ผลของอุทกภัยต่อระบบนิเวศเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี
Effect of flood on agro ecological system in Suphanburi province

          ประเทศไทยมักจะประสบกับปัญหาจากธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยธรรมชาติที่เกิดจากอุทกภัยและภัยจากฝนแล้ง ซึ่งที่ผ่านมาถือได้ว่าปัญหาดังกล่าวได้สร้างความเสียหายทั้งชีวิต และทรัพย์สินอย่างใหญ่หลวง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะผู้ประสบภัยธรรมชาติส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกร และเมื่อเกิดภัยธรรมชาติก็จะเกิดผลกระทบต่อการผลิตทางเกษตรตามมา ซึ่งในปัจจุบันเกษตรกรและประชาชนประสบปัญหาภัยน้ำท่วมหลายจังหวัด ทำให้เกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมาย

         1. ข้อมูลสภาพภูมิประเทศ
         จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ในเขตภาคกลาง สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ทางทิศตะวันออกของจังหวัดเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ของอำเภอเดิมบางนางบวช อำเภอสามชุก อำเภอดอนเจดีย์ อำเภอศรีประจันต์ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภอบางปลาม้า อำเภอสองพี่น้อง และบางส่วนของอำเภออู่ทอง ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัดมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงและพื้นที่ลอนสลับลอนชัน ทอดตัวขึ้นไปทางเหนือขนานกับ เส้นแบ่งเขตระหว่างจังหวัดสุพรรณบุรีกับจังหวัดกาญจนบุรี ลักษณะพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดสลับเชิงเขา ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอด่านช้าง มีสภาพเป็นลูกคลื่นลอนลาดสลับซับซ้อนจนถึงเป็นเทือกเขาสูงชัน เป็นแนวเขาที่ติดกับเทือกเขาตะนาวศรี มียอดเขาสูงสุดคือ เขาเทวดา มีความสูงประมาณ 1,220 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง รองลงมาเป็นเขาพุเตย สูงประมาณ 760 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ความลาดชันของพื้นที่โดยรวมประมาณ 5.25 เปอร์เซ็นต์ มีทิศด้านลาดไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

            2. ลักษณะดิน
           ลักษณะทรัพยากรดินของจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ ชุดดินกำแพงแสน (Kamphaeng Saen series) ชุดดินโคราช (Koroat series) ชุดดินจตุรัส (Chatturat series) ชุดดินจันทึก (Chan Tuk series) ชุดดินช่องแค (Chong Kae series) ชุดดินชัยนาท (Chai Nat series) ชุดดินชุมพลบุรี (Chumphon Buri series) ชุดดินเชียงราย (Chiang Rai series)ชุดดินดอนเจดีย์ (Don Chedi series) ชุดดินตาคลี (Takhli series) ชุดดินทับกวาง (Thap Khwang series) ชุดดินท่ายาง (Tha Yang series) ชุดดินนครพนม (Nakhon Phanom series) ชุดดินน้ำพอง (Nam Phong series) ชุดดินบางเลน (Bang Len series) ชุดดินบ้านจ้อง (Ban Chong series) ชุดดินบ้านหมี่ (Ban Mi series) ชุดดินปากท่อ (Pak Tho series) ชุดดินพาน (Phan series) ชุดดินพิมาย (Phimai series) ชุดดินเพ็ญ (Phen series) ชุดดินมโนรมย์ (Manorom series) ชุดดินมวกเหล็ก (Muak Lek series) ชุดดินมหาโพธิ์ (Maha phot series) ชุดดินเรณู (Renu series) ชุดดินลพบุรี (Lop Buri series) ชุดดินลาดหญ้า (Lat Ya series) ชุดดินวาริน (Warin series) ชุดดินสระบุรี (Saraburi series) ชุดดินสวี (Sawi series) ชุดดินสันป่าตอง (San Pa Tong series) ชุดดินหางดง (Hang Dong series) ชุดดินหินซ้อน (Hin Son series) ชุดดินอยุธยา (Ayuttaya series)

