การศึกษาระบบนิเวศเกษตรการผลิตเคฟกูสเบอรี่และสตรอเบอรี่ดอยในสภาพโรงเรือน
Studies on Agro-Ecology of Cape gooseberry and Wild strawberry under plastic house.

        เคฟกูสเบอรี่ หรือ Cape gooseberry มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Physalis peruviana L. มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศบราซิล เป็นพืชอยู่ใน Genus Physalis และ Family Solanaceae พวกตระกูลเดียวกับพริก มะเขือ และมะเขือเทศ โดยพบมากกว่า 70 ชนิด (species) มีทั้งอายุปีเดียวและหลายปี แต่มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่มีคุณค่าทางด้านเศรษฐกิจ แต่มีชนิดหนึ่งที่ให้ผลผลิตที่มีรสชาติที่วิเศษ และได้กลายเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั่วโลกคือ เคฟกูสเบอรี่ สำหรับในประเทศไทยนั้นเคยมีการเรียก เคฟกูสเบอรี่ ว่า “โทงเทงฝรั่ง” ช่วงระยะแรกที่นำเข้ามาทดลองปลูกเป็นพืชทดแทนฝิ่นทางภาคเหนือของมูลนิธิโครงการหลวง เพราะมีลักษณะนิสัยเหมือนกับต้นโทงเทง (P. minima L. และ P. angulata L.) ที่ขึ้นอยู่ทั่วไปในบ้านเราและจัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง แต่ต่อมาได้มีการเรียกชื่อใหม่เพื่อผลลัพธ์ทางด้านการตลาดคือ “ระฆังทอง : Golden Bell” และได้กลายเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคอยู่ในขณะนี้ เคฟกูสเบอรี่ผลขนาดเล็ก มีรสเปรี้ยวอมหวาน ให้คุณค่าวิตามิน C นิยมรับประทานผลสด เช่น ชุบช็อกโกแลต สลัด ใช้เป็นส่วนประกอบของขนมต่าง ๆ ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นแยมผลไม้

         พันธุ์ Giallo Grosso มีผลขนาดใหญ่สีทองใช้รับประทานสดหรือการแปรรูปหลังจากสุกแล้ว ปลูกในพื้นที่สภาพอากาศหนาวเย็นปานกลาง และเป็นพืชอายุหลายปี

        พันธุ์ Giant ผลขนาดใหญ่ สีส้มทอง ผลมีขนาดเฉลี่ยเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว รสชาติดี ต้นแผ่กว้างและสูง 3-5 ฟุต ต้องการช่วงการเจริญเติบโตที่ยาวนาน

         พันธุ์ Giant Poha Berry ผลมีขนาดเฉลี่ยเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 นิ้ว รสชาติหวานและหอม รสชาติและสีของน้ำผลไม้เหมือนน้ำส้ม ผลที่แห้งวางบนฟรุตเค้กเหมือนลูกเกด เรียกได้ว่าทนน้ำค้างแข็งได้เล็กน้อยเหมือนมะเขือเทศ ขณะที่ชนิดหรือพันธุ์อื่นจะตาย ในสภาพพื้นที่ที่หนาวกว่าจะใช้เวลาครึ่งถึงหนึ่งปีจากการปลูกด้วยเมล็ดจนกระทั่งให้ผลผลิตที่ดี

         พันธุ์ Golden Berry, Long Aston ผลสีทองจัด และเรียกได้ว่าเด่นกว่าพันธุ์อื่น ๆ

         ด้านคุณค่าทางอาหารของเคพกูสเบอรี่ พบว่าเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยแหล่งของวิตามินซี เปปตินและวิตามินเอที่สูงมาก

