การพัฒนาการขยายพันธุ์โดยการปักชำกิ่งเนื้อแข็งของมะเดื่อฝรั่ง (Ficus carica L.)
ด้วยการใช้และไม่ใช้กระโจมพลาสติก
Improvement of Propagation by Hardwood Cuttings with or without
Plastic Pavilions using in Fig (Ficus carica L.)

          มะเดื่อฝรั่ง หรือ Fig มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ficus carica L. อยู่ในวงศ์ Moraceae มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันตก มีการปลูกมะเดื่อฝรั่งมานับพันปีในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำเมดิเตอร์เรเนียนของยุโรปและแอฟริกาเหนือ (Manago, 2006) ปัจจุบันการปลูกมะเดื่อฝรั่งได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในประเทศสเปน ตุรกี และอิตาลี บางพันธุ์สามารถปลูกได้ในแคลิฟอร์เนียทางใต้และพื้นที่แห้งแล้งของอเมริกา มะเดื่อฝรั่งเป็นแหล่งที่ดีของเส้นใยอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อขบวนการกำจัดของเสียของร่างกาย ในผลสดมีปริมาณเส้นใยอาหาร 1.2 % ส่วนในผลอบแห้งสูงถึง 5.6% กล่าวได้ว่ามะเดื่อฝรั่งเป็นผลไม้ที่น่าสนใจมากในแง่ของอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง (Bolin and King, Jr., 1980)

         ในประเทศไทย มูลนิธิโครงการหลวงมีการศึกษาวิจัยมะเดื่อฝรั่งมานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยมีจุดประสงค์ที่มุ่งเน้นการปลูกพืชที่สร้างรายได้ให้กับชาวไทยภูเขาทดแทนฝิ่น (Punsri and Thongtham, 1983) กระทั่งปัจจุบันการศึกษาวิจัยได้ทำการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา กายวิภาควิทยา และการเจริญเติบโตของมะเดื่อฝรั่งบางสายพันธุ์ โดยเน้นไปที่การปรับตัวและการให้ผลผลิตในสภาพพื้นที่สูง แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาที่เน้นในเรื่องวิธีการขยายพันธุ์โดยการปักชำกิ่งเนื้อแข็งเพื่อให้ได้ผลดีที่สุดในการเพิ่มจำนวนต้นมะเดื่อฝรั่ง เนื่องจากทุกวันนี้ผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคมะเดื่อฝรั่งอบแห้งเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะเห็นได้จากการนำเข้ามะเดื่อฝรั่งอบแห้งจากอเมริกา, ตุรกี และประเทศอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่ามะเดื่อฝรั่งอบแห้งจะมีผลผลิตตลอดทั้งปี แต่ก็ไม่เหมือนมะเดื่อฝรั่งสดซึ่งมีรสชาติเฉพาะตัวและเนื้อของผลที่ไม่เหมือนผลไม้ชนิดอื่น ในเขตร้อนโดยทั่วไปมะเดื่อฝรั่งสามารถเจริญเติบโตได้ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800 ถึง 1,800 เมตร (Morton, 1987) และทนต่อน้ำค้างแข็งที่อุณหภูมิต่ำถึง – 8 ?C (Samson, 1986) อย่างไรก็ตามต้นมะเดื่อฝรั่งก็ชะงักการเจริญเติบโตเมื่ออยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำเช่นเดียวกับไม้ผลในเขตกึ่งร้อนชนิดอื่น ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาในการปักชำกิ่งเนื้อแข็งของมะเดื่อฝรั่งบนพื้นที่สูงในเขตร้อน รวมทั้งพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยซึ่งมีสภาพอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี ยิ่งกว่านั้นยังไม่มีการกล่าวถึงอิทธิพลของกระโจมพลาสติกต่อการเพิ่มจำนวนของต้นมะเดื่อฝรั่งให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ภายใต้สถานการณ์ความต้องการด้านการตลาดของผลมะเดื่อฝรั่งสดในปัจจุบัน นำมาสู่การศึกษาวิจัยนี้ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการขยายพันธุ์โดยการปักชำกิ่งเนื้อแข็งของมะเดื่อฝรั่งด้วยการใช้และไม่ใช้กระโจมพลาสติกเพื่อส่งเสริมให้แก่เกษตรกรชาวไทยภูเขาในเขตพื้นที่สูงฃ

          การศึกษาการพัฒนาวิธีการขยายพันธุ์โดยการปักชำกิ่งของมะเดื่อฝรั่ง (Ficus carica L.) ด้วยการใช้และไม่ใช้กระโจมพลาสติกที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ (หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง) เป็นการทดลองที่ 1 และสถานีเกษตรหลวงปางดะเป็นการทดลองที่ 2 ทั้งสองสถานีอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ มีความสูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเลเท่ากับ 1,300 และ 720 เมตรตามลำดับ จากการทดลองที่ 1 กิ่งปักชำขนาด 1.4 – 1.6 และ 1.8 – 2.0 เซนติเมตรเปรียบเทียบกับกิ่งปักชำขนาด 0.6-0.8 และ 1.0-1.2 เซนติเมตร สามารถที่จะเพิ่มการเจริญของตาและราก จากการชี้วัดของจำนวนตาและรากที่แตกออกมาในพันธุ์ “Brown Turkey” ในการทดลองที่ 2 พันธุ์ “Brown Turkey” เป็นพันธุ์ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดจากการศึกษาโดยการใช้กระโจมพลาสติก ตามมาด้วย “Dauphine” และ “Lisa” การเปรียบเทียบการใช้และไม่ใช้กระโจมพลาสติกระหว่างสายพันธุ์คาดได้ว่ากิ่งปักชำในกระโจมพลาสติกเพิ่มจำนวนของการเกิดตาและรากได้เร็วกว่ากิ่งปักชำที่ไม่ใช้กระโจมพลาสติก

