองวิจัย เปรียบเทียบวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยใช้ส่วนที่ตัดจาก Meristem และส่วนที่ใช้ตาข้างและยอดเลี้ยงโดยไม่ตัด Meristem

วิธีการ

  1. นำตาหรือยอดของราสพ์เบอรี่ล้างด้วยน้ำกลั่นที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว นำมาตัดเป็นท่อน แล้วแช่ในแอลกอฮอล์ 95% ระยะเวลา 1-2 นาที
  2. ตัดใบออกและล้างน้ำกลั่น 1 ครั้ง นำตาหรือยอดแช่ใน Clorox 10% เขย่า 15 นาที
  3. นำชิ้นส่วนที่แช่ออกจาก Clorox 10% แล้วนำมาแช่เมอคิวลิคคลอไลด์ (HgCL2)1% ระยะเวลา 5 นาที แล้วล้างด้วยน้ำกลั่น 3 ครั้ง ๆ ละ 5 นาที
  4. ทำการตัด Meristem ในตู้ปลอดเชื้อ โดยตัดให้ถึงเนื้อเยื่อเจริญที่เป็นวุ้นด้านใน
  5. เลี้ยงเนื้อเยื่อในอาหารสังเคราะห์วิทยาศาสตร์สูตร M.S.(Murashige & skoog,1962) Free Hormone เพื่อชักนำ ให้เกิดยอด นำเนื้อเยื่อราสพ์เบอรี่วางในชั้นโดยให้แสงจากหลอดนีออนวันละ 8-10 ชั่วโมง อุณหภูมิไม่เกิน 30 oC ต้นเนื้อเยื่อเริ่มแตกใบอ่อนใช้เวลา 45-60 วัน
  6. กระตุ้นให้เกิดการแตกกอ เปลี่ยนอาหารโดยใช้อาหารสูตรขยายปริมาณ MS+BA 0.1 ppm/l โดยการ sub culture ต้นจะเกิดการแตกกอจากบริเวณโคนต้นใช้เวลา 45 วัน
  7. ทำการแยกกอและเปลี่ยนอาหารโดยใช้อาหารสูตรขยายปริมาณ M.S. Free Hormone ชักนำให้เกิดราก ระยะเวลาการเกิดราก 60 วัน
  8. เมื่อต้นแข็งแรง ย้ายออกจากขวด ลักษณะการย้ายเหมือนสตรอเบอรี่ คลุมถุงพลาสติกไว้ 7-10 วัน และเปิดถุงออกลี้ยงในตะกร้าเพาะกล้า 1 เดือน แล้วจึงย้ายลงเลี้ยงในถาดหลุม 1 เดือน หลังจากนั้นย้ายลงกระถางอีก 1 เดือน จึงลงปลูกในแปลง

        จากการเปรียบเทียบวิธีการเลี้ยงเบื้องต้น ส่วนที่ตัดจาก Meristem จะเจริญช้าแต่ไม่มีเชื้อราและแบคทีเรียปนเปื้อน ส่วนที่ใช้ตาข้างและยอดเลี้ยงโดยไม่ตัด Meristem จะมีเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อสูงมาก

        ปลูกทดสอบในแปลงทดลองสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ (หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง) เปรียบเทียบกับต้น Sucker ตัดแต่งกิ่ง และเก็บข้อมูลด้านการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต สังเกตอาการผิดปกติในแปลงทดสอบจนสิ้นสุดการทดลอง



 
คณะผู้วิจัย:
เบ็ญจารัชด ทองยืน1, ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์1, วิสิฐ กิจสมพร2, สมศักดิ์ รุ่งอรุณ2 และ พรประเสริฐ ธรรมอินทร์3
หน่วยงาน : 1ศูนย์วิจัยระบบนิเวศเกษตร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร โทร.02-5795556
2สถานีวิจัยดอยปุย สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร โทร. 053-211142
3สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ (หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง) มูลนิธิโครงการหลวง เชียงใหม่ โทร. 089-5544093