คำนำ
โพแทสเซียม(K)
เป็นหนึ่งในธาตุอาหารหลัก (ไนโตรเจน;N ฟอสฟอรัส;P และโพแทสเซียม;
K) ที่พืชต้องการในปริมาณมาก และมักได้รับจากดินไม่เพียงพอจึงมีการให้เสริมในรูปปุ๋ย
แต่ถ้าให้ปุ๋ย K2O สูงเกินความต้องการของพืช พืชจะสะสมไว้มากแต่การเจริญเติบโตไม่เพิ่มขึ้น
( luxury consumption ) แล้วยังมีผลทางลบต่อการดูดใช้และบทบาทเชิงสรีระของ
Ca ( แคลเซียม ) และ Mg ( แมกนีเซียม ) ของพืชด้วย (1)
ไต
เป็นอวัยวะรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว ตั้งอยู่ทางด้านหลังของช่องท้องด้านซ้ายและขวา
ทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือด(2) และรักษาสมดุลของน้ำ เกลือแร่
และความเป็นกรดด่างของเลือด ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายจะไม่สามารถขับน้ำและของเสียออกจากร่างกายได้อย่างเป็นปกติ
จึงต้องระวังเรื่องอาหาร น้ำ และเกลือแร่ เช่น Na ( โซเดียม ) และ
K ที่บริโภค (3)
K
ในพืชส่วนใหญ่สะสมอยู่ใน vacuole ใน cytoplasm และใน chloroplast
ของเซลล์ ซึ่งอยู่ในรูปของเกลืออนินทรีย์ที่ละลายน้ำได้และไม่ได้เป็นองค์ประกอบของสารประกอบในพืช
มีบางส่วนอยู่ในรูปเกลืออินทรีย์บริเวณเนื้อเยื่อเจริญ (meristematic
tissues) ตรงปลายราก (1 และ 4) ดังนั้นถ้าบริโภคผักโดยตรงหรือแปรรูปเป็นน้ำผักก็อาจได้รับปริมาณ
K ที่พืชบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยนี้ด้วย
การที่ผักมีราคาสูงขึ้นเนื่องจากปัจจัยต่างๆ
เช่น ภาวะน้ำท่วม เทศกาลกินเจ (5) อาจเป็นเหตุให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยเพิ่มขึ้นเพื่อหวังเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่
การทดลองนี้จึงทำขึ้นเพื่อศึกษาผลของอัตราการใส่ปุ๋ย K2O
ในดินต่อความเข้มข้นของ K ในผลผลิตผักกาดเขียวกวางตุ้งและผักคะน้า
และนำมาประเมินปริมาณ K ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการบริโภคผักต่อวัน
อุปกรณ์และวิธีการ
วางแผนการทดลองแบบ
Completely Randomized Design กระทำ 4 ซ้ำ จำนวน 4 ตำรับการทดลอง
คือ การใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ ( สูตร 0-0-60 ) อัตรา 12, 24,
48 และ 72 กก.K2O/ไร่ ( เทียบเท่ากับปุ๋ย 0-0-60 อัตรา
20, 40, 80 และ 120 กก.ปุ๋ย/ไร่ตามลำดับ ) ใช้ดินปลูกผัก 10 กก./กระถาง
ปลูกผัก 2 ต้น/กระถาง วัดความสูงทุก 15 วัน เก็บเกี่ยวและชั่งน้ำหนักผลผลิตที่อายุ
45 วัน ใส่ปุ๋ย K2O อัตราที่กำหนดในแต่ละตำรับทดลองร่วมกับปุ๋ย
N และ P2O5 ( สูตร 20-11-0 ) อัตรา 40 กก./ไร่ โดยแบ่งใส่ 3 ครั้ง
ครั้งแรกใส่รองพื้นก่อนปลูก ครั้งที่ 2 และ 3 ใส่เมื่อผักมีอายุ
20 และ 30 วันตามลำดับ โดยครั้งที่ 3 ใส่ปุ๋ยยูเรียอัตรา 15 กก./ไร่เสริมด้วย
ผลการทดลอง
การวิเคราะห์ผลของตำรับปุ๋ย
K2O ต่อการเจริญเติบโตด้านความสูงและผลผลิตของผักกาดเขียวกวางตุ้งและผักคะน้าทางสถิติพบว่าไม่มีความแตกต่างกัน
กล่าวได้ว่าการใส่ปุ๋ย K2O ในดินเพิ่มขึ้นไม่ส่งผลให้ความสูงของผักที่อายุต่างๆ
แตกต่างกัน และไม่ส่งผลให้ผลผลิตผักแตกต่างกันด้วย แต่เห็นแนวโน้มว่าผักคะน้าให้ผลผลิตตอบสนองต่อการใส่ปุ๋ย
K2O ดีกว่าผักกาดเขียวกวางตุ้ง (ตารางที่ 1)
ผลของตำรับปุ๋ย
K2O ต่อความเข้มข้นของ K ในผลผลิตผักแสดงไว้ในภาพที่
1 เห็นได้ว่าความเข้มข้นของ K ในผักกาดเขียวกวางตุ้งและผักคะน้ามีค่าใกล้เคียงกัน
และตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราปุ๋ย K2O ในแนวทางเดียวกัน