           3. ลักษณะภูมิอากาศ
          จังหวัดสุพรรณบุรีมี 3 ฤดูกาล คือ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม โดยได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พาดผ่านจากทะเลอันดามัน ฤดูหนาวตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ด้วยอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกออกเฉียงเหนือ และฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนกลางเดือนพฤษภาคม ด้วยอิทธิพลจากลมฝ่ายตะวันตก อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 37.6 องศาเซลเซียส เดือนที่มีอากาศร้อนที่สุด คือ เดือนเมษายน อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 21.7 องศาเซลเซียส เดือนที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดคือเดือนธันวาคม เดือนที่มีฝนตกชุกที่สุดคือเดือนตุลาคม ปริมาณน้ำฝน 1305.4 มม./ปี และฝนตกเฉลี่ย 104 วัน/ปีโดยทั่วไปได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีลักษณะคล้ายคลึงกันทั้งจังหวัดและจังหวัดอื่นๆ ในภาคกลาง

           4. สภาพการใช้ที่ดิน
            ลักษณะภูมิประเทศทางด้านทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานชุมชนและการเกษตรกรรม โดยพบพื้นที่นาดำมากที่สุด มีพื้นที่ประมาณ 1,862.59 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 34.93 รองลงมาเป็นพื้นที่ปลูกอ้อย มีพื้นที่ประมาณ 996.82 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 18.69 ส่วนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงปกคลุมไปด้วยป่าเบญจพรรณ นอกจากนี้ยังพบนาทิ้งร้าง และข้าวฟ่างกระจายทั่วทั้งพื้นที่

           5. ลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม
           จังหวัดสุพรรณบุรี มีประชากรทั้งหมดในปี 2549 จำนวน 844,024 คน แยกเป็นชาย 409,906 คน หญิง 434,118 คนความหนาแน่นของประชากร 147 คนต่อตารางกิโลเมตร มีจำนวนบ้าน 240,968 บ้าน ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนไทย นอกจากนี้ยังมีคนไทยเชื้อสายจีน ลาว (ลาวเวียง พวน โซ่ง คั่ง) กะเหรี่ยง ละว้า เขมร มอญ และญวน โดยกระจัดกระจายอยู่ในอำเภอต่างๆ ภาษาที่ใช้ส่วนเป็นภาษาไทยกลาง และมีลักษณะโดดเด่นของสำเนียงพูดที่เรียกว่า “พูดเหน่อ” ในหลายๆ ท้องที่ ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา คริสต์ และอิสลาม ตามลำดับ
          ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม พืชที่นิยมปลูกได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด เป็นต้น มีการเลี้ยงปศุสัตว์ และการทำประมงน้ำจืด นอกจากนี้ยังมีภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากภาคการเกษตร เช่น โรงสีข้าว โรงงานน้ำตาล โรงน้ำแข็ง โรงงานทำมันเส้น มันอัดเม็ด โรงงานสร้างและซ่อมอุปกรณ์ การเกษตร สำหรับอุตสาหกรรมในครัวเรือน มีเครื่องกระป๋อง อาทิ แห้วกระป๋อง กระจับกระป๋อง หน่อไม้ฝรั่ง ว่านหางจระเข้กระป๋อง เป็นต้น รายได้ของครัวเรือน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ครัวเรือนละ 7,428 บาท รายได้หลักที่สำคัญมาจากค่าแรง และเงินเดือน รองลงมาเป็นกำไรสุทธิจากการทำธุรกิจส่วนตัว ที่ไม่ใช่การเกษตร และกำไรสุทธิจากการทำการเกษตร ตามลำดับ

           6. ทรัพยากรธรรมชาติ
               ป่าไม้
              จังหวัดสุพรรณบุรีมีป่าสงวนอยู่ 7 แห่ง เป็นพื้นที่ประมาณ 825,000 ไร่ กระจายอยู่ทางตอนเหนือและทางตะวันตกของจังหวัด อยู่ในเขตอำเภอด่านช้าง อำเภอหนองหญ้าไซ อำเภออู่ทอง และอำเภอสองพี่น้อง ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้เบญจพรรณ
ป่าสงวนดังกล่าวมีพื้นที่ลดลงตามลำดับ อันเป็นผลมาจากการบุกรุกป่า เพื่อใช้เป็นที่ทำกินของราษฎร เขตป่าสงวนที่ยังคงสภาพความเป็นป่ามากที่สุดคือ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ ป่าเขาห้วยพลู ในเขตอำเภอด่านช้าง

