เครื่องใส่ปุ๋ยคอกในไร่อ้อย
                อ้อยและน้ำตาลของประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่พบว่า ผลผลิตอ้อยต่อไร่ของผลผลิตเฉลี่ยต่ำ ซึ่งสาเหตุเกิดมาจากสภาพพื้นที่เพราะปลูกอ้อยของประเทศไทยมีการใช้พื้นที่ปลูกมายาวนานอย่างต่อเนื่องและรวมถึงการเผาใบอ้อยในช่วงการเก็บเกี่ยว จากปัญหาที่กล่าวมามีผลทำให้อินทรียวัตถุลดปริมาณลงตลอด ดังนั้นการเพิ่มอินทรียวัตถุเป็นทางเลือกในการเพิ่มผลผลิตในการปรับโครงสร้างของดินซึ่งจะมีผลทำให้ประสิทธิภาพของปุ๋ยเคมีดียิ่งขึ้น ปัญหาในการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ในไร่อ้อยคือการขาดเครื่องมือในการใส่

                ศูนย์วิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน  ได้มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวไร่ในอนาคต จึงได้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ชนิดปุ๋ยคอกในไร่อ้อย โดยได้รับทุนอุดหนุนวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เครื่องสามารถใส่ปุ๋ยคอกโดยไม่ต้องนำไปปั้นเม็ดและปุ๋ยคอกที่ใส่สามารถมีความชื้นได้ 30% เป็นการประหยัดต้นทุนและสะดวกในการใส่ ทั้งนี้ ตัวเครื่องประกอบด้วย ตัวถังปุ๋ยและเกลียวลำเลียง โดยการส่งกำลังของ  PTO  ที่เชื่อมต่อกับเกียร์ทดกำลัง ขนาด  1 : 20  ใช้กับแทรคเตอร์ตั้งแต่ขนาด 22  แรงม้า  ถังสามารถบรรจุปุ๋ยคอกได้ 60-70 กิโลกรัม และกระจายปุ๋ยคอกได้อย่างสม่ำเสมอกว่าการใช้แรงงานคน ในพื้นที่ 1 ไร่ ใช้เวลาในการใส่ 1 ชั่วโมง ใช้กับระยะแถวอ้อย 1.50 เมตร สามารถปรับปริมาณปุ๋ยได้ 300-600 กิโลกรัมต่อไร่ โดยปุ๋ยคอกที่ใส่จะถูกกลบทันทีเพื่อป้องกันการชะล้าง

 
คณะผู้วิจัย:
นายอภิวิชญ์ ทรงกระสินธุ์ และคณะ