เกณฑ์ปริมาณการรับประทานผักและผลไม้ต่อวันประเมินจากการทบทวนงานวิจัยพบว่า
ปริมาณที่เหมาะสมคือระหว่าง 400 - 600 ก./วัน (6) เมื่อนำค่าความเข้มข้นของ
K ในผลผลิตผักแต่ละตำรับทดลองและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน(Standard Deviation) 1
ไปคำนวณเป็นปริมาณการบริโภคผัก 400 - 600 ก./วัน จะได้ช่วงของปริมาณ
K ที่ผู้บริโภคได้รับดังแสดงในตารางที่ 2
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบปริมาณ
K ที่ได้จากการบริโภคผักกาดเขียวกวางตุ้งและผักคะน้าในตารางที่ 2
กับปริมาณ K ที่ผู้ป่วยโรคไตวายควรได้รับคือไม่เกิน 1,950 -3,120
มก./วัน(3) เห็นได้ว่าการใส่ปุ๋ย K2O อัตราสูงกว่า 12
กก.K2O/ไร่ (20 กก.ปุ๋ย/ไร่) อาจส่งผลให้ผู้ป่วยโรคไตวายได้รับปริมาณ
K จากการบริโภคผักกาดเขียวกวางตุ้งและผักคะน้ามากกว่าเกณฑ์
สรุปผลการทดลองและวิจารณ์
ผลการใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ ( สูตร 0-0-60 ) อัตรา 12, 24, 48
และ 72 กก.K2O/ไร่ ในผักกาดเขียวกวางตุ้งและผักคะน้าต่อปริมาณ
K ในการบริโภคพบว่า การใส่ปุ๋ย K2O อัตราสูงขึ้นไม่ทำให้ความสูงและผลผลิตผักแตกต่างกัน
แต่ให้ความเข้มข้นของธาตุ K ในผลผลิตผักเพิ่มมากขึ้น โดยตำรับทดลองที่
1 (12 กก.K2O/ไร่) มีค่าความเข้มข้นของ K ในผลผลิตผักน้อยที่สุดเท่ากับ
339 และ 379 มก./100ก.ในผักกาดเขียวกวางตุ้งและผักคะน้าตามลำดับ
และตำรับทดลองที่ 4 (72 กก.K2O/ไร่) มีค่าความเข้มข้นของ
K ในผลผลิตผักมากที่สุดเท่ากับ 696 และ 716 มก./100ก.ในผักกาดเขียวกวางตุ้งและผักคะน้าตามลำดับ
การใส่ปุ๋ย K2O อัตรา 12 กก.K2O/ไร่ ให้ปริมาณ
K จากการบริโภคผัก 400 - 600 ก./วัน เท่ากับ (1,357 2,036) ±300
มก./วันกรณีบริโภคผักกาดเขียวกวางตุ้ง และเท่ากับ (1,506 2,259)
±400 มก./วันกรณีบริโภคผักคะน้า การใส่ปุ๋ย K2O
ในอัตราสูงกว่านี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยโรคไตวายได้รับปริมาณ K จากการบริโภคผักกาดเขียวกวางตุ้งและผักคะน้ามากกว่า
เกณฑ์ที่ควรได้รับคือ
ไม่เกิน 1,950 -3,120 มก./วัน กล่าวได้ว่าถ้ามีการบริโภคผักในปริมาณที่เท่ากัน
ผู้บริโภคผักที่มีการใส่ปุ๋ย K2O สูงก็มีโอกาสได้รับ K สูงกว่าด้วย
การทดลองนี้ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 0-0-60 ซึ่งจัดเป็นปุ๋ยเดี่ยวเพราะให้ธาตุ
K เพียงธาตุเดียว แต่โดยปกติเกษตรกรนิยมใส่ปุ๋ยผสมซึ่งให้ธาตุปุ๋ย
2-3 ธาตุ เช่นสูตร 15-15-15 หรือ 20-11-11 การใส่ปุ๋ยเคมีสูตรดังกล่าวนี้เพื่อให้ได้ปุ๋ย
K2O มากกว่า 12 กก.K2O/ไร่ ต้องใส่ปุ๋ยสูตรดังกล่าวในอัตรามากกว่า
80 หรือ 109 กก./ไร่ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากและไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนด้วย
การจำแนกผักที่มีความเข้มข้นของ
K สูงไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้ชุดทดสอบหรือเครื่องมือในห้องปฏิบัติการ
ดังนั้นเกษตรกรผู้ปลูกผักจึงควรตระหนักถึงการใส่ปุ๋ย K2O ที่สูงจนเกิดสภาพการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยของพืช
ว่าไม่สามารถทำให้ผลผลิตสูงขึ้นและมีแนวโน้มลดลงด้วย แต่อาจส่งผลให้ผู้
บริโภคโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตวายให้ได้รับปริมาณ K มากกว่าที่ควรจากการบริโภคผักในปริมาณที่เท่ากันแต่มีความเข้มข้นของ
K น้อยกว่า
|