สวนรวบรวมพันธุ์ไผ่
Bamboos Living Collection

         ไผ่ ( Bamboo ) เป็นทรัพยากรจากป่าที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์มากที่สุดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ไผ่เป็นพืชโตเร็วที่มีรอบการตัดฟันสั้นที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับไม้โตเร็วชนิดอื่น ที่ใช้เป็นไม้ปลูกป่าในประเทศไทย นอกจากนี้ไผ่ยังเป็นไม้อเนกประสงค์ที่ทุกส่วนของไผ่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด เช่นหน่อไผ่ใช้ในการบริโภค ตัวอย่างได้แก่หน่อไผ่ตง ไผ่รวก ไผ่ไร่ ไผ่หมาจู๋ ไผ่ลุ่ยจู๋ และไผ่มันหมู เป็นต้น เหง้าไผ่ ( rhizome ) ใช้ทำเครื่องประดับตกแต่งบ้าน ใบไผ่บางชนิดใช้ห่ออาหาร ลำไม้ไผ่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง เช่น ทำเครื่องจักสาน ก่อสร้าง ไม้ค้ำยัน เครื่องดนตรี ทำเยื่อกระดาษ ไม้อัด และการผลิตถ่านจากไผ่ในรูปของ bamboo activated charcoal นอกจากนี้ ส่วนต่าง ๆ ของไผ่สามารถทำเป็นยารักษาโรคได้ ตัวอย่างเช่น ใบใช้ปรุงเป็นยาขับระดู ยอดไผ่สามารถทำเป็นยาขับปัสสาวะ รากใช้เป็นยาแก้ไตพิการและเป็นยาขับ เป็นต้น สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การปลูกไผ่เป็นการช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับสู่ความอุดมสมบูรณ์ ช่วยฟื้นฟูสภาพดิน นอกจากนี้ป่าไผ่ยังมีความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตหลากหลายในพื้นที่ เช่น การดำรงชีวิตของปลวก การสร้างสวนเห็ดราในพื้นที่ป่าไผ่ การเกิดของเห็ดที่รับประทานได้มีราคาแพง เช่น เห็ดโคน รวมถึงการสร้างสมดุลของระบบนิเวศให้กลับคืนสู่ประเทศไทยที่ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าลดน้อยถอยลงอย่างต่อเนื่องทุกปี

         สถานีวิจัยกาญจนบุรี หมู่ 9 ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ตระหนักถึงความสำคัญของไผ่ซึ่งจังหวัดกาญจนบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งในอดีตที่มีป่าไผ่อันอุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันเหลือพื้นที่ป่าไผ่น้อยลงมากเนื่องจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และการตายของป่าไผ่ในธรรมชาติเนื่องจากการออกดอก สถานีฯ
จึงได้รวบรวมพันธุ์ไผ่นานาชนิดจากแหล่งต่าง ๆ ของประเทศไทยเพื่อศึกษาลักษณะการเจริญเติบโต การให้ผลผลิตของหน่อสดและลำไม้ที่นำไปใช้ประโยชน์ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้จะเป็นพื้นฐานในการส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูกไผ่ในเขตภาคตะวันตกของประเทศไทยต่อไป