ตารางที่ 1 คุณค่าทางอาหารของเคฟกูสเบอรี่ต่อส่วนที่รับประทานได้น้ำหนัก 100 กรัม

         สตรอเบอรี่ดอย (Common name; Wild strawberry, Mountain strawberry, Hillside strawberry) สตรอเบอรี่ที่เป็นพันธุ์พื้นเมืองหรือพันธุ์ป่า (Wild varieties) นั้น เป็นสายพันธุ์ที่ถูกพบโดยทั่วไปในตอนกลางและทางใต้ของอเมริกา ทางเหนือและตอนกลางของยุโรป ตลอดจนในแถบเอเซียพบว่าอยู่กระจายทั่วไปในเขตไซบีเรีย อัลมาเนีย และทางเหนือของซีเรีย ได้มีการนำสายพันธุ์เหล่านี้มาผสมกันเพื่อให้เกิดสตรอเบอรี่พันธุ์ใหม่ในศตวรรษที่ 18 ดังนั้นการปลูกพันธุ์พื้นเมืองจึงเพิ่มขึ้นเพื่อจุดประสงค์ใช้ในการผสมพันธุ์เพียงอย่างเดียวตั้งอดีตเรื่อยมา เนื่องจากมีความต้านทานต่อโรคพืชหลายชนิดและสามารถถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมเหล่านี้ไปยังพันธุ์ลูกผสมที่เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ดีภายใต้สถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของโลกในยุคปัจจุบันนี้ ทำให้ทัศนคติและความนิยมของการบริโภคสินค้าเกษตรเพื่อบำรุงรักษาสุขภาพของมนุษย์ยุคใหม่เป็นสิ่งสำคัญอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ มีการแสวงหาและเพาะปลูกพืชพันธุ์หลากหลายชนิดที่สามารถให้สารที่เป็นประโยชน์และมีสรรพคุณในป้องกัน กำจัด หรือยับยั้งโรคภัยไข้เจ็บต่างๆเพิ่มมากขึ้นโดยอาศัยการศึกษาจากฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์และรายงานการค้นพบหรือคำบอกเล่าจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งในบรรดาพืชพันธุ์เหล่านี้ก็รวมทั้งสตรอเบอรี่สายพันธุ์ดั้งเดิมดังกล่าวข้างต้นด้วย สำหรับในประเทศไทยนั้นทางมูลนิธิโครงการหลวงก็ได้มีการปลูกสตรอเบอรี่สายพันธุ์ดังกล่าวบนพื้นที่ที่สูงมากกว่า 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลมาหลายสิบปีแล้ว แต่ถือว่าได้เริ่มมีการส่งเสริมและจำหน่ายเป็นการค้าอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ฤดูกาลผลิตในปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา โดยใช้ชื่อขณะนี้ว่า สตรอเบอรี่ดอย

คุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ของสตรอเบอรี่ดอย

          ในทางการแพทย์จากอดีตนั้นพบว่าส่วนต่างๆของสตรอเบอรี่ดอย (Wild Strawberry) ทั้งประเภท F. vesca หรือ F. virginiana สามารถใช้เป็นประโยชน์ในการป้องกันรักษาโรคต่างๆได้ เช่น รากที่มีความฝาดในรักษาอาการท้องร่วง และใบแปรรูปเป็นชาชงดื่มรักษาโรคบิด เป็นต้น

        จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยในปัจจุบันรายงานว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด 8 ปีที่ผ่านมา คาดว่าในปี พ.ศ. 2551 จะมีผู้ป่วยจากโรคมะเร็งมากถึง 120,000 ราย และพบว่ามีผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลงกว่า 40 ปีในปริมาณที่สูงขึ้น การรับประทานผักและผลไม้สดรวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผักและผลไม้ พบว่ามีผลต่อการต้านทานของโรคเรื้อรังบางชนิดได้เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคมะเร็งบางชนิด จากผลของการค้นพบในทางการแพทย์ยุคปัจจุบันนี้ นับว่าการค้นพบสารที่ต้านออกซิเจนไปรวมตัวกับสารอื่นแล้วทำลายตัวมันเองหรือเรียกว่า สาร Antioxidants นั้นเป็นการค้นพบที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าสารขจัดอนุมูลอิสระพวกนี้จะเป็นสารที่ทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงทำให้คนเราไม่เกิดความเจ็บป่วยได้ง่าย มีผลกระทบให้ระบบภายในของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น อันเป็นการเสริมสร้างชีวิตให้มีคุณภาพและพลังกายให้เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ผลสตรอเบอรี่สดถูกพบว่าเป็นแหล่งธรรมชาติที่ดีของสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ซึ่งประกอบไปด้วยวิตามินซี สาร anthocyanins, flavonoids และ phenolic acids ในปริมาณที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับผลไม้ชนิดอื่นๆ มีรายงานการวิจัยที่พบว่า anthocyanins สามารถลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งประเภท HT-29 และ HCT-116 ในคนเราได้ และหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกได้อย่างชัดเจน โดยทั่วไประดับและปริมาณของสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่สกัดได้จากผลสตรอเบอรี่จะผันแปรไปตามประเภทของสายพันธุ์ ซึ่งปรากฏจากความเป็นจริงของผลการวิจัยว่า สตรอเบอรี่พันธุ์ลูกผสม (F. x ananassa Duch.) ที่ได้จากการผสมพันธุ์ใหม่ๆ โดยผู้บริโภคนิยมและผลิตเป็นการค้าทั่วโลก จะมีปริมาณสารต่อต้านอนุมูลอิสระน้อยกว่าสตรอเบอรี่พันธุ์ดั้งเดิมหรือสตรอเบอรี่ดอย (wild strawberry) อย่างชัดเจน นอกจากนี้สตรอเบอรี่ลูกผสมเช่นพันธุ์ “Allstar” ก็ยังพบว่ามีปริมาณของสารต่อต้านอนุมูลอิสระน้อยกว่าพันธุ์ “Ovation” ทั้งๆที่เป็นพันธุ์ลูกผสมประเภทเดียวกัน

