ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยวพันธุ์ใหม่ KSSC 604 และ ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวพันธุ์ใหม่ KBSC 605
A New Sweet Corn Single-Cross Hybrid, KSSC 604 and A New Baby Corn Single-Cross Hybrid, KBSC 605

        ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยวพันธุ์ใหม่ KSSC 604
A New Sweet Corn Single-Cross Hybrid, KSSC 604

          ข้าวโพดหวาน (Zea mays L. saccharata) จัดเป็นพืชผักเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพื่อใช้ในการบริโภคฝักสด และการแปรรูปเพื่อการส่งออก โดยบรรจุกระป๋องแบบบรรจุทั้งเมล็ด (whole kernel) และแบบครีม (cream-style corn) นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูปแบบบรรจุทั้งฝัก (corn on cob) ในถุงสุญญากาศ แบบแช่แข็งทั้งเมล็ด แช่แข็งทั้งฝัก และน้ำนมข้าวโพด ในปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยส่งออกข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องเป็นปริมาณ 125,308 ตัน มูลค่า 4,291.0 ล้านบาท และส่งออกข้าวโพดหวานแช่แข็งปริมาณ 4,730 ตัน มูลค่า 166.6 ล้านบาท ข้าวโพดหวานลูกผสมยีน shrunken-2 (sh2) มีส่วนแบ่งมากกว่า 50% ของตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานในประเทศสหรัฐอเมริกา ข้าวโพดหวานลูกผสมเหล่านี้เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค เพราะมีปริมาณน้ำตาลซูโครสมากกว่าข้าวโพดหวานลูกผสมยีน sugary (su) ยืดเวลาการสุกแก่ที่เหมาะต่อการรับประทาน และทนต่อการขนส่งทางเรือไปยังตลาดที่ห่างไกลได้ดีกว่า และส่งเสริมให้ใช้ในการแปรรูป (บรรจุกระป๋อง และแช่แข็ง) โดยโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่หวานธรรมชาติ ปัจจุบัน ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยวยีน sh2 มีส่วนแบ่งมากกว่า 80% ของตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานในประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานอย่างต่อเนื่อง (โชคชัย, 2546; โชคชัย และคณะ, 2537; 2540; 2550; ธวัช และคณะ, 2531; Lavapaurya et al., 1990) และได้เผยแพร่ข้าวโพดหวานพันธุ์ลูกผสมเดี่ยวยีน sh2 ได้แก่ พันธุ์ 27127 และพันธุ์ 11476 (ธวัช และคณะ, 2531, 2536; Lavapaurya et al., 1990), พันธุ์อินทรี 1 (โชคชัย และคณะ, 2538), พันธุ์อินทรี 2 (โชคชัย และคณะ, 2544), พันธุ์ KSSC 503 (โชคชัย และคณะ, 2546), พันธุ์ KSSC 978 (โชคชัย และคณะ, 2547) และพันธุ์ KSSC 563 (โชคชัย และคณะ, 2548) สู่เกษตรกรและโรงงานแปรรูปใน ปี พ.ศ. 2531, 2532, 2538, 2542, 2546, 2547 และ 2548 ตามลำดับ

       ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยวพันธุ์ KSSC 604 ยีน sh2 ได้จากการผสมระหว่างสายพันธุ์แท้ KSei 14004 กับสายพันธุ์แท้ Hi-Brix 4-S12-25-1-2 จากผลการทดสอบพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ในฤดูแล้ง ต้นฤดูฝน และปลายฤดูฝน ปี พ.ศ. 2549 พบว่า พันธุ์ KSSC 604 ให้ค่าเฉลี่ยของน้ำหนักฝักสดทั้งเปลือก (2,371 กก./ไร่) น้ำหนักฝักสดปอกเปลือก (1,589 กก./ไร่) น้ำหนักฝักสดปอกเปลือกที่ดี (1,368 กก./ไร่) จำนวนฝักดี 6,073 ฝัก/ไร่ และเปอร์เซ็นต์เมล็ดที่ตัด (43.0%) สูงกว่าพันธุ์อินทรี 2 (พันธุ์เปรียบเทียบ) 26.3, 39.6, 38.6, 5.5 และ 15.3% ตามลำดับ มีความหวาน (14.5% บริกซ์) ความนุ่ม และรสชาติ ดีกว่าเล็กน้อย แต่มีขนาดฝัก (ความยาวฝักถึงปลายติดเมล็ด 16.5 ซม. และความกว้างฝัก 4.5 ซม.) และขนาดเมล็ด (ความกว้างเมล็ด 9.9 มม. และความยาวเมล็ด 11.9 มม.) ใหญ่กว่าพันธุ์อินทรี 2 และมีลักษณะทางการเกษตรบางอย่างดีกว่า ได้แก่ ลักษณะต้น และความต้านทานโรคทางใบ (โรค ราสนิม) และมีเปลือกหุ้มเมล็ดบางกว่าเล็กน้อย (ด้าน abgermial 112 ไมครอน และด้าน germinal 122 ไมครอน) ฝักสีเหลือง ทรงกระบอก มี 14-16 แถว เมล็ดเรียงตัวสม่ำเสมอ ไหมมีสีอ่อน มีอายุวันสลัดละอองเกสร 50% 51 วัน อายุวันออกไหม 50% 52 วัน (เฉลี่ยในต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน) ความสูงต้น 173 ซม. และความสูงฝัก 91 ซม. สูงกว่าพันธุ์อินทรี 2 เล็กน้อย

       ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยวพันธุ์ KSSC 604 ให้น้ำหนักฝักสดปอกเปลือก น้ำหนักฝักดี และเปอร์เซ็นต์เมล็ดเฉือนสูงกว่าพันธุ์อินทรี 2 มีความนุ่มของเมล็ดมากกว่า แต่มีความหวานน้อยกว่า ให้คุณภาพในการรับประทานใกล้เคียงกับพันธุ์อินทรี 2 และมีลักษณะทางการเกษตรบางอย่างดีกว่าพันธุ์เปรียบเทียบ โดยเฉพาะลักษณะต้นและความต้านทานโรคทางใบ พันธุ์ KSSC 604 มีขนาดฝักใหญ่และยาวเป็นรูปทรงกระบอก เมล็ดใหญ่กว่าพันธุ์อินทรี 2 และไหมมีสีอ่อน และแนะนำพันธุ์ KSSC 604 สำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปในปี พ.ศ. 2550

ลักษณะต้นและฝักของพันธุ์ KSSC 604 (ภาพบน) และแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์และฝักที่ได้จากแปลงผลิต
เมล็ดพันธุ์ (ภาพล่าง)

ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวพันธุ์ใหม่ KBSC 605
A New Baby Corn Single-Cross Hybrid, KBSC 605

        ข้าวโพดฝักอ่อน (Zea mays L.) เป็นพืชผักอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจอันดับสองของประเทศไทย เพื่อใช้ในการบริโภคฝักสด และการแปรรูปแบบบรรจุกระป๋อง บรรจุขวดแก้ว โดยเริ่มส่งออกข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511-2514 ในปริมาณที่ไม่มากนัก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2515 ส่งออกได้ 378 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3.9 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2549 ส่งออกข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋อง 96,345 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,145.1 ล้านบาท ข้าวโพดฝักอ่อนสดแช่เย็น จำนวน 5,878 ตัน คิดเป็นมูลค่า 496.4 ล้านบาท และข้าวโพดฝักอ่อนแช่แข็ง จำนวน 730 ตัน คิดเป็นมูลค่า 30.1 ล้านบาท โดยเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดฝักอ่อนอันดับหนึ่งของโลกมาเป็นเวลากว่า 30 ปี นอกจากนี้ ผลพลอยได้จากต้นและเปลือกของข้าวโพดฝักอ่อนยังนำมาใช้เป็นอาหารหยาบในการเลี้ยงโคเนื้อและโคนม

       การผลิตข้าวโพดฝักอ่อนเป็นการค้าแบบเดิมใช้พันธุ์ที่เพศผู้ปกติ และต้องถอดช่อดอกตัวผู้ (ถอดยอด) เพื่อเร่งให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วขึ้น เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และป้องกันการผสมพันธุ์ ซึ่งทำให้ฝักอ่อนที่ได้มีเมล็ดอ่อนปะปน เป็นผลให้คุณภาพไม่เป็นที่ต้องการของโรงงาน การถอดช่อดอกตัวผู้ต้องใช้แรงงานและเวลามาก และทำให้สูญเสียใบบางส่วนเป็นผลให้ผลผลิตลดลง และไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่มีค่าแรงงานต่ำกว่า เช่น ประเทศซิมบับเว อินเดีย เวียดนาม และจีน ดังนั้น การใช้ลักษณะเพศผู้เป็นหมันเนื่องจากไซโตพลาสซึม (cytoplasmic male sterility, cms) จะช่วยลดปัญหาดังกล่าว ทำให้ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร (โชคชัย, 2543; โชคชัย และคณะ, 2537ข; Aekatasanawan, 2001) โดยเฉพาะข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่มีลักษณะเพศผู้เป็นหมันให้ผลผลิตสูง ช่วยเพิ่มกำไรสุทธิต่อไร่ของเกษตรกร มีความสม่ำเสมอของขนาดและสีฝักสูง ตรงความต้องการของโรงงาน และยังสามารถเก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน ทำให้สะดวกในการจัดการของเกษตรกรและโรงงาน นอกจากนี้ การใช้สายพันธุ์แม่ที่เพศผู้เป็นหมันเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวเป็นการค้า ช่วยลดต้นทุนการผลิตเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าแรงงานในการถอดยอดสายพันธุ์แม่ ดังนั้น การใช้พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่ไม่ต้องถอดยอด จะช่วยให้ประเทศไทยยังคงรักษาความเป็นผู้นำทางด้านพันธุ์ และการส่งออกข้าวโพดฝักอ่อนอันดับหนึ่งของโลกอีกต่อไป

        ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่ช่อดอกเพศผู้เป็นหมันพันธุ์ KBSC 605 พัฒนามาจากการผสมระหว่างสายพันธุ์แท้ข้าวโพดฝักอ่อน Ki 28 cms ที่เพศผู้เป็นหมันเนื่องมาจากไซโตพลาสซึมชนิด C กับสายพันธุ์แท้ PACB 421-S14-223 ผลการทดสอบพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ในต้นและปลายฤดูฝนปี พ.ศ. 2548 พบว่า พันธุ์ KBSC 605 ให้น้ำหนักฝักสดทั้งเปลือก 1,049 กก./ไร่ น้ำหนักฝักสดปอกเปลือก 188 กก./ไร่ น้ำหนักฝักสดมาตรฐาน 164 กก./ไร่ น้ำหนักฝักเสีย 24 กก./ไร่ จำนวนฝักดี 26,052 ฝัก/ไร่ (90.61%) และจำนวนฝักเสีย 2,701 ฝัก/ไร่ (9.39%) แตกต่างจากพันธุ์ G-5414 -10.72, 14.63, 22.39, –20.00, 9.80 และ -43.97% ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังให้อัตราแลกเนื้อ 5.65 สูงกว่าพันธุ์ G-5414 ซึ่งให้อัตราแลกเนื้อ 7.19 พันธุ์ KBSC 605 มีอายุเก็บเกี่ยววันแรก 49.5 วัน จำนวนฝัก 1.77 ฝัก/ต้น ฝักอ่อนสีเหลือง ปลายแหลม ไข่ปลาเรียงตัวสม่ำเสมอ ความสูงต้น 190 ซม. ความสูงฝัก 104 ซม. ต้านทานการหักล้ม และโรคทางใบ มีลักษณะต้นที่ดี และให้น้ำหนักต้นสด 6,496 กก./ไร่

       พันธุ์ KBSC 605 เป็นผลจากการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ได้พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนที่เพศผู้เป็นหมันพันธุ์เกษตรศาสตร์ 1 ที่สามารถปรับตัวได้ดีในแหล่งปลูกข้าวโพดต่าง ๆ และต้านทานโรคราน้ำค้างและโรคทางใบอื่น ๆ ได้ดี เนื่องจากใช้พันธุ์สุวรรณ 2 เป็นพ่อในการถ่ายทอดยีนที่ดีที่ควบคุมลักษณะต่าง ๆ ดังกล่าว โดยใช้วิธีการผสมกลับถึง 8 และ 5 ครั้ง กับสายพันธุ์ที่มีช่อดอกเพศผู้เป็นหมันจากประเทศไนจีเรียและกัวเตมาลา ตามลำดับ แต่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์สุวรรณ 2 ที่ต้องถอดยอด (โชคชัย และคณะ, 2537ข; 2538; 2550) ต่อมาได้มีการประเมินสายพันธุ์แท้ข้าวโพดไร่ และสายพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อน เพื่อใช้ในการสร้างพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสม topcrosses ที่เพศผู้เป็นหมันและไม่ต้องถอดยอด (โชคชัย และคณะ, 2537ก; 2540; Aekatasanawan et al., 1992) โดยมีจุดมุ่งหมายสุดท้าย คือ การสร้างพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่เพศผู้เป็นหมันและไม่ต้องถอดยอด (โชคชัย และคณะ, 2550; Aekatasanawan, 2001) ซึ่งผลการวิจัยได้พันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 และ KBSC 303 ในปี พ.ศ. 2542 (โชคชัย และคณะ, 2544) และ 2547 (โชคชัย และคณะ, 2547) ตามลำดับ และเริ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ KBSC 605 เผยแพร่สู่โรงงานแปรรูปในปี พ.ศ. 2550

ลักษณะต้นและฝักของพันธุ์ KBSC 605 (ภาพบน) และแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์และฝักที่ได้จากแปลงผลิต
เมล็ดพันธุ์ (ภาพล่าง)

 

 

 
คณะผู้วิจัย:
โชคชัย เอกทัศนาวรรณ1 ชไมพร เอกทัศนาวรรณ2 นพพงศ์ จุลจอหอ1 และ ฉัตรพงศ์ บาลลา1
1 ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์
2 โครงการจัดตั้งวิทยาเขตลพบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กรุงเทพมหานคร
โทร. 0-4436-1770-4