        ไผ่เป็นทรัพยากรป่าไม้ที่มนุษย์รู้จักนำมาใช้ประโยชน์มากกลุ่มหนึ่งมาตั้งแต่อดีตกาลโดยเฉพาะคนในชนบท จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ไม้ซุงของคนจน (The Poor Man‘s Timber)” (Sharma, 1985 อ้างโดย สงคราม, 2532) ไผ่จัดเป็นพืชโตเร็ว (Fast-growing plant) ที่มีรอบตัดฟัน (Harvest Rotation) ที่สั้นที่สุดเมื่อเทียบกับไม้โตเร็วชนิดอื่นที่ปลูกสร้างเป็นสวนป่าและใช้ประโยชน์กันอยู่ในเมืองไทย นอกจากนี้ไผ่ยัง จัดเป็นไม้เอนกประสงค์ (Multi-purpose species) ทุกส่วนของไผ่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ประโยชน์ทางตรง อาทิเช่น หน่อไผ่ใช้ในการบริโภคได้มากกว่า 25 ชนิด ที่นิยมและแพร่หลายในประเทศไทย เช่น ไผ่ตง ( Dendrocalamus asper ) ไผ่ไร่ ( Gigantochloa albociliata) ไผ่รวก (Thyrsostachys siamensis) ไผ่หมาจู๋ (D. latiflorus) และ ไผ่ลุ่ยจู๋ ( Bambusa oldhamii Munro.) เป็นต้น
หน่อไม้ไผ่เป็นอาหารสำคัญที่นอกจากจะใช้บริโภคภายในประเทศแล้ว ส่วนหนึ่งได้มีการส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศในรูปของผลิตภัณฑ์ต่างๆเช่น หน่อไม้อัดปีบ หน่อไม้แห้ง หน่อไม้สดแช่แข็ง หน่อไม้อัดกระป๋อง เป็นต้น ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์หน่อไม้ดังกล่าวมีแนวโน้มที่สูงขึ้นทุกปี เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศสูง และการผลิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ปัจจุบันมีการปลูกสวนไผ่ตงเพื่อการผลิตหน่อไม้สดส่งโรงงานในเขตจังหวัดกาญจนบุรีและปราจีนบุรี และได้มีการนำพันธุ์ไผ่ลุ่ยจู๋และหมาจู๋ ซึ่งเป็นไผ่จากประเทศไต้หวันที่ใช้บริโภคหน่อสดเข้ามาทดสอบปลูกในเขตจังหวัดปราจีนบุรีและกาญจนบุรี พบว่าสามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดี โดยเฉพาะไผ่พันธุ์ลุ่ยจู๋ให้หน่อที่มีรสชาติหวานมาก เนื้อละเอียด กรอบ มีเสี้ยนน้อย (นิศารัตน์และคณะ, 2540) เหง้าไผ่ (rhizome) ใช้ทำเครื่องประดับตกแต่งบ้าน ใบของไผ่บางชนิดใช้ห่ออาหาร เช่นขนมบ๊ะจ่าง ลำไม้ไผ่ใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางมาก เช่น ทำเครื่องจักสาน ก่อสร้าง ไม้ค้ำยัน เครื่องดนตรี เยื่อกระดาษ ไม้อัด และอื่น ๆ ที่นิยมมากในปัจจุบันคือการผลิตถ่านจากไผ่ในรูป Bamboo Activated Charcoal โดยถ่านชนิดนี้สามารถดูดซับกลิ่น สี ก๊าซ ฝุ่นละออง สารอินทรีย์และสารอนินทรีย์บางชนิด สารปนเปื้อนในน้ำและอากาศ สารนิโคตินในบุหรี่ สารเรดิโอแอคทีฟบางตัวเช่น xenon และ krypton ซึ่งปนเปื้อนในระบบระบายอากาศโรงงานที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นต้น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนผลิตถ่านไม้ไผ่ส่งขายในประเทศต่างๆ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประมาณ 70,000 ตันต่อปี ประเทศญี่ปุ่นประมาณ 50,000 ตันต่อปี (Anonymous, 2000) จะเห็นได้ว่าการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากถ่านไม้ไผ่เป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถนำไปสู่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ ในอนาคตนอกจากนี้การผลิตถ่านไม้ไผ่ ยังมีผลพลอยได้จากการเผาถ่านไม้ไผ่ ได้แก่ น้ำส้มควันไม้ ซึ่งมีประโยชน์ในการใช้ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช การนำไปใช้ประโยชน์เป็นยารักษาโรค การใช้ประโยชน์ในด้านเครื่องสำอางบำรุงผิว เป็นต้น ส่วนประโยชน์ในทางอ้อมของการปลูกไผ่ เช่น การปลูกไผ่ไว้ริมตลิ่งป้องกันตลิ่งพังเนื่องจากการกัดเซาะพังทลาย หรือการปลูกไผ่ไว้ตามหัวไร่ปลายนาหรือรอบๆ ที่อยู่อาศัยเพื่อใช้เป็นแนวชะลอความเร็วของลม (wind-break) ป้องกันพืชผลที่ปลูกไม่ให้ถูกทำลายโดยแรงลม และที่สำคัญที่สุดคือประโยชน์จากการช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มปริมาณก๊าซออกซิเจนในบรรยากาศ จากกระบวนการสังเคราะห์แสง ซึ่งไผ่สามารถสังเคราะห์แสงได้จากทั้งส่วนที่เป็นใบซึ่งมีพื้นที่ผิวใบจำนวนมาก รวมไปถึงจากส่วนผิวของลำไผ่ซึ่งมีสีเขียวก็ช่วยในการสังเคราะห์แสงได้เช่นกัน การปลูกสวนไผ่นอกจากจะได้รับประโยชน์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ป่าไผ่ยังช่วยลดภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นปัญหาที่ทุกประเทศในโลกนี้ต้องช่วยกันไม่ให้เกิดภาวะวิกฤต