        ผลการทดลองชี้ให้เห็นว่า การใช้กระโจมพลาสติกเพิ่มอุณหภูมิที่จะไปกระตุ้นการเกิดแคลลัสของตาและรากได้เร็วขึ้นในการขยายพันธุ์มะเดื่อฝรั่งจากการปักชำในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศเย็น เช่น สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์

        การทดลองที่ 1 กิ่งปักชำเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.4 – 1.6 และ 1.8 – 2.0 ซม. มีการเจริญของตาและรากเพิ่มขึ้นบางส่วนอาจเนื่องมาจากขนาดของกิ่งปักชำ โดยชี้วัดจากจำนวนการเกิดตาและรากในพันธุ์ “Brown Turkey” นอกจากนี้ผลของการใช้กระโจมพลาสติกทำให้กิ่งปักชำเกิดตาภายใน 10 วันหลังการปักชำ และเกิดตาและรากมากขึ้นเมื่อปักชำ 30 วัน เมื่อเปรียบเทียบกับกิ่งปักชำที่ไม่ใช้กระโจมพลาสติก สำหรับกิ่งแก่เนื้อแข็งอายุ 1 ปี ของมะเดื่อฝรั่งพันธุ์ “Bursa Siyahi” Sefero?lu และ Tekintas (1997) พบว่าการเกิดแคลลัสของท่อน้ำและอาหารจะใช้เวลาอย่างน้อย 20 วันหลังการปลูก และแคลลัสจะพัฒนาเป็นตาและใบใช้เวลา 40 วันหลังการปลูก การลดลงของความชื้นจะมีผลเสียต่อจำนวนรากและความยาวราก (Tekintas and Sefero?lu, 1997) จากข้อมูลอุณหภูมิอากาศในตารางที่ 4 ผลการทดลองชี้ให้เห็นว่า การใช้กระโจมพลาสติกเพิ่มอุณหภูมิที่จะไปกระตุ้นการเกิดแคลลัสของตาและรากได้เร็วขึ้นในการขยายพันธุ์มะเดื่อฝรั่งโดยการปักชำในพื้นที่สูงที่มีสภาพอากาศเย็นตลอดทั้งปี

        การทดลองที่ 2 การศึกษาวิธีการขยายพันธุ์โดยการปักชำกิ่งของมะเดื่อฝรั่งเปรียบเทียบการใช้และไม่ใช้กระโจมพลาสติกระหว่างสายพันธุ์ ผลการทดลองที่ได้ช่วยเพิ่มทางเลือกในการหาวิธีที่ดีในการขยายพันธุ์มะเดื่อฝรั่ง ระหว่าง 3 สายพันธุ์ “Brown Turkey” เป็นพันธุ์ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดจากการศึกษาโดยการใช้กระโจมพลาสติก ตามมาด้วย “Dauphine” และ “Lisa” Morton (1987) รายงานว่าพันธุ์ “Brown Turkey” สามารถปรับตัวได้ดีและปลูกกันมากที่สุดในเขตอบอุ่น (RHS, 1986) ได้มีรายงานว่าการปักชำกิ่งแก่อายุ 1 ปี ของมะเดื่อฝรั่งทั้ง 3 สายพันธุ์ที่ปลูกในวัสดุปลุกที่มี perlite เป็นส่วนประกอบหลัก แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลต่างกันเนื่องมาจากสายพันธุ์และช่วงระยะเวลาด้วย (Karaden?z, 2001) อย่างไรก็ตามในการทดลองนี้หลังจากปักชำ 2 สัปดาห์ กิ่งปักชำมีการแตกตาเกิดขึ้นเท่านั้น ส่วนรากจะเกิดหลังจากปักชำไปแล้ว 4 สัปดาห์ ผลการทดลองชี้ให้เห็นว่า การใช้กระโจมพลาสติกกระตุ้นการเกิดแคลลัสของตาและรากได้เร็วขึ้น เปรียบเทียบการใช้และไม่ใช้กระโจมพลาสติกระหว่างสายพันธุ์คาดได้ว่ากิ่งปักชำในกระโจมพลาสติกเพิ่มจำนวนของการเกิดตาและรากได้เร็วกว่ากิ่งปักชำที่ไม่ใช้กระโจมพลาสติก

 

        

 
คณะผู้วิจัย:
ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์1 สาวิตรี ทิวงศ์2 เบ็ญจารัชด ทองยืน1 รุ่งทิวา ดารักษ์2
พรประเสริฐ ธรรมอินทร์2 และ เวช เต๋จ๊ะ3
หน่วยงาน : 1 ศูนย์วิจัยระบบนิเวศเกษตร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร โทร.02-5798781
2มูลนิธิโครงการหลวง เชียงใหม่
3 สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร โทร. 081-8858615