             แหล่งน้ำธรรมชาติ
             แหล่งน้ำตามธรรมชาติที่สำคัญได้แก่แหล่งน้ำในอากาศ ได้แก่น้ำฝน จังหวัดสุพรรณบุรีมีช่วงฤดูฝนยาวประมาณ 6 เดือน แหล่งน้ำผิวดินมีแม่น้ำสายสำคัญคือแม่น้ำท่าจีนนอกจากนั้นยังมี ลำน้ำอื่นอีกมากมาย แหล่งน้ำใต้ดิน คือ น้ำบาดาล เป็นแหล่งน้ำที่สามารถขุดเจาะนำมาใช้ เพื่อการอุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรได้
            จังหวัดสุพรรณบุรี มีการพัฒนาแหล่งน้ำ ได้แก่ การสร้างเขื่อน เช่น เขื่อนกระเสียว ซึ่งเป็นเขื่อนดินสามารถเก็บน้ำได้สูงสุด 250 ล้านลูกบาศก์เมตร จ่ายให้พื้นที่เพาะปลูก 130,000 ไร่ อ่างเก็บน้ำ เช่น บึงฉวาก เป็นบึงธรรมชาติเก็บน้ำได้ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้สำหรับพื้นที่เกษตร รอบบึง 6,500 ไร่ และยังมีประตูระบายน้ำ คลองส่งน้ำตลอดจนการขุดลอกคูคลอง มีโครงการบำบัด น้ำเสียในเขตเทศบาลเป็นการคืนชีวิตให้แก่แม่น้ำท่าจีนซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก

            7. คุณภาพน้ำจากแหล่งน้ำ
            จากการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำชลประทาน และแหล่งน้ำที่ท่วมขัง พบว่า น้ำมีค่าความเป็นกรดด่างประมาณ 7.0 - 7.5 ซึ่งมีค่าเป็นกลาง สามารถนำไปใช้ในทางเกษตรได้ แต่ไม่ควรใช้ในการบริโภคเนื่องจากมีปริมาณไนเตรทสูง หากเด็กบริโภคเป็นประจำจะสะสมในร่างกายทำให้เกิดโทษได้ และขณะน้ำท่วมนั้น บริเวณที่มีน้ำขังจะมีค่า DO ตั้งแต่ 2.29 – 14.26 และ BOD ตั้งแต่ 0.01- 3.97 ซึ่งพื้นที่น้ำท่วมมีต้นพืชที่ตายเน่าเปื่อยจนทำให้เกิดเป็น น้ำเสีย ต้องมีการระบายน้ำเสียออกและนำน้ำจากแหล่งน้ำเข้ามาแทนที่

สภาพน้ำท่วมแปลงปลูกพืช
การเก็บตัวอย่างน้ำและวัดคุณภาพจากแหล่งน้ำ
สภาพน้ำท่วมขังแปลงนา
การสร้างคันดินเพื่อกันน้ำท่วม

                         8. พื้นที่เสียหายประสบอุทกภัย
                จังหวัดสุพรรณบุรีประสบเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากพายุหมุนเขตร้อน และมีการผันน้ำที่ไหลมาจากทางเหนือให้ผ่านบริเวณพื้นที่นาข้าวและบ่อเลี้ยงกุ้งและปลา เพื่อลดปริมาณน้ำท่วมและบรรเทาความเสียหายในเขตเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร และเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงทำให้ไม่สามารถระบายลงสู่ทะเลได้ ทำให้น้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานานกว่า 5 เดือน จนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก และมีพื้นที่น้ำท่วมครอบคลุม 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอบางปลาม้า อำเภอสามชุก อำเภอศรีประจันต์ อำเภอเดิมบางนางบวช และอำเภอด่านช้าง โดยมีรายงานน้ำท่วมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 จนค่อยๆลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ระดับน้ำสูงสุด 2.00 เมตรในเดือนพฤศจิกายน 2549
                สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในจังหวัดสุพรรณบุรีก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินหลายประเภท โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตร เช่น นาดำ นาร้าง หมู่บ้าน ข้าวฟ่าง และอ้อย เป็นต้น โดยมีพื้นที่เสียหายประมาณ 332.29 ตารางกิโลเมตร หรือ 602,339.57 ไร่

 
คณะผู้วิจัย:
นวลปรางค์ ไชยตะขบ พูลศิริ ชูชีพ และ รัตนา สุวรรณเลิศ
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร
โทร. 025795556, 025797906