       ในปัจจุบันนี้วัตถุดิบที่เป็นไม้ไผ่ส่วนใหญ่ได้มาจากพื้นที่ป่าธรรมชาติแทบทั้งสิ้น มีน้อยมากที่มาจากการปลูกสร้างสวนป่าไผ่แล้วตัดฟันออกมาใช้ประโยชน์ ซึ่งการเก็บเกี่ยวผลผลิตของไผ่ออกจากป่าธรรมชาติที่กระทำกันอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะหน่อและลำไผ่นั้นไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการที่ต้องมีการใช้ทรัพยากร
ธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน (sustainable use) การเก็บเกี่ยวผลผลิตในลักษณะดังกล่าวจะส่ง
ผลให้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่เกินกำลังผลิตของป่า (over carrying capacity) ส่งผลให้ไผ่ในธรรมชาติไม่สามารถฟื้นตัวได้ทัน การส่งเสริมให้ราษฎรปลูกสวนป่าไผ่ (Bamboos Plantation) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบเองโดยไม่ต้องไปรบกวนธรรมชาตินั้นก็ยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่จะมาสนับสนุนว่าไผ่ชนิดไหนควรปลูกในพื้นที่บริเวณใดที่จะเหมาะสม และนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอะไร ต้นทุนในการผลิตเป็นอย่างไร ฯลฯ ซึ่งงานวิจัยลักษณะดังกล่าวควรจะเร่งกระทำโดยด่วนที่สุด
ปัญหาเรื่องไผ่ในประเทศไทยนั้นจริงๆแล้วสืบเนื่องมาตั้งแต่ที่เรายังไม่ทราบถึงข้อมูลพื้นฐานที่แน่ชัดเลยว่าในประเทศไทยนั้นมีไผ่จำนวนกี่สกุล (genera) กี่ชนิด (species) กันแน่ ซึ่งถ้าทราบข้อมูลดังกล่าวเราสามารถเลือกชนิดพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต การทำโครงการวิจัยในเรื่องสวนรวมพันธุ์ไผ่จะทำให้ได้ตัวอย่างชนิดพันธุ์ของไผ่ที่ถูกต้องแน่นอนตามหลักอนุกรมวิธาน และสามารถศึกษาวิจัยเพื่อ ให้ทราบถึงชนิดพันธุ์ที่เหมาะสมที่จะปลูกในพื้นที่เพื่อการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต่อไป รวมถึงการศึกษาการขยายพันธุ์ ระยะปลูกที่เหมาะสม อัตราการเจริญเติบโต กำลังผลิต รอบตัดฟัน ฯลฯ ปัญหาหลักอีกประการหนึ่งคือการส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้สู่เกษตรกร หรือผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาอาจมีการกระทำกันบ้างแต่ไม่จริงจัง และขาดความต่อเนื่อง ทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร การส่งเสริมการปลูกไผ่ให้กับเกษตรกรน่าจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน เป็นผลดีต่อสภาพแวดล้อมและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม สมควรที่รัฐบาลน่าจะสนับสนุนอย่างจริงจังต่อไป

ความสำคัญและประโยชน์ของไผ่
   ไผ่เป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับหญ้าทั่วๆไป คือวงศ์ Poaceae (Gramineae) โดยอยู่ในเผ่า (Tribe) Bambuseae แต่นักพฤกษศาสตร์บางท่านก็จัดให้ไผ่อยู่ในวงศ์ Bambusaceae ด้วยเหตุผลที่ว่า มีลักษณะบางอย่างแตกต่างออกไปจากหญ้าทั่วๆไป เช่น มีเนื้อไม้ มีก้านใบเด่นชัด ส่วนใหญ่แล้วส่วนต่างๆของดอกมีจำนวนเท่ากับสาม เป็นต้น (เต็ม และ ชุมศรี, 2512)

