ชาออสซีหรือทีทรีก็สามารถปลูกได้ดีในประเทศไทย
Aussie Tea or Tea Tree (Melaleuca alternifolia) can be Successfully Grown
in Thailand

          ทีทรี : Tea Tree (Melaleuca alternifolia) อยู่ในวงศ์ Myrtaceae เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศออสเตรเลีย พบมากในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งอยู่ระหว่างละติจูดที่ 27 – 32 องศาใต้ เป็นไม้พุ่มสูง 5 – 7 เมตร ใบมีขนาดเล็กแหลม ดอกเกิดเป็นกลุ่ม เกสรตัวผู้เห็นเด่นชัดเป็นช่อสีขาว ผลมีขนาดเล็กติดกระจายอยู่ตามกิ่งก้าน เมล็ดมีขนาดเล็กมาก

          ทีทรี เป็นพืชที่ใบมีน้ำมันหอมระเหยเป็นองค์ประกอบอยู่ในปริมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักซึ่งน้ำมันหอมระเหยดังกล่าวมีคุณสมบัติเด่นในเรื่องต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ เป็นสารปฏิชีวนะและสาร antiseptic ที่ดี น้ำมันทีทรีได้จากการนำกิ่งและใบมากลั่นด้วยไอน้ำ น้ำมันมีสีขาวใสหรือสีเหลืองอ่อนปนเขียว

          องค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันทีทรีมีสารสำคัญคือ Terpinen-4-ol และ 1,8-cineole ซึ่งสารสำคัญ ที่ออกฤทธิ์ในการรักษาโรค คือ Terpinen-4-ol มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์และไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง สาร1,8-cineole ไม่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์แต่อาจทำให้เกิดการระคายเคือง ต่อผิวหนังถ้ามีในปริมาณสูง ดังนั้นมาตรฐานของประเทศออสเตรเลียจึงกำหนดว่าน้ำมันทีทรีที่มีคุณภาพดี ควรมีปริมาณสาร Terpinen-4-ol 30 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป และมีปริมาณสาร 1,8-cineole ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ สรรพคุณในการรักษาโรค ได้แก่ แก้ไข้ ขับเสมหะ รักษาอาการอ่อนเพลีย รักษาแผลอักเสบ แผลเปื่อย แผลเป็นหนอง รักษาการติดเชื้อในช่องคลอด มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายในการต้านการติดเชื้อ รักษาแผลจากแมลงสัตว์กัดต่อย รักษาโรคน้ำกัดเท้า รักษาสิว รักษาหูด แก้รังแค ออกฤทธิ์ในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคและเชื้อจุลินทรีย์โดยทั่วไปได้หลายชนิด ทั้งเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อราและยีสต์ เนื่องจากน้ำมันทีทรีมีคุณสมบัติเป็นสารฆ่าเชื้อโรคที่ดี (antiseptic) ซึมซาบเข้าสู่ผิวหนังได้ดีและไม่ก่อให้ เกิดการระคายเคือง จึงมีการนำน้ำมันทีทรีมาใช้ในเครื่องสำอางอย่างแพร่หลาย เช่น สบู่ โฟมล้างหน้า ยาสระผม และยาสีฟัน นอกจากนั้นยังพบว่า น้ำมันทีทรีเมื่อนำมาผสมกับน้ำมันหอมระเหยชนิดอื่นสามารถใช้เป็นสารในสุวคนธบำบัด (aromatherapy) ได้เป็นอย่างดี

        จะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีการนำน้ำมันทีทรีมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายทั้งในด้านการแพทย์ อุตสาหกรรมการผลิตยา อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมการผลิตน้ำหอม และในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ ประเทศออสเตรเลียเป็นแหล่งผลิตน้ำมันทีทรีใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีการผลิตถึง 400 ตันต่อปีและมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 18 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี น้ำมันทีทรีส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป รวมทั้งประเทศไทยก็นำเข้าเช่นเดียวกันเพื่อใช้เป็นส่วน ประกอบของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จึงทำให้หลายประเทศเริ่มมีโครงการผลิตน้ำมันทีทรี เช่น จีน อินเดีย เวียตนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น

