|
การหาตำแหน่ง QTL ที่ต้านทานโรคราน้ำค้างในข้าวโพด
QTL Mapping for Downy mildew (Peronosclerospora sorghi) Resistance in Maize
|
|
โรคราน้ำค้าง (downy mildew disease) เกิดจากเชื้อรา Peronosclerospora sorghi (Weston & Uppal)C.G. Shaw เป็นโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของข้าวโพดในประเทศไทย การศึกษาพันธุศาสตร์โมเลกุลของโรคราน้ำค้างจะช่วยในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดให้ต้านทานโรคราน้ำค้างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น วัตถุประสงค์ของการทดลองนี้ต้องการทราบจำนวนและตำแหน่งของ quantitative trait loci (QTL) ที่ต้านทานโรคราน้ำค้าง ทราบชนิดการแสดงออกของยีนที่ต้านทาน การทดลองใช้ประชากร F2:3 จำนวน 251 สายพันธุ์ซึ่งได้จากการผสมระหว่างสายพันธุ์อินเบรดที่ต้านทาน Nei9008 กับ สายพันธุ์อินเบรดที่ไม่ต้านทาน CML289 ได้ศึกษาข้อมูลด้านพันธุศาสตร์โดยใช้เทคนิค simple sequence repeat (SSR) ร่วมกับข้อมูลด้านความต้านทานโรคในแปลงทดสอบโรค โดยวางแผนการทดลองแบบ Triple Lattice ใน 3 สภาพแวดล้อม พบว่าความสามารถในการถ่ายทอดทางพันธุกรรม (heritability) มีค่า 94 % ผลการวิเคราะห์หา QTLs ที่ต้านทานโรคราน้ำค้างโดยใช้โปรแกรม QTL Cartographer พบจำนวน QTLs ที่ต้านทานโรคราน้ำค้าง 9 QTLs โดยอยู่บนโครโมโซมที่ 2 จำนวน 1 QTL บนโครโมโซมที่ 3 จำนวน 1 QTLs บนโครโมโซมที่ 4 จำนวน 1 QTLs บนโครโมโซมที่ 5 จำนวน 3 QTLs บนโครโมโซมที่ 6 จำนวน 1 QTLs และบนโครโมโซมที่ 9 จำนวน 2 QTLs อัลลีลที่ต้านทานโรคราน้ำค้างของแต่ละ QTL ถ่ายทอดมาจากพันธุ์ต้านทาน Nei9008 ยกเว้น QTLบนโครโมโซมที่ 5.07 อัลลีลที่ต้านทานโรคราน้ำค้างถ่ายทอดมาจากพันธุ์อ่อนแอ CML289 ผลการทดลองจากงานวิจัยนี้สามารถนำ SSR markers ที่อยู่ใกล้ชิดกับ QTLs ที่มีอิทธิพลมากและแสดงออกอย่างสม่ำเสมอในทุกสภาพแวดล้อม คือ umc1736 บนโครโมโซมที่ 2.09 bnlg1902 บนโครโมโซมที่ 5.03 และ bnlg1867บนโครโมโซมที่ 6.01 ไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดให้ต้านทานโรคราน้ำค้างได้โดยวิธี marker-assisted selection |
|
คณะผู้วิจัย:
นางชบา จำปาทอง นายสรรเสริญ จำปาทอง นายฉัตรพงศ์ บาลลา
นายพิเชษฐ์ กรุดลอยมา นายชูศักดิ์ จอมพุก นางสาวณัฏฐินี
โปรดเมธี
สถานีวิจัยพืชไร่สุวรรณวาจกกสิกิจ
สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ต. กลางดง อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา 30320
โทร: 044 361770-4 E-mail: snjpt@loxinfo.co.th |