   ไผ่จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งเป็นพืชเอนกประสงค์ที่สามารถพบได้ในส่วนต่างๆ ของโลกบริเวณเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่พบในเขตหนาว ไผ่ที่พบในเขตต่างๆ ของโลกมีประมาณ 1,200 ชนิด (species) จากจำนวน 70 สกุล (genera) (Zhou, 2000) ซึ่งประเทศไทยอยู่ในเขต tropical จัดได้ว่าเป็นศูนย์กลางของความหลากหลายของไผ่ (center of diversity of bamboos) แห่งหนึ่งของโลก (Dransfield and Widjaja, 1995) ด้วยเหตุนี้น่าจะทำให้ประเทศไทยเราได้เปรียบประเทศอื่นในการที่จะนำไผ่มาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศได้

   ไผ่เป็นพืชที่นำมาใช้ประโยชน์อย่างมากมาย จำแนกได้ดังนี้ (สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม, 2529)

  1. ช่วยในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ป้องกันการพังทลายของหน้าดินตามริมฝั่งแม่น้ำ เป็นแนวกันลมพายุ ชะลอความเร็วกระแสน้ำอันเกิดจากน้ำท่วม ให้ความร่มรื่น ใช้ประดับสวน สถานที่พักผ่อนหย่อนใจต่างๆ
  2. ประโยชน์ของไม้ไผ่จากลักษณะทางฟิสิกส์ จากความแข็งแรง ความเหนียว การยืดหด ความ
    สามารถดัดโค้ง การคืนตัวสปริงตัวได้ดี ใช้แทนเชือกมัดสิ่งของ ใช้เสริมคอนกรีตเป็นส่วนต่างๆ ของอาคารบ้านเรือนแบบประหยัด
  3. ประโยชน์จากลักษณะทางเคมี เนื้อไม้บดทำเป็นเยื่อกระดาษ เส้นใยใช้ทำไหมเทียม สกัดสารเคมีทำยารักษาโรคหลายชนิด ใช้ในอุตสาหกรรมนานาชนิด
  4. ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมและอุตสาหกรรม ในอดีตการใช้ประโยชน์จากไผ่ยังขาดการแนะนำส่งเสริมโดยนักวิชาการสู่ชาวบ้านหรือเกษตรกรทำให้การใช้ประโยชน์จากไผ่นั้นไม่เกิดประโยชน์สูงสุดและทำให้ทรัพยากรไผ่ ซึ่งส่วนใหญ่นำออกมาจากป่านั้นเสื่อมโทรมลงทุกวัน เช่น การเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไผ่สดที่ได้ประมาณตันเศษๆต่อไร่ ในขณะที่เกณฑ์ทั่วไปควรจะได้ถึง 3 ตันต่อไร่ (อนันต์, 2532) การใช้ประโยชน์จากหน่อ จัดได้ว่าไผ่ตงเป็นไผ่ที่ได้รับความนิยมสูงสุด นอกจากนี้ยังมีไผ่รวก ไผ่บง ไผ่หวานเมืองเลย ไผ่หมาจู๋ ไผ่ลุ่ยจู๋ ฯลฯ ก็ได้รับความนิยมบริโภคหน่อเช่นกัน กรมป่าไม้ได้จัดแบ่งไผ่ตงไว้ 5 พันธุ์ คือ ไผ่ตงหม้อหรือตงใหญ่ ไผ่ตงดำหรือตงจีนหรือตงกลาง ไผ่ตงเขียว ไผ่ตงหมู และไผ่ตงลาย นอกจากนี้ไผ่ตงจากไต้หวันอีก 2 ชนิด คือไผ่หมาจู๋ (Dendocalamus latiflorus) และไผ่ลุ่ยจู๋(Bambusa oldhamii) นิยมบริโภคหน่อสดและนำมาแปรรูปเนื่องจากมีลักษณะเด่นคือ รสชาติหวานกรอบ เนื้อละเอียด สามารถต้มได้ทั้งเปลือก นำมาแปรรูปเป็นหน่อไม้แห้งได้ดีเพราะเวลาต้มจะไม่เปื่อยยุ่ยง่ายและไม่เหม็นหืนเหมือนหน่อไม้แห้งที่ทำจากไผ่ตงในบ้านเรา ข้อได้เปรียบอีกประการคือไผ่ตงไต้หวันไม่มีขนบริเวณข้อปล้องหรือกาบหุ้มหน่อ ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ชนิดของไผ่ที่รู้จักการนำมาใช้ประโยชน์อยู่หลักๆในประเทศไทยนั้นมีอยู่ประมาณ 10 ชนิดเท่านั้น ได้แก่ ไผ่ตง ไผ่รวก ไผ่นวล ไผ่สีสุก ไผ่ป่า ไผ่เลี้ยง ไผ่รวกดำ ไผ่ซาง ไผ่ข้าวหลาม และไผ่ไร่ (Pattanavibool, 2000) ในอนาคตหากเรายังคงบริโภคไผ่ในลักษณะนี้อาจทำให้ไผ่บางชนิดโดยเฉพาะชนิดที่นิยมใช้ประโยชน์กันมากอาจสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยได้ นอกจากนี้การตัดลำและหน่อโดยปราศจากการจัดการและการอนุรักษ์ที่ดีพอ ประกอบกับการแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติมีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งจากสภาพแวดล้อม เช่น ภัยธรรมชาติ สัตว์ป่า หรือการบุกรุกทำลายป่าโดยมนุษย์ รวมทั้งสภาพสรีระของไผ่ที่ออกดอกไม่แน่นอน ติดเมล็ดน้อย อัตราการงอกไม่แน่นอน เช่นไผ่ตง (ปรานอมและคณะ,2541) ทำให้ป่าไผ่ธรรมชาติเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว ไผ่บางชนิดอาจสูญพันธุ์ไปได้ถ้าไม่มีการรวบรวมพันธุ์ และจำแนกพันธุ์ที่ชัดเจน ถูกต้อง