        จากคุณประโยชน์และศักยภาพด้านการตลาดของน้ำมันทีทรีดังกล่าวข้างต้น สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตรได้ร่วมมือกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ศึกษาการผลิตน้ำมันทีทรีในสภาพนิเวศเกษตรของประเทศไทย ซึ่งจะได้องค์ความรู้ในเรื่องสภาพนิเวศเกษตรของพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกทีทรีเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงที่สุด มีปริมาณน้ำมันรวมทั้งองค์ประกอบทางเคมีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ผลจากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นในประเทศไทยพบว่า พื้นที่สูงตั้งแต่ 900 – 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีศักยภาพที่สามารถปลูกทีทรีได้เป็นอย่างดี ซึ่งที่อายุ 15 เดือนหลังย้ายปลูกลงแปลง มีอัตรารอดตาย 79 เปอร์เซ็นต์ เจริญเติบโตเร็ว ลำต้นสูง 137 – 207 เซนติเมตร น้ำมันหอมระเหยที่ได้สีขาวใส กลิ่นหอมสดชื่น มีปริมาณ 1.78 – 2.84 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับวิธีการกลั่นและลักษณะของกิ่ง/ใบที่นำมากลั่น ว่าเป็นกิ่ง/ใบสดหรือกิ่ง/ใบแห้ง องค์ประกอบทางเคมีเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานของประเทศออสเตรเลีย พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ยอมรับได้ ยกเว้น Terpinen-4-ol มีเปอร์เซ็นต์ต่ำกว่ามาตรฐานเล็กน้อย (ตามรายละเอียดในตาราง) ทั้งนี้เนื่องจากต้นพันธุ์ที่ใช้ศึกษาเป็นต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ด จึงมีความแปรปรวนทางพันธุกรรมซึ่งลักษณะทางพันธุกรรมมีผลโดยตรงต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำมันที่ได้ ซึ่งคงจะต้องค้นหาสายพันธุ์จากต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดนี้เพื่อให้ได้สายพันธุ์ดีที่มีน้ำมันและองค์ประกอบทางเคมีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานต่อไป

       ทีทรี เป็นพืชต่างถิ่นชนิดหนึ่งที่อุตสาหกรรมภายในประเทศไทยมีความต้องการ เนื่องจากความนิยมพุ่งรับกระแสบริโภคผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ รวมทั้งธุรกิจสปาที่กำลังเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในประเทศไทยที่มีน้ำมันทีทรีเป็นส่วนประกอบ เช่น แชมพู ครีมนวดผม สบู่ ครีมบำรุงผิว โฟมล้างหน้า และผ้าอนามัย เป็นต้น ทีทรีเป็นพืชที่เริ่มนำเข้ามาปลูกทดสอบในบางพื้นที่ของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 แต่ยังไม่มีข้อมูลรายงานที่ชัดเจน ซึ่งปัจจุบันสถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตรได้ร่วมมือกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ศึกษาศักยภาพการผลิตทีทรีในประเทศไทย และพบว่า “ ทีทรีก็สามารถปลูกได้ดีในประเทศไทย ”

องค์ประกอบในน้ำมันหอมระเหยทีทรี ตามมาตรฐานของประเทศออสเตรเลียและที่ผลิตได้ในประเทศไทย


การเจริญเติบโตที่อายุ 15 เดือนหลังย้ายปลูกลงแปลง

   
ลักษณะดอก
ลักษณะการติดผล
 
 
คณะผู้วิจัย:
โอฬาร ตัณฑวิรุฬห์ , วีระศรี เมฆตรง
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร ศูนย์วิจัยระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, จตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทร. 0-2579-2291, 0-2579-6959
อุไรวรรณ ดิลกคุณานันท์ , อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
ฝ่ายเทคโนโลยีชีวมวลและพลังงานชีวภาพ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, จตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทร. 0-2942-8600-3
วรวิทย์ ยี่สวัสดิ์
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร สถานีวิจัยดอยปุย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, จตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทร.053-211-142
สุดประสงค์ สุวรรณเลิศ
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, จตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทร. 08-1376-7818
ประภาส ช่างเหล็ก
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, จตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทร. 08-1930-0306