          การวิจัยที่เป็นข้อมูลสำคัญและใหม่ล่าสุดโดย Wang และ Lewer ในปี 2007 และ Wang กับคณะในปีเดียวกันที่ห้องทดลองทางด้านไม้ผลของ U.S. Department of Agricultureได้ค้นพบว่า สารสกัดจากผลสตรอเบอรี่สดพันธุ์ดั้งเดิมประเภท F. virginiana สามารถหยุดยั้งการขยายตัวของเยื่อบุเซลล์มะเร็งปอด (A549) ของมนุษย์ได้มากถึง 34 % ซึ่งมากกว่าสารสกัดจากผลสตรอเบอรี่สายพันธุ์พื้นเมือง (F. chiloensis ) และพันธุ์ลูกผสมที่เกิดขึ้นใหม่ (F. x ananassa Duch.) ที่สามารถหยุดยั้งได้เพียง 26 และ 25 % ตามลำดับ (นัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ P < 0.0001) นอกจากนี้ยังรายงานว่าสารสกัดจากผลสตรอเบอรี่ของ F. virginiana มีกิจกรรมของเอ็นไซม์ของสารต่อต้านอนุมูลอิสระมากกว่าในส่วนของสตรอเบอรี่ทั้งสองประเภทข้างต้นที่นำมาเปรียบเทียบกันอย่างมีนัยสำคัญ

การปลูกและดูแลรักษาสตรอเบอรี่ดอย
          ในประเทศไทยสตรอเบอรี่ดอยสามารถปลูกได้ในหลายระบบ แต่ควรอยู่ภายใต้สภาพโรงเรือนหลังคาพลาสติกใสเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพและหลีกเลี่ยงความเสียหายอันเนื่องมาจากการแปรปรวนของสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ระบบการปลูกดังกล่าวได้แก่ แบบยกร่องสูงเหมือนการปลูกสตรอเบอรี่โดยทั่วไปซึ่งต้องใช้วัสดุคลุมแปลงเพื่อไม่ให้ผลผลิตเสียหาย ป้องกันวัชพืช และช่วยรักษาความชื้นในดิน แบบที่สองเป็นการปลูกในภาชนะที่เป็นถุงหรือกระถางพลาสติกวางเรียงเป็นแถวยาว และแบบสุดท้ายปลูกตามยาวภายในรางไม้ไผ่หรือท่อพลาสติก PVC ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 – 10 นิ้วผ่าครึ่ง ยกสูงจากพื้นดินวางเรียงเป็นชั้นๆ เพื่อความสะดวกในการเก็บเกี่ยวผลผลิต


 

 

 

 
คณะผู้วิจัย:
เวช เต๋จ๊ะ1, ณรงค์ชัย พิพฒน์ธนวงศ์2 , ภูเบศวร์ เมืองมูล3, ิคม วงศ์นันตา3 และเบ็ญจารัชด ทองยืน2
Wet Techa1, Narongchai Pipattanawong2,Poobet Muangmoon3, Nikhom Wongnunta3
and Benjarach Thongyuen2
หน่วยงาน : 1สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร โทร. 081-8858615
2ศูนย์วิจัยระบบนิเวศเกษตร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร โทร.02-5798781
3ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ มูลนิธิโครงการหลวง เชียงใหม่