   การขยายพันธุ์ไผ่สามารถทำได้ทั้งแบบการใช้เพศ ไม่ใช้เพศ รวมถึงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช การขยายพันธุ์แบบการใช้เพศ (sexual propagation) ได้แก่การเพาะเมล็ด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของไผ่ บางชนิดติดเมล็ดน้อย บางชนิดติดเมล็ดมาก และขึ้นอยู่กับอัตราการงอกของไผ่แต่ละชนิดด้วย การขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศ (vegetative propagation) เป็นวิธีหลักที่นิยมใช้กันทั่วไปได้แก่ วิธีการแยกกอ แต่ต้องระมัดระวังไม่ทำให้กอแม่เกิดบาดแผล การขยายพันธุ์วิธีนี้ได้ปริมาณต้นพันธุ์น้อยและไม่สะดวกในการขนส่งเพื่อนำไปปลูก นอกจากนี้ยังสามารถขยายพันธุ์ได้โดย การตัดชำลำ ตัดชำแขนง เป็นต้น มีผู้ศึกษาการขยายพันธุ์แบบตัดชำลำและแขนงของไผ่พันธุ์หมาจู๋ แต่ผลที่ได้ยังมีเปอร์เซ็นต์ต่ำมากประมาณ 1.33 – 10.7 % (กลุ่มเกษตรสัญจร,2531 และสมปอง,ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์)

   การจัดการปลูกสร้างสวนไผ่ที่ประสบความสำเร็จต้องเริ่มตั้งแต่ การเลือกพื้นที่ปลูก การคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ สภาพอากาศ การได้ต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพจากวิธีการขยายพันธุ์ที่ถูกต้อง การเตรียมหลุมปลูก ฤดูกาลปลูก วิธีการปลูกและระยะปลูกที่ถูกต้อง การปฏิบัติดูแลรักษา การตัดแต่งไว้ลำ จำนวนลำต่อกอตามอายุไผ่ การขุดหน่อที่ถูกวิธี การคลุมโคนเพื่อผลิตหน่อที่มีคุณภาพ เป็นต้น ทั้งนี้การศึกษาต้นทุนการผลิต ผลตอบแทนในแต่ละปีเป็นสิ่งจำเป็นในการศึกษาวิจัย เพื่อเป็นคำตอบให้แก่เกษตรกรและกลุ่มบุคคลเป้าหมายผู้ปลูกไผ่ในอนาคต

 
ไผ่ลุ่ยจู๋
 
ไผ่รวก
 
ไผ่มันหมู
 
ไผ่หมาจู๋

 

 
คณะผู้วิจัย:
นายจรัล เห็นพิทักษ์ และ นายเสรี นาราศรี
สถานีวิจัยกาญจนบุรี สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร 02-579-6959 มือถือ